xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพีบีเอส จับมือ 9 ภาคีเครือข่ายคนพิการ จัด HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 5 ก.ย. 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยพีบีเอส จับมือ 9 ภาคีเครือข่ายคนพิการ จัด HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 5 ก.ย. 66 HACK เริ่ม ! 28 - 30 ก.ย. 66 หวังสร้างความเข้าใจ เพิ่มโอกาส สร้างงาน ช่วยให้คนพิการมีงานทำ

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จัดการแถลงข่าวโครงการ HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ประเทศไทย สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 -30 กันยายน 2566 ที่ไทยพีบีเอส พร้อมเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมระดมความคิด ผลิตไอเดีย สร้างโอกาสอาชีพใหม่ ๆ สำหรับคนพิการไทย ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 กันยายน 2566 และประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วม 8 กันยายน 2566

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า ในปี 2565 มีคนพิการในประเทศไทยที่ออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,107,005 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565) มีคนพิการอยู่ในวัยทำงาน 855,816 คน ประกอบอาชีพ 310,586 คน หรือ ร้อยละ36.29 โดยคนพิการประกอบอาชีพได้ แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพ 102,889 คน หรือ ร้อยละ 12.02 ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้าง ประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยมีจำนวนน้อยที่สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานได้


รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า การจ้างงานคนพิการถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง ซึ่งไทยพีบีเอสให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โครงการ HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน มีเป้าหมายต้องการกระตุ้นกลไกการจ้างงานให้คนพิการมีงานทำอย่างยั่งยืนภายใต้ 4 โจทย์สำคัญ คือ 1. เพิ่มอัตราการจ้างงานมาตรา 33 ในภาคเอกชน 2. เพิ่มอัตราการจ้างงานมาตรา 35 ในภาครัฐ 3. นวัตกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานสำหรับคนพิการ 4. การพัฒนาโอกาสทางเลือกในการประกอบอาชีพอิสระ
“ไทยพีบีเอส เป็นสื่อสาธารณะที่พร้อมเป็นสื่อกลาง สื่อสารสร้างความเข้าใจ ปรับมุมมอง เชื่อมโยงระหว่างสถานประกอบการ กับคนพิการที่มีศักยภาพ เติมเต็มก่อเกิดนวัตกรรมและวิธีการใหม่ ๆ ที่จะสร้างโอกาสให้เกิดการจ้างงานคนพิการ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า และเท่าเทียม ดังนั้น หวังอย่างยิ่งว่าโครงการ HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน จะจุดประกายเพื่อให้คนพิการมีงานทำต่อไป” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
สำหรับโครงการ HACKATHON เพื่อคนพิการ : HACK HUG HUG เติมใจให้งาน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมระดมความคิด หาวิธีการใหม่ ๆ ครอบคลุมความพิการทั้ง 7 ประเภท ได้แก่ 1. ความพิการทางการเห็น 2. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 3. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 4. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม 5.ความพิการทางสติปัญญา 6.ความพิการทางการเรียนรู้ 7. ออทิสติก ให้มีโอกาสในการมีงานทำ ได้รับการจ้างงานตามความสามารถอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดการตระหนักรู้และเข้าใจปัญหาและยอมรับคนพิการประเภทต่าง ๆ ในการทำงาน และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นอย่างดี


ส่วนบรรยากาศในการแถลงข่าว ได้เปิดให้คนพิการซึ่งได้รับการจ้างงานในองค์กร ภาครัฐและเอกชน แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจ ได้แก่ ดร.จักรรี์ดา อัตตรัถยา นักวิทยาศาสตร์ลำเลียงแสง ผู้พิการคนแรกและคนเดียวของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พิการทางการได้ยิน, วันทนา ยืนยงวิวัฒน์ นักวิจัยและพัฒนาอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พิการทางการเคลื่อนไหว, ญาณิศา อัตตรัถยา ปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายบุคคลโรงแรมบัญดารา พิการทางการได้ยิน, ฐิติกร พริ้งเพลิด ปัจจุบันทำงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลโรงแรมแห่งหนึ่ง พิการทางจิตสังคม, รินชาติ โอวาทวรรณสกุล กำลังศึกษาอยู่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และเป็นทีมนักเต้นดาวน์ซินโดรม DBK (DownSyndrome Bangkok) พิการทางสติปัญญา, อัษฎากร ขันตี ทำงานด้านไอทีที่มูลนิธิออทิสติกไทย กลุ่มความพิการทางออทิสติก, กัณฑ์อเนก ศรีบางพลีน้อย ทำงานด้านธุรการ ที่มูลนิธิออทิสติกไทย กลุ่ม LD บกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งผู้ร่วมงานทั้งหมดได้ทำกิจกรรมการทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน และร่วมฟังบทเพลง “เติมใจให้กัน” เพลงประจำแคมเปญนี้ ที่เป็นการร่วมงานกันระหว่างคนพิการและคนทั่วไปในเวอร์ชันใหม่

ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าร่วมระดมความคิด ผลิตไอเดีย สร้างโอกาสอาชีพใหม่ ๆ สำหรับคนพิการไทย สามารถสมัครได้ที่ https://forms.gle/q7zG6sJrSrFVQS8x5 ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 กันยายน 2566 และประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วม 8 กันยายน 2566 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 080-0183-830










กำลังโหลดความคิดเห็น