xs
xsm
sm
md
lg

จุดเริ่มต้นที่ประทับใจ !!! ‘กานต์-ชนนิกานต์’ นางสาวไทยปี 2566 นักกิจกรรมเพื่อสังคม... เปิดใจผ่านเพจดัง .. ยกนิ้วให้กับช่องทางล่ามภาษามือ ส่วนหนึ่งของแคมเปญ #ใครๆก็Viuได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประกวดนางสาวไทย ประจำปี 2566 จบกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสาวงามตัวแทนจากหัวเมืองเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ “กานต์-ชนนิกานต์ สุพิทยาพร” คว้าตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ไปครอง ถือเป็นคนที่ 54 ของเวทีการประกวดอันเก่าแก่ของประเทศไทย ไม่เพียงสวยสง่า ทรงพลัง และเฉลียวฉลาด ตรงกับคอนเซปต์ “The Ultimate Precious ที่สุดแห่งความล้ำค่า” ครบถ้วนตามบริบทของเวทีเท่านั้น เธอยังมีความสามารถนำ Local มาสู่ความเลอค่าคว้ารางวัลสำคัญ ๆ โดยเธอคือนางสาวไทยคนแรกที่ได้ส่งภาษามือถึงผู้บกพร่องทางการได้ยินให้ได้รับรู้จนเป็นที่ติดตาประทับใจ ล่าสุด กานต์ ชนนิกานต์ ได้ออกมาเปิดใจผ่านเพจดังเมื่อได้เห็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #ใครๆก็Viuได้ ที่ตอนนี้ได้เริ่มมีช่องล่ามภาษามือเพื่อผู้บกพร่องทางการได้ยินผ่านในซีรีส์แม้เพียงไม่กี่เรื่อง แต่นี่คือ จุดเริ่มต้นที่สุดประทับใจ

“เราชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก ตอนอนุบาลก็ขึ้นไปแสดงบนเวที ตอน ม.ปลาย ก็เป็นผู้ช่วยวิทยากรให้ความรู้กับน้องๆ หลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ ผู้บกพร่องทางการได้ยิน เรารู้สึกดีที่ได้ทำกิจกรรมนะ แต่เห็นเลยว่าการสื่อสารมีข้อจำกัด พอเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 (คณะเภสัชศาสตร์ ม.เชียงใหม่) เราเลยไปลงเรียนภาษามือเป็นวิชาเลือก หลังจากเรียนในห้องแล้ว เราต้องไปฝึกปฏิบัติที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร สิ่งที่เราเห็นจากน้องๆ คือ แม้ร่างกายจะมีข้อจำกัด แต่หลายคนมีศักยภาพมาก แค่ยังขาดพื้นที่ให้ได้แสดงออก เราเลยตั้งใจว่าวันข้างหน้าจะมาทำโครงการเพื่อสนับสนุนพวกเขา

“วันหนึ่งมีคนเห็นว่าบุคลิกภาพของเราพอได้ เราเลยได้เข้าสู่การประกวดนางงาม เวทีแรกได้รองอันดับหนึ่งนางสาวสันกำแพงปี 2561 ต่อมาได้ชนะเลิศรางวัลธิดาร่มบ่อสร้างปี 2562 หลังจากนั้นไปอีกหลายเวทีในหลายจังหวัดเลย เพราะบางเวทีไม่ได้จำกัดเฉพาะคนพื้นที่ นอกจากได้เงินรางวัลมาจุนเจือครอบครัว เรายังได้เรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละที่ ได้พัฒนาบุคลิกภาพ และได้ประสบการณ์ จนเมื่อปี 2566 พี่เลี้ยงอยากให้เราประกวดนางสาวไทย เรากลับมาดูว่าตัวเองเคยทำอะไรมาบ้าง เลยนึกถึงน้องๆ ที่บกพร่องทางการได้ยิน ถ้าตำแหน่งจะทำให้เสียงของเราดังขึ้น ก็อยากช่วยส่งเสริมศักยภาพของพวกเขา

“เราเคยกลับไปหาน้องๆ โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทรอีกครั้ง ทำกิจกรรมร่วมกันในโครงการชื่อว่า I’m Possible เชียงใหม่กำลังมีปัญหาหมอกควัน เราไปแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ และได้เพ้นท์เสื้อร่วมกัน อยู่ๆ มีน้องคนหนึ่งมาบอกว่า ‘ฝากผลงานของพวกหนูไประดับประเทศและระดับโลกเลยได้ไหม' ทำให้เรารู้สึกว่าการประกวดนางสาวไทยคือพาน้องๆ มาด้วย พวกเขาอยากให้คนเห็นความสามารถ เราใส่กระโปรงจากฝีมือเพ้นท์ของน้องๆ ในช่วงเก็บตัว ทุกครั้งที่มีโอกาส เราจะพูดถึงผู้บกพร่องทางการได้ยิน แต่น้องๆ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราประกวดนางสาวไทยด้วย แม้ว่าเขาจะมีข้อจำกัด แต่ก็ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

“ตอนพิธีกรประกาศว่าเราได้ตำแหน่งนางสาวไทย 2566 เราภูมิใจมากที่ตัวเองทำได้ หลังจากมองหาแม่และทีมแล้ว เรามองหากล้องต่อแล้วทำภาษามือสื่อสารไปยังน้องๆ ที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทรว่า ‘พี่ทำได้แล้วนะ น้องๆ ทุกคนก็ทำได้เหมือนกัน’ เวลาเราช่วยเหลือคนอื่น บางครั้งทำไปโดยไม่ได้ถาม แต่น้องเป็นคนมาขอให้เอาผลงานไปโชว์ เราได้ทำสิ่งนั้น เลยรู้สึกว่าตัวเองทำประโยชน์ให้พวกเขาจริงๆ (น้ำตาไหล) หลังจากวันนั้นยังมีน้องๆ ส่งคลิปภาษามือมาให้เราด้วยว่า ‘ภูมิใจมากที่พี่ได้มงกุฎแล้ว’ บางคนลงคลิปใน Tiktok แล้วแท็กเรา มันเต็มอิ่มนะคะ ความตั้งใจของเราไปไกลกว่าแค่ในเชียงใหม่แล้ว

“ครูเหมียว-ครูประจำโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร เคยบอกว่า ผู้บกพร่องทางการได้ยินชอบดูประกวดนางงาม เพราะสื่ออื่นไม่ค่อยมีซับให้อ่าน ขณะที่การถ่ายทอดนางงามยังขึ้นตัวอักษรบ้าง ปัจจุบันเริ่มมีรายการที่ทำซับมากขึ้น แต่ถ้าเทียบกันแล้ว การอ่านซับช่วยให้เข้าใจได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เท่ากับภาษามือ เพราะมีหลายองค์ประกอบมาช่วยในการสื่อสาร เช่น ท่าทาง สีหน้า เท่าที่เราเคยได้ยิน ผู้บกพร่องทางการได้ยินดูข่าวกันเป็นประจำ อาจไม่ใช่เพราะชอบดูข่าว แต่บ้านเรามีแค่ข่าวเท่านั้นที่มีช่องล่ามภาษามือ พอเรารู้ว่า Viu เริ่มมีช่องล่ามภาษามือในซีรีส์ เชื่อว่าต้องมีคนที่มีข้อจำกัดสนใจเป็นจำนวนมากแน่นอน

“แม้ว่าปัจจุบันซีรีส์ใน Viu ยังมีช่องล่ามภาษามือแค่ไม่กี่เรื่อง (ปัจจุบันมีในซีรีส์เรื่อง Finding The Rainbow สุดท้ายที่ปลายรุ้ง และ My Bubble Tea หวานน้อยรัก 100%) แต่ถ้าต่อไปมีมากขึ้น คงทำให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินมีความสุขในการรับสื่อมากขึ้น คนเราไม่ได้อยากรู้แต่เรื่องที่มีสาระนะคะ (ยิ้ม) ทุกคนมีมุมไร้สาระลั้นลาอยู่ด้วย ถ้าในสื่อบันเทิงมีช่องล่ามภาษามือมากขึ้นเรื่อยๆ มันคือจุดเริ่มต้นของการมองเห็นคนส่วนน้อยในสังคม พวกเขาคงรู้สึกดีและรู้สึกว่าตัวเองได้รับเกียรติมากๆ ถ้าสื่อบันเทิงเจ้าไหนทำ เชื่อว่าคุณจะคว้าหัวใจพวกเขาไปได้เลย”

.
กานต์-ชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทยประจำปี 2566

.
#มนุษย์กรุงเทพฯxViu
#Viuอ่านว่าวิว #ใครๆก็Viuได้

สำหรับคนส่วนใหญ่ ‘ภาษามือ’ คงเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ได้จำเป็นกับชีวิต แต่กับผู้พิการทางการได้ยินหลายแสนคนในประเทศไทย ภาษามือคือวิธีการรับข้อมูลข่าวสารที่สำคัญอย่างยิ่ง แม้ว่า กสทช. กำหนดให้ช่องทีวีดิจิตอลต้องมีช่องล่ามภาษามืออย่างน้อยวันละ 60 นาที แต่ทั้งหมดก็จำกัดอยู่ในรายการข่าว แทบไม่มีภาษามือในรายการแบบอื่นเลย ทั้งที่ชีวิตคนเราต้องการทั้งสาระและบันเทิง

ในตอนนี้จากแคมเปญ #ใครๆก็Viuได้ ทำให้เห็นว่าอยากให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงความบันเทิงได้อย่างมากยิ่งขึ้น





กำลังโหลดความคิดเห็น