กรมอนามัยเผยคนพิการถูกละเลย "ป้องกันโรค" ทั้งที่เจ็บป่วยได้เหมือนคนทั่วไป MOU ร่วมกรมควบคุมโรค กรมสุขภาพติค และ พก. พัฒนาหลักสูตรพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประเดิมกลุ่มทางการเคลทื่อนไหวก่อน เน้นรู้ 3อ 2ส 1ฟ 1น ก่อนขยายผล หวังลดเสี่ยงเจ็บป่วย ลดค่ารักษาและการเดินทาง
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า ผู้พิการในไทยที่ลงทะเบียนมีบัตรประจำตัวพิการมี 2,108,536 คน คิดเป็นร้อยละ 3.19 ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาการดูแลด้านสุขภาพคนพิการมักจะมุ่งเน้นเรื่องการรักษาและบำบัดฟื้นฟู แต่เรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันความเสี่ยงโรคต่างๆ ยังมีน้อยมากหรือไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้งที่เป็นการสร้างความรอบรู้การป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทั้งความดัน หลอดเลือดสมอง เบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจ ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและค่าเดินทาง เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น กรมอนามัยจึงร่วมกับเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ทั้งนี้ ระยะแรกจะเน้นกลุ่มคนพิการทางการเคลื่อนไหวในกลุ่มวัยทำงาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นกลุ่มที่สื่อสารได้เข้าใจง่าย ทั้งยังเป็นกลุ่มที่สามารถขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้ โดยแนวทางการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วยหลัก 3อ 2ส 1ฟ 1น ประกอบด้วย ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ สุรา ยาสูบ ทันตสุขภาพ และนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ขณะนี้หลักสูตรได้พัฒนาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างทดลอง ระยะที่สอง ก่อนที่จะลงพื้นที่ดำเนินการโครงการอย่างเต็มรูปแบบในปีงบประมาณ 2567 โดยเริ่มจากการจัดอบรมครู ก เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
"นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือสนับสนุนงานด้านวิชาการ การส่งเสริมสุขภาพคนพิการแบบองค์รวม ได้แก่ มิติร่างกาย คือ ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคหรือความเจ็บป่วย รับอาหารและโภชนาการ สมรรถนะทางกาย สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยเหมาะสม 2. มิติจิตใจ คือ อารมณ์แจ่มใส ไม่มีความกังวล มีความสุข ได้รับการดูแลไม่ให้เกิดภาวะวิกฤตทางอารมณ์ 3.มิติสังคม คือ ครอบครัว สังคมและชุมชน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน 4.มิติจิตวิญญาณคือ มีความหวังในชีวิต มีความรัก ความอบอุ่น เชื่อมั่นศรัทธา ปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามด้วยความเมตตา กรุณา ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ และ 5.มิติทางปัญญา เป็นผู้มีการศึกษา รอบรู้ เฉลียวฉลาด รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จในชีวิต" นพ.อรรถพลกล่าว
ด้านนายวันเสาร์ ไชยกุล เลขาธิการเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ กล่าวว่า คนพิการก็มีโรคเหมือนคนทั่วไป แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ มักจะโฟกัสแต่ความพิการ ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการให้ความสำคัญในการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพเป็นอีกสำคัญที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น