เกียวโดนิวส์รายงาน (26 พ.ค.) 1 ใน 3 โจทก์ชาวเกาหลีซึ่งชนะคดีเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามระหว่างการปกครองอาณานิคมของญี่ปุ่น ตกลงที่จะรับเงินชดเชยจากมูลนิธิกองทุนชดเชย กระทรวงการต่างประเทศระบุเมื่อวันพฤหัสบดี
รายงานข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้รอดชีวิตร้องขอคำขอโทษและค่าชดเชยจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครยอมรับการจ่ายเงินจากมูลนิธิ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยการบริจาคจากบริษัทของเกาหลีใต้
เมื่อเดือนมีนาคม รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศตั้งมูลนิธิกองทุนชดเชยเพื่อยุติข้อพิพาทแรงงานในช่วงสงคราม และปรับปรุงความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น แต่มูลนิธิแห่งนี้ได้รับการต่อต้านจากประชาชนชาวเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นมูลนิธิที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากรัฐบาลเกาหลีใต้
บริษัทญี่ปุ่น 2 แห่ง ได้แก่ มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries Ltd.) และนิปปอน สตีล คอร์ป (Nippon Steel Corp.) ได้รับคำสั่งศาลฎีกาของเกาหลีใต้ในปี 2561 ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่อดีตแรงงานเกาหลีและญาติของพวกเขาจากการบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ด้านญี่ปุ่นยืนยันว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดจากการล่าอาณานิคมของคาบสมุทรเกาหลีในปี พ.ศ.2453-2488 ได้รับการตัดสิน "อย่างสมบูรณ์และเป็นที่สิ้นสุด" ภายใต้ข้อตกลงทวิภาคีในปี พ.ศ.2508
แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องดังกล่าวเผยว่า แรงงานสงครามผู้รอดชีวิตจะได้รับค่าชดเชยในวันศุกร์ กระทรวงระบุ บุคคลดังกล่าวตัดสินใจยอมรับการชำระเงินหลังจากปรึกษากับสมาชิกในครอบครัว
นอกจากผู้รอดชีวิต 1 รายแล้ว สมาชิกในครอบครัวของแรงงานในช่วงสงคราม 10 รายจาก 15 รายที่ชนะคดีได้ตกลงรับเงินชดเชยจากมูลนิธิ
กระทรวงกำลังพยายามเจรจาให้ผู้ที่ปฏิเสธเงินชดเชยจากมูลนิธิอีก 2 ราย ยยอมรับเช่นเดียวกัน
ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศถึงจุดต่ำสุดจุดหนึ่งหลังจากคำตัดสินของศาลสูงสุดในปี 2561 แต่กรุงโซลและโตเกียวได้ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่องภายใต้การบริหารของประธานาธิบดียุน ซุก ยอลของเกาหลีใต้ และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น รวมถึงการกลับมาเยือนซึ่งกันและกันในระดับผู้นำอีกครั้ง
เมื่อเดือนพฤษภาคม คิชิดะซึ่งไปเยือนกรุงโซล กล่าวถึงปัญหาแรงงานช่วงสงครามในการแถลงข่าวร่วมกับยุน โดยกล่าวว่าหัวใจของเขา "เจ็บปวด" เนื่องจากหลายคนยังไม่ลืมความทรงจำในอดีต