เกียวโดนิวส์รายงาน (22 มี.ค.) ญี่ปุ่นและยูเครนแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้ถอนกองกำลังรัสเซียออกจากยูเครนโดยทันที ทั้งขอให้ดำเนินคดีกับทุกคนที่รับผิดชอบข้อหาอาชญากรสงคราม
เมื่อวันอังคาร นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้เดินทางเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และให้คำมั่นที่จะสนับสนุนและร่วมมือกับ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ท่ามกลางการรุกรานอย่างต่อเนื่องโดยรัสเซีย
หลังจากพบกับประธานาธิบดียูเครน คิชิดะกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกันว่า เขาเชิญประธานาธิบดียูเครนให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด G7 ที่ฮิโรชิมาทางออนไลน์ ในขณะที่สัญญาว่าจะจัดหาอุปกรณ์ที่ไม่ทำลายชีวิต มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ให้ยูเครน ผ่านกองทุนขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)
ไม่บ่อยที่ผู้นำญี่ปุ่นจะเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่บอกล่วงหน้า การมาเยือนของคิชิดะซึ่งถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่งก่อนมาถึง ถือเป็นการเดินทางเยือนยูเครนครั้งแรกของเขานับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น และตามมาหนึ่งวันหลังจากที่เขาได้พบกับนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียในกรุงนิวเดลี
คิชิดะเคยกล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเดินทางไปอินเดียในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ยังไม่มีแผนใดๆ ในการไปเยือนเคียฟ ก่อนหน้านี้ยังเคยเพียงแสดงความหวังที่จะเดินทางไปยูเครนภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม
ญี่ปุ่นดำรงตำแหน่งประธาน G7 ในปีนี้ คิชิดะ เป็นผู้นำ G7 คนเดียวที่ยังไม่ได้เยือนยูเครนหลังจากที่รัสเซียบุกในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขณที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เคยเดินทางไปเคียฟเมื่อเดือนที่แล้วก่อนวันครบรอบปีของการบุกรุก
การเยือนยูเครนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากรัฐบาลจีน คิชิดะเดินทางเยือนยูเครน ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งเริ่มเดินทางเยือนรัสเซียเป็นเวลา 3 วันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้พบกับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
ตามรายงานของสื่อ หลังจากพูดคุยกับโมดี ในวันจันทร์ คิชิดะเดินทางไปยูเครนผ่านโปแลนด์ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ประกาศการเดินทางเยือนเคียฟล่วงหน้าด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ภายหลังจึงได้ยืนยันกำหนดการเยือน
หลังจากมาถึงเคียฟ คิชิดะได้ไปเยือนเคารพ เมืองบูชา ที่พบพลเรือนจำนวนมากเสียชีวิตหลังจากการยึดครองของกองทหารรัสเซีย
คิชิดะบอกกับนักข่าวว่า ญี่ปุ่น "จะพยายามอย่างเต็มที่ต่อไปเพื่อสนับสนุนยูเครนฟื้นฟูสันติภาพ"
ญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ยูเครน พร้อมด้วยเวชภัณฑ์ด้านมนุษยธรรมและการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ป้องกัน เช่น เสื้อเกราะกันกระสุน
แต่โตเกียวไม่ได้ส่งมอบอาวุธให้ยูเครน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามสงบของญี่ปุ่นห้ามไม่ให้กองกำลังป้องกันตนเองจัดหาอาวุธทางทหารให้แก่กองกำลังต่างชาติ
คิชิดะแสดงความเต็มใจที่จะสนับสนุนการฟื้นฟูยูเครนที่แตกแยกจากความขัดแย้ง
ผู้นำทั้งสองยืนยันว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศตามหลักนิติธรรม พร้อมแบ่งปันมุมมองที่ต่อต้านความพยายามเพียงฝ่ายเดียวของรัสเซียในการเปลี่ยนแปลงสถานะอธิปไตยที่เป็นอยู่
ประเด็นเกี่ยวกับยูเครนถูกกำหนดให้เป็นวาระสำคัญในการประชุมสุดยอด G7 ที่เมืองฮิโรชิมา เนื่องจากจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับรัสเซีย ได้เรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขวิกฤต
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนวิจารณ์คิชิดะ โดยกล่าวในการแถลงข่าวว่า "ประชาคมระหว่างประเทศควรเร่งเจรจาสันติภาพและสร้างเงื่อนไขสำหรับการยุติความขัดแย้งทางการเมืองในยูเครน"
จีนหวังว่าญี่ปุ่นจะ “ทำมากกว่านี้เพื่อช่วยลดสถานการณ์ที่บานปลายแทนที่จะทำตรงกันข้าม” หวังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ราห์ม เอ็มมานูเอล กล่าวในโพสต์ทวิตเตอร์ว่า คิชิดะกำลัง "เดินทางเยือนยูเครนครั้งประวัติศาสตร์เพื่อปกป้องชาวยูเครนและส่งเสริมค่านิยมสากลที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ"
คิชิดะ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นในการสนับสนุนประเทศที่เสียหายจากสงครามผ่านการประชุมสุดยอด G7 เขามีกำหนดเป็นประธานในการประชุมสุดยอด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคมในฮิโรชิมา เมืองที่ถูกทำลายโดยระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2488