xs
xsm
sm
md
lg

เซอร์ไพรส์! ปูตินเยือนไครเมีย-มาริอูโปล ขณะตะวันตกลุ้น ‘สีจิ้นผิง’ ไปเยือนรัสเซีย กาวใจหยุดสงครามยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพถ่ายจากคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางทีวีรัสเซียวันอาทิตย์ (19 มี.ค.) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สนทนากับพวกชาวบ้านชาวเมืองเมื่อวันเสาร์ (18) ระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนเมืองมาริอูโปล ในแคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งรัสเซียประกาศผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตน
“ปูติน” เดินทางเยือนมาริอูโปล เมืองท่าสำคัญของยูเครนที่ได้รับความเสียหายหนักหน่วงจากสงคราม โดยไม่มีการเปิดเผยกำหนดการล่วงหน้าเมื่อวันเสาร์ (18 มี.ค.) หลังแวะรำลึกครบรอบ 9 ปีที่รัสเซียผนวกไครเมีย และก่อนที่ สี จิ้นผิง ประมุขแดนมังกรเดินทางเยือนมอสโกในวันจันทร์ (20) ท่ามกลางความคาดหวังของบางฝ่ายว่า สีอาจจะเป็นกาวใจปูทางสู่การเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน

รัสเซียยึดเมืองมาริอูโปล เมืองท่าใหญ่ริมทะเลอาซอฟในพื้นที่แคว้นโดเนตสก์ ได้เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หลังจากการสู้รบที่ถือเป็นหนึ่งในสนามรบที่ยืดเยื้อและนองเลือดที่สุดในยุโรป และยังเป็นชัยชนะสำคัญครั้งแรกนับจากที่มอสโกไม่สามารถยึดกรุงเคียฟสำเร็จ และหันไปโฟกัสดินแดนทางตะวันออกของยูเครนแทน

สำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซียรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (19) ว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปมาริอูโปลในวันเสาร์ หลังจากนั้นได้เดินทางไปที่สถานที่ต่างๆ ในเมืองนี้ ซึ่งหลายครั้งผู้นำรัสเซียขับรถเอง นอกจากนี้ ยังมีการแวะพูดคุยกับประชาชน และรับฟังการเสนอแผนการฟื้นฟูเมือง

สื่อของรัสเซียยังรายงานว่า ปูตินได้พบกับผู้บัญชาการระดับสูงของกองกำลังรัสเซียในยูเครน ซึ่งรวมถึงวาเลรี เยราซิมอฟ ประธานคณะเสนาธิการร่วมที่เวลานี้เป็นผู้รับผิดชอบการทำสงครามในยูเครน

ก่อนหน้าที่จะไปมาริอูโปล ปูตินเดินทางไปไครเมียโดยไม่ได้ประกาศล่วงหน้าเช่นเดียวกัน เนื่องในวาระครบรอบ 9 ปีที่รัสเซียเข้าผนวกคาบสมุทรแห่งนี้จากยูเครนภายหลังการทำประชามติที่ยูเครนและนานาชาติไม่ยอมรับ และถือเป็นการเยือนไครเมียครั้งแรกนับจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022

สถานีทีวีของรัฐบาลรัสเซียแพร่ภาพปูตินเดินทางไปที่เมืองเซวาสโทโปล ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ และเป็นฐานทัพใหญ่ของรัสเซียในทะเลดำ โดยมี มิฮาอิล ราซโวซาเยฟ ผู้ว่าการที่ได้รับแต่งตั้งจากมอสโก เดินทางไปด้วย ทั้งนี้ ราซโวซาเยฟ โพสต์บนแอปเทเลแกรมว่า ปูตินเดินทางไปร่วมพิธีเปิดโรงเรียนศิลปะสำหรับเด็กในเมืองดังกล่าวด้วยตนเอง จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่า เขาจะร่วมงานผ่านวิดีโอลิงก์

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีขึ้นหลังจากเมื่อวันศุกร์ (17) ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ออกหมายจับปูตินข้อหาเนรเทศเด็กยูเครน โดยเคียฟระบุว่า เด็กยูเครนกว่า 16,000 คนถูกนำตัวไปยังรัสเซียนับจากความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยเด็กจำนวนมากถูกนำไปสถาบันต่างๆ และสถานสงเคราะห์

คาริม ข่าน อัยการของไอซีซี แถลงว่า ปูตินจะถูกจับทันทีหากเดินทางเข้าสู่ประเทศที่เป็นสมาชิกของไอซีซีที่มีกว่า 120 ประเทศ แต่ทั้งนี้ในทางเป็นจริงแล้ว ยังต้องขึ้นกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เองด้วยว่าจะทำตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งนี้หรือไม่

ผู้นำวัย 70 ปีของรัสเซียผู้นี้ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกหมายจับดังกล่าว ขณะที่เครมลินตอบโต้ว่า หมายจับเป็นโมฆะเนื่องจากรัสเซียไม่ยอมรับเขตอำนาจของไอซีซี

การตัดสินใจของไอซีซีเกิดขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนจะเดินทางเยือนมอสโกในวันจันทร์เพื่อลงนามข้อตกลงที่มีการระบุว่า จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ยุคใหม่ระหว่างจีนกับรัสเซีย

นอกจากนั้น ยังมีเสียงคาดหวังจากบางฝ่ายว่า ผู้นำจีนจะช่วยหาทางออกให้สงครามยูเครน ขณะที่จีนกำลังพยายามเพิ่มบทบาทของตัวเองในฐานะผู้สร้างสันติภาพ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สีเพิ่งประสบความสำเร็จในการเป็นกาวใจให้คู่อริในตะวันออกกลางอย่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน

หลังจากได้รับการรับรองเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 3 สดๆ ร้อนๆ สีกำลังเดินหน้าเสริมสร้างบทบาทของจีนบนเวทีโลก ขณะเดียวกัน หลังจากมีข่าวลือว่า สีอาจโทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนเร็วๆ นี้ ทำให้ผู้นำตะวันตกบางคนถึงขนาดวาดหวังว่า สีอาจโน้มน้าวให้ปูตินหยุดการรุกรานยูเครนระหว่างการเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ 3 วัน

ระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์เกี่ยวกับการเยือนรัสเซียของสี หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า ปักกิ่งจะรับบทบาทที่สร้างสรรค์ในการส่งเสริมการเจรจาสันติภาพ

เดือนที่ผ่านมา จีนได้เผยแพร่ข้อเสนอ 12 ข้อ ซึ่งเรียกร้องให้รัสเซียและยูเครนเปิดการเจรจา และเคารพอธิปไตยของทุกประเทศ อีกทั้งยังประกาศแผนการริเริ่มด้านความมั่นคงโลก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของสีเพื่อส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทว่า ตะวันตกกลับวิจารณ์เอกสารทั้ง 2 ฉบับว่า เป็นหลักการกว้างๆ แทนที่จะเสนอแนวทางแก้วิกฤตที่นำไปปฏิบัติได้จริง

ตะวันตกยังกล่าวหาจีนให้การปกป้องทางการทูตแก่รัสเซีย เนื่องจากปักกิ่งปฏิเสธประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ขณะที่วิพากษ์วิจารณ์การสนับสนุนเคียฟของวอชิงตัน

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น