xs
xsm
sm
md
lg

ยูโดญี่ปุ่นเผชิญวิกฤต สิ้นคุณค่าเดิม เด็กถูกกดดัน ข่มเหง หมดไฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฮิโรมิ มูราคาวะ (แม่) กับรูปถ่ายของโคจิ ลูกชายอายุ 12 ปี ที่เสียชีวิตหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะขณะฝึกยูโด ข้อมูลสมาพันธ์ ระหว่างปี 2526 ถึง 2559 มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตขณะฝึกยูโด มีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับยูโด 121 รายในโรงเรียนญี่ปุ่น (ภาพ International Herald Tribune)
ญี่ปุ่นเป็นแหล่งกำเนิดของยูโด แต่ทัศนคติการฝึกหนัก การลงโทษทางร่างกาย และความกดดันในการรีดน้ำหนัก กำลังผลักดันให้เด็กญี่ปุ่นจำนวนมากเลิกเล่น ส่งผลกีฬายูโดไร้อนาคต

เจแปนทูเดย์ รายงาน (21 มิ.ย.) ว่า สหพันธ์ยูโดแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ยกเลิกการแข่งขันอันทรงเกียรติระดับประเทศ รุ่นสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี โดยเตือนว่า การแข่งขันทำให้เด็กๆ ถูกกดดันมากเกินไป

ระหว่างปี 2526 ถึง 2559 มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตขณะฝึกยูโด มีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับยูโด 121 รายในโรงเรียนญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นครองตารางเหรียญยูโดโอลิมปิกเป็นประจำ แต่ประธานสหพันธ์ยาสุฮิโระ ยามาชิตะ บอกกับเอเอฟพีว่า คุณค่าของกีฬาชนิดนี้กำลังสูญเสียไปเมื่อพ่อแม่ และโค้ชมุ่งผลการแข่งขันในระยะสั้น

“ยูโดเป็นกีฬาที่เน้นความหมายความเป็นมนุษย์” ยามาชิตะ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของญี่ปุ่นและได้รับรางวัลเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาลอสแองเจลิสปี 1984 กล่าว “หากคุณไม่เห็นคุณค่าในสิ่งใดนอกจากการชนะ และผลลัพธ์คือสิ่งที่สำคัญ สิ่งนั้นจะบิดเบี้ยว”

ตั้งแต่ปี 2547 จำนวนผู้เข้าร่วมยูโดในญี่ปุ่นลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 120,000 คน ตามตัวเลขของสหพันธ์ฯ โดยลดลงอย่างมากในรุ่นเด็ก

มีรายงานออกมาว่าเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาถูกบังคับให้ลดน้ำหนัก ซึ่งบางครั้งอาจต้องลดน้ำหนักถึง 6 กิโลกรัม เพื่อให้พวกเขาสามารถแข่งขันในรุ่นที่เบากว่าได้

เด็กเล็กถูกจับฝึกเคลื่อนไหวร่ายกายในท่าที่อันตราย เช่นเดียวกับการฝึกนักกีฬาโอลิมปิก และระบบการฝึกที่เข้มข้น เข้มงวดอาจทำให้พวกเขาบาดเจ็บหรือหมดไฟได้

การแข่งขันและการลงโทษทางร่างกายยังคงมีอยู่ รวมทั้งความทุกข์ทรมานจากการละเมิดและการกลั่นแกล้ง รังแกข่มเหงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สหพันธ์ยูโดแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ตัดสินใจ ยกเลิกการแข่งขันระดับชาติสำหรับเด็กอายุระหว่าง 10 ถึง 12 ปี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยแทนที่ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การบรรยายและการฝึกซ้อมมากกว่าการแข่งขันชิงชัย

พ่อแม่และโค้ชกล่าวหาสหพันธ์ฯ ว่าทำลายความฝันของเด็กๆ และเสี่ยงต่อสถานะของญี่ปุ่นความเป็นเจ้าแห่งกีฬายูโด

ริออน ฟุคุโอะ นักเรียนมัธยมต้น วัย 13 ปี แชมป์ระดับภูมิภาคเมื่อปีที่แล้ว บอกกับ AFP ที่สโมสรยูโดของเธอในเขตชิซูโอกะตอนกลางว่า เธอ "รู้สึกเสียใจ" ต่อเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีนี้ ที่ไม่มีการแข่งขัน

โคสุเกะ โมรอย ซึ่งลูกสาววัย 12 ขวบเข้าร่วมชมรมเดียวกัน กล่าวว่าเขา “ผิดหวัง” เมื่อได้ยินข่าวนี้ครั้งแรก แต่มองว่าเป็น “การตัดสินใจที่ดี” หลังจากพิจารณาเหตุผลที่ยกเลิก

ยามาชิตะกล่าวว่า การยกเลิกการแข่งขันก็เพื่อให้ทบทวนความสำคัญกับ "ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสังคมญี่ปุ่น"

“2 เดือนครึ่งแล้วที่เราตัดสินใจยกเลิกการแข่งขัน และผู้คนยังคงโต้เถียงกันทางทีวีและในหนังสือพิมพ์” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าความคิดเห็นส่วนใหญ่ “ยินดีอย่างยิ่ง”

ยูโดและศิลปะการต่อสู้อื่นๆ ถูกนำมาใช้สำหรับการฝึกทหารในญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และปัจจุบันทหารกองทัพยังจะไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อสัมมนาและสอนพิเศษ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ศิลปะการต่อสู้ทุกประเภทในญี่ปุ่นถูกห้ามในระหว่างการยึดครองของสหรัฐฯ แต่ภายหลัง ยูโดได้รับการยอมรับว่าเป็นกีฬา โดยเปิดตัวในโอลิมปิกที่โตเกียวเกมส์ปี 1964

โนริโกะ มิโซกุจิ นักยูโดก้าชาวญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่บาร์เซโลนาปี 1992 กล่าวว่า ความเชื่อที่ว่าการลงโทษทางร่างกายทำให้เด็กแข็งแกร่งขึ้นยังคงเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น

“สิ่งหนึ่งที่ติดอยู่กับการฝึกสอนกีฬาในญี่ปุ่นคือไม่ใช้คำพูด แต่ใช้ความรุนแรง” เธอกล่าว “พฤติกรรมนี้มีความสัมพันธ์กันกับความรุนแรงในครอบครัว ราวกับว่าการถูกตีก็เหมือนการแสดงความรัก”

ทั้งนี้ โค้ชที่ใช้การลงโทษทางร่างกายอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่กับผู้ปกครองควบคุมได้ยากกว่า

ฮิซาโกะ คูราตะ ซึ่งลูกชายวัย 15 ปีของเขาเสียชีวิตในปี 2554 เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ปัจจุบันเป็นตัวแทนของสมาคมผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุยูโดแห่งประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ "ไม่คิดถึงอันตรายและเพียงแค่ต้องการให้ลูกของตนได้รับชัยชนะ"

“พ่อแม่มีความสุข ถ้าลูกของพวกเขาคว้าแชมป์ได้ พวกเขาคิดว่าพวกเขากำลังทำเพื่อลูก” คูราตะ กล่าวและว่า

“พ่อแม่ลงเอยด้วยความคิดแบบแม้จะยากหรือมีอุปสรรค์มากเพียงใด ก็จะทำให้ได้ ไม่ว่าจะต้องทำหรือเสียอะไร แบบเดียวกับสโมสรยูโด”

มิโซกุชิ ซึ่งเป็นโค้ชในฝรั่งเศสกล่าวว่ายูโด "ไม่สนุก" สำหรับเด็กชาวญี่ปุ่นและ "วัฒนธรรมผู้ชาย" ที่ครอบงำกีฬาก็ยังมีมาจนถึงปัจจุบัน

“คุณต้องปฏิบัติต่อเด็กแต่ละคนด้วยความเอาใจใส่และมีวิสัยทัศน์ระยะยาวสำหรับอนาคต ไม่เช่นนั้นยูโดของญี่ปุ่นจะถึงขีดจำกัดแล้ว” เธอกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น