รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้วิธีการรักษา “ค็อกเทลแอนติบอดี” กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 อย่างกว้างขวาง หลังพบว่าลดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 70 แพทย์เสนอประยุกต์ใช้ฉีดเหมือนวัคซีน ลดภาระต้องนอนโรงพยาบาล
การรักษาด้วยวิธีการนี้จะนำยาสารภูมิต้านทาน 2 ชนิด ได้แก่ คาซิริวิแมบ และ อิมเดวิแมบ มาผสมกับน้ำเกลือ และให้กับผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือด ยาสูตรนี้จะยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์และขยายตัวในเซลล์ การทดลองทางคลินิกในต่างประเทศยืนยันว่า ยาสารภูมิต้านทานสูตรนี้สามารถลดความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิต ลงได้ประมาณร้อยละ 70
การรักษาให้ได้ผลดีที่สุดจะต้องใช้ยานี้ภายใน 7 วันหลังปรากฏอาการ หากล่าช้าไปจำนวนไวรัสในร่างกายได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ประสิทธิผลอาจลดน้อยลง
ยาสูตร “ค็อกเทลแอนติบอดี” ค่อนข้างปลอดภัย ใช้กับผู้ป่วยที่อายุ 50 ปีขึ้นไปได้ ผู้ที่มีปัญหาที่ปอด ตับ และมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติก็ใช้วิธีการรักษานี้ได้ ยาสูตรผสมผสานนี้ผ่านการอนุมัติใช้ฉุกเฉินในสหรัฐเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ใช้ยาสูตรนี้รักษาตัวเมื่อตอนที่ติดโควิด
รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติวิธีการรักษานี้เมื่อเดือนกรกฎาคมโดยใช้เฉพาะผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม รัฐบาลจะอนุญาตให้ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ตามโรงแรมและสถานพยาบาลชั่วคราว ได้รับการรักษาด้วยวิธีการนี้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ เนื่องจากในขณะนี้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถหาเตียงโรงพยาบาลที่ว่างรองรับได้
ผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงแรมที่กรุงโตเกียวและเมืองฟูกูโอกะ รับการรักษาด้วยยาสูตรนี้แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นจะจัดหายานี้โดยเร็วให้แก่โรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ ที่บังคับใช้ภาวะฉุกเฉินป้องกันโควิด และมีแผนจะให้การรักษาด้วย “ค็อกเทลแอนติบอดี” สามารถทำได้ทั่วประเทศกับผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่หนัก
ผู้ติดเชื้อรักษาตัวที่บ้านขอใช้ด้วย แพทย์ยังห่วงผลข้างเคียง
นางยูริโกะ โคอิเกะ ผุ้ว่าการกรุงโตเกียว และแพทย์จำนวนหนึ่ง เรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้ผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้านของตัวเองได้รับการรักษาวิธีนี้ด้วย แต่รัฐบาลยังมีท่าทีระมัดระวังเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างคือ
- การให้ยาต้องผ่านทางเส้นเลือด จึงยุ่งยากถ้าจะใช้กับผู้ป่วยที่บ้าน
- ยา 1 ชุดผสมใช้กับผู้ป่วย 2 ราย การจัดการสำหรับผู้ป่วยที่อยู่คนเดียวที่บ้านจึงไม่สะดวก
- หลังให้ยาต้องติดตามอาการแพ้และผลข้างเคียงราว 1 ชั่วโมง
- ต้องเก็บยาให้ตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำ
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นยังต้องพิจารณาการเกิดอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงที่พบในผู้ป่วยหลายรายในต่างประเทศ รวมทั้งผลข้างเคียง เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ออกซิเจนในเลือดลดลง นอกจากนี้ยังอาจเกิดผลข้างเคียงที่ยังไม่รู้อีกด้วย เนื่องจากข้อมูลระดับคลินิกนั้นยังมีอยู่น้อย
แพทย์เสนอทดลองฉีดยาเหมือนฉีดวัคซีน
การรักษาด้วยวิธี “ค็อกเทลแอนติบอดี” ขณะนี้ใช้การให้ยาผ่านเส้นเลือดจึงจำเป็นต้องทำในโรงพยาบาล แพทย์บางส่วนจึงเสนอให้ใช้วิธีฉีดยาเข้าใต้ชั้นผิวหนังเหมือนกับฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยนอกมาฉีดยาได้โดยไม่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ในต่างประเทศได้มีการทดลองใช้ยาสูตรนี้ด้วยวิธีฉีดแล้ว พบว่ามีอาการแพ้เกิดขึ้นราว 0.2% ไม่แตกต่างกันทั้งการให้ผ่านเส้นเลือดและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และมีอาการผิวหนังบวมแดงราว 4%
แพทย์ยอมรับว่า การให้ยาที่โรงพยาบาลย่อมดีกว่าเพราะสังเกตอาการผู้ป่วยได้ แต่ในขณะนี้โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก การใช้วิธีฉีดยาและสังเกตอาการหลังฉีด 30 นาที พร้อมติดตามผลหลังผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่บ้าน จึงเป็นวิธีการที่ควรพิจารณานำมาใช้.