GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาสล่าสุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 มากที่สุดในรอบ 40 ปี หลังจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ญี่ปุ่นประกาศตัวเลขตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เพิ่มขึ้น 21.4% เมื่อคิดแบบรายปีในไตรมาสเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลเมื่อปี 2523 แต่การเพิ่มขึ้นของ GDP นี้เป็นการเพิ่มจากฐานที่ลงต่ำมากเป็นประวัติการณ์จากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยในไตรมาสเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ติดลบ 28.8%
ทั้งนี้ ถ้าคำนวนเฉพาะไตรมาสเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 5.0% ถือว่าญี่ปุ่นพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
การบริโภคส่วนบุคคลซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งของ GDP ของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อคิดแบบรายไตรมาส คาดว่าเป็นผลจากโครงการ Goto ซึ่งรัฐบาลให้เงินสนับสนุนการท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายด้านการเดินทาง ซื้อของที่ระลึก และการรับประทานอาหารนอกบ้าน
การส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 7 เนื่องจากการขนส่งยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐและจีนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจยังคงซบเซาจากวิกฤตโควิด การลงทุนในสินทรัพย์ประเภททุนลดลงร้อยละ 3.4 การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 7.9
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นชี้ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้น จนมีความเสี่ยงเข้าสู่ “การระบาดระลอกที่ 3” จะเกิดความเสี่ยงต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
นายยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีที่ดูแลด้านการควบคุมการระบาดของโควิดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการควบคุมการระบาด ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีภาคเอกชนเป็นแกนนำ
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดคิดไว้ และเชื่อว่าหากรัฐบาลควบคุมการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ได้โดยไม่ต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ ในครึ่งแรกของปีหน้าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับมาฟื้นตัวได้ ในระดับเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของโควิด.