รอยเตอร์ - รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่นแถลงวันนี้ (10 พ.ย.) ว่า นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นจัดทำแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นรอบใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยกลับมากระเตื้อง หลังโดนวิกฤตโควิด-19 เล่นงาน
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (10 พ.ย.) ว่า แพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องบรรเทาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด รวมไปถึงช่วยการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นการผลิตผ่านการใช้ระบบดิจิทัล รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยาซูโตชิ นิชิมูระ (Yasutoshi Nishimura) แถลง
“เราต้องการพิจารณาการใช้จ่ายของรัฐบาลที่จะดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน” นิชิมูระชี้ และเสริมต่อว่า รัฐบาลจะจัดทำแพกเกจกระตุ้นทางเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ มีการคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถดีดตัวกลับมาได้ในไตรมาสที่ 3 หลังจากมีการหดตัวครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในไตรมาส 3 เดือนก่อนหน้าเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศจากวิกฤตโควิด-19 และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นอัมพาต
ส่งออกที่แข็งแกร่งและผลผลิตเนื่องมาจากความต้องการรถบรรทุกปิกอัพในต่างแดน ช่วยในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัย แต่การลงทุนด้านทุนที่อ่อนลง และการใช้จ่ายครอบครัว ทำให้นักทำนโยบายต้องอยู่ภายใต้ความกดดันในการที่ต้องหาทางเพิ่มงบประมาณประจำปีและมาตรการทางการคลังเพื่อการสนับสนุน
“หนทางในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนั้นถูกจำกัดทั่วโลก” ยาซูนาริ อูเอโนะ (Yasunari Ueno) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ทางการตลาดประจำบริษัทหลักทรัพย์ มิซูโฮ (Mizuho Securities) แสดงความเห็น
“ไม่มีหนทางอื่นนอกจากพยายามให้มีความสมดุลระหว่างการป้องกันไวรัสและการเติบโตทางเศรษฐกิจ”
นิชิมูระชี้ว่า แพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีเป้าหมายไปที่การนำไปสู่สังคมสีเขียว หลังจากที่โตเกียวได้ออกมาเสนอตัวในการลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 และตระหนักถึงสังคมการไม่มีก๊าซคาร์บอน (carbon-neutral society)
ขณะที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยังไม่มีการตัดสินใจในตัวเลขของแพกเกจกระตุ้น แต่นักการเมืองพรรครัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาทางเรียกร้องตัวเลขแพกเกจกระตุ้นระหว่าง 10 ล้านล้านเยน (95 พันล้านดอลลาร์) ไปจนถึง 30 ล้านล้านเยน (286 พันล้านดอลลาร์)
ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่นกล่าวไปถึงช่องว่างการผลิตที่เป็นลบ (negative output gap) ที่เกิดขึ้นเมื่อผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง (actual output) ต่ำกว่าศักยภาพเต็ม (full capacity) ของเศรษฐกิจ โดยชี้ว่าอยู่ที่ 55 ล้านล้านเยน ในไตรมาสที่ 2
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ใช้แพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้วถึง 2 ครั้ง มูลค่ารวมกัน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในการตอบโต้กับวิกฤตโควิด-19 รวมถึงมาตรการแจกเงินให้กับครอบครัวและให้กู้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก
แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนออกมาแสดงความวิตถึงการออกแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตัวใหม่ จะยิ่งทำให้เป็นการเพิ่มความตึงเครียดแก่การเงินสาธารณะของญี่ปุ่น โดยชี้ว่าการช่วยเหลือสมควรจำกัดในส่วนที่จำเป็นแทนที่จะยื่นเงินสดให้กับทุกคน