คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ตอนนี้ญี่ปุ่นอยู่ในฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงที่อากาศเย็นสบายสดชื่นหลังฤดูร้อนระอุไม่สบายเนื้อตัวผ่านพ้นไป อีกทั้งใบไม้ก็ค่อยทยอยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ส้ม แดง ดูงดงามราวภาพวาด อีกทั้งฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลก็เริ่มขึ้นด้วย ทำให้ฤดูใบไม้ร่วงเป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นหันมาทำกิจกรรมที่ดีต่อใจกันหลายประเภทเลยทีเดียว
คนญี่ปุ่นมีความรับรู้เรื่องความเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะนอกจากอากาศที่เย็นขึ้น ระยะเวลากลางวันที่สั้นลงกับระยะเวลากลางคืนที่ยาวขึ้นแล้ว แม้อยู่กลางกรุงก็ยังได้เห็นพืชพรรณที่บ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะประจำฤดูกาลอย่างเด่นชัด รวมทั้งพืชผลประจำฤดูใบไม้ร่วงที่เริ่มวางจำหน่ายด้วย
ถ้าอยู่ในญี่ปุ่นช่วงนี้ ก็น่าจะได้ยินคำว่า “ฤดูใบไม้ร่วงแห่ง...” หนาหู ไม่ว่าจะเป็น “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งความอยากอาหาร” “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการอ่านหนังสือ” “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการกีฬา” เป็นต้น และช่วงเวลานี้ก็จะเต็มไปด้วยสีสันของกิจกรรมประจำฤดู ตามห้างร้านก็จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายไปตามนิยามของฤดูใบไม้ร่วงให้เข้ากับธุรกิจของตน
เมื่อก่อนฉันเคยสงสัยว่าคำเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อผลทางการตลาดหรือเปล่านะ ต่อเมื่อค้นหาข้อมูลดูแล้วก็พบว่าไม่ใช่อย่างที่คิด ที่แท้คำขนานนามแก่ฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นมีที่มาที่ไปจากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นจากอาหารการกินตามฤดู วรรณกรรม สภาพอากาศ ทิวทัศน์ และวันสำคัญในอดีต
อย่างคำว่า “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งความอยากอาหาร” นั้น ว่ากันว่าพอผ่านฤดูร้อนไปแล้ว อากาศเย็นสบายขึ้น คนก็ชักจะเริ่มอยากกินโน่นกินนี่ขึ้นมา บ้างก็ว่ากินเผื่อสำหรับฤดูหนาวที่จะมาเยือนต่อจากฤดูใบไม้ร่วง เพราะอาหารการกินจะเริ่มขาดแคลน
นอกจากนี้ฤดูใบไม้ร่วงยังเต็มไปด้วยของอร่อยที่ทยอยกันออกพืชผลมาให้เก็บเกี่ยว อีกทั้งยังมีปลาประจำฤดูที่เริ่มไขมันเยอะเลยอร่อยเป็นพิเศษ กลายมาเป็นอาหารเมนูอร่อยชนิดต่าง ๆ เฉพาะฤดูกาล ชวนให้ดีใจว่าเวลาที่รอคอยมาถึงแล้ว การที่คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคอาหารตามฤดูกาลเช่นนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แต่ละฤดูของญี่ปุ่นมีความพิเศษแตกต่างกันอย่างชัดเจนในความรู้สึก
ให้เพื่อนผู้อ่านลองทายเล่นกันสนุก ๆ ว่าพืชผลเด่น ๆ ประจำฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง และปลาประจำฤดูนี้ชื่อปลาอะไร แล้วเดี๋ยวจะเฉลยในตอนท้ายนะคะ ส่วนตอนนี้มาดูคำขนานนามอย่างอื่น ๆ ของฤดูใบไม้ร่วงกันก่อนดีกว่า
คำที่ฟังแล้วออกจะน่าแปลกใจคือ “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการอ่านหนังสือ” เพราะรู้สึกว่าหนังสือดีก็น่าจะเหมาะอ่านได้ในทุกฤดู พอไปค้นเพิ่มก็ได้ความว่าคำนี้ได้รับอิทธิพลมาจากบทกวีโบราณของจีน แต่งโดยหานอวี่ ผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 8 บทกวีบทหนึ่งของเขากล่าวถึงคืนวันฤดูใบไม้ร่วงที่หมดฝน ท้องฟ้าโปร่ง และอากาศเย็นสบาย เหมาะแก่การอ่านหนังสือใต้แสงเทียน แหม...ฟังดูโรแมนติกดีจัง
สมัยโบราณไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมใช้อย่างสมัยนี้ อากาศร้อนระอุก็คงไม่มีหนทางเลี่ยงไปหาที่เย็น ๆ ได้ง่ายนัก จึงไม่น่าแปลกที่จะไม่มีแก่ใจอยากอ่านหนังสือเท่าใด พออากาศเย็นสบายขึ้นก็ค่อยน่าอ่านหนังสือหน่อย จากบทกวีก็ชวนให้รู้สึกว่าฤดูใบไม้ร่วงเป็นช่วงเวลาที่รอคอยและเหมาะแก่การอ่านหนังสือขึ้นมาเลยนะคะ
“ซันชิโร่” (พ.ศ. 2451) หนึ่งในนวนิยายของนัตสึเมะ โซเซกิ นักประพันธ์ระดับปรมาจารย์ของญี่ปุ่น มีการใช้ถ้อยคำที่นำมาจากบทกวีของหานอวี่ด้วย ทำให้ได้ทราบว่าแนวคิดเรื่องฤดูใบไม้ร่วงเหมาะแก่การอ่านหนังสือมีในญี่ปุ่นมานานไม่ต่ำกว่าร้อยปีแล้ว หากแต่คำว่า “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการอ่านหนังสือ” ดูเหมือนจะเริ่มแพร่หลายหลังยุคสงครามโลก จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปมาถึงปัจจุบัน
ตามโรงเรียนมักมีการจัดสัปดาห์อ่านหนังสือเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่าน และตามร้านหนังสือจะจัดโปรโมชันต้อนรับฤดูใบไม้ร่วงแห่งการอ่านหนังสือ ด้วยการให้สะสมใบเสร็จแลกของสมนาคุณเมื่อมีซื้อหนังสือครบตามที่กำหนด หรือให้แต้มสะสมเพิ่ม
ส่วนที่มาของคำว่า “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” นั้นเหมือนจะมีหลายทฤษฎี บางคนบอกว่าสภาพภูมิอากาศที่แสนสบายบวกกับทิวทัศน์ใบไม้เปลี่ยนสีอันงดงาม ชวนให้ผู้คนคลายความเครียดลงและเกิดอารมณ์ศิลป์ขึ้นมา และในช่วงนี้อาจพบคนออกมาวาดรูปหรือถือกล้องไปเก็บภาพทิวทัศน์สวย ๆ ในหลายแห่ง
บ้างก็ว่า “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” เป็นชื่อบทความหนึ่งในนิตยสารชินโจ (新潮) ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2461 และกลายมาเป็นคำที่ใช้กันไปทั่ว บ้างก็ว่าอาจมีที่มาจากการริเริ่มจัดนิทรรศการศิลปะของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา ซึ่งภายหลังนิยมจัดแสดงผลงานในฤดูใบไม้ร่วง จึงกลายมาเป็นฤดูที่ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมผลงานศิลปะ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ มักจัดนิทรรศการใหญ่ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการภาพเขียนหรืองานศิลปะด้านอื่น ๆ
คำว่า “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” ยังปรากฏอยู่ใน “คิ-โหงะ” (季語) หรือคำบ่งชี้ฤดูกาลในบทกวีไฮขุด้วย ทำให้บางคนอาจจะรู้จักคำนี้ผ่านบทกวีไฮขุอีกทางหนึ่ง
โดยสรุปแล้วก็คงมาจากหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งสภาพภูมิอากาศที่ดี วิวทิวทัศน์ที่งดงาม ประกอบกับความนิยมในงานศิลปะที่มีมาแต่อดีต ทำให้ฤดูใบไม้ร่วงเหมาะแก่การสร้างและชื่นชมผลงานศิลป์ กลายเป็น “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งศิลปะ” ที่คนญี่ปุ่นยอมรับกันทุกวันนี้
สุดท้ายนี้ คำว่า “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งการกีฬา” ล่ะมีที่มาอย่างไร เพื่อนผู้อ่านอาจเดาได้ว่าส่วนหนึ่งก็มาจากสภาพภูมิอากาศที่กำลังสบาย ไม่ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป ทำให้เหมาะแก่การออกกำลังกายเป็นอย่างดี
อีกเหตุผลสำคัญหนึ่งได้แก่การที่ญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเมื่อปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) ซึ่งจัดพิธีเปิดในวันที่ 10 ตุลาคมและตรงกับช่วงฤดูใบไม้ร่วงพอดี ยิ่งไปกว่านั้นอีกสองปีถัดมายังได้กำหนดให้วันนี้เป็น “วันแห่งการกีฬา” เพื่อเป็นที่ระลึกการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกด้วย และตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมาได้เลื่อนให้เป็นวันจันทร์ที่สองของเดือนตุลาคมทุกปี ซึ่งก็ยังอยู่ในฤดูใบไม้ร่วงเช่นเดิม
ตามโรงเรียนจะเริ่มจัดงานกีฬาในฤดูนี้ อาจเทียบได้กับกีฬาสีโรงเรียนบ้านเรา แต่จะเอิกเกริกกว่านักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการลงแข่งกีฬาประเภทต่าง ๆ และยังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มาดูลูกหลานของตนแข่งด้วย
เอาละ มาถึงเฉลยคำถามแล้วนะคะว่าพืชผลเด่น ๆ ประจำฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง และปลาประจำฤดูนี้ชื่อปลาอะไร ใครยังไม่ได้นึกคำตอบไว้ ลองคิดดูสักครู่ บอกใบ้ให้นิดหนึ่งค่ะว่าพืชผลของฤดูนี้บ่งบอกสีประจำฤดูใบไม้ร่วงอย่างเด่นชัด ทั้งสีเหลือง สีส้ม สีแดง สีน้ำตาล และยังมีสีม่วงด้วย
ติ๊กต่อก ๆ ๆ
เฉลยละนะ พืชผลเด่นประจำฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นได้แก่ เม็ดแปะก๊วย สาลี่ ลูกพลับ ฟักทอง แอปเปิล เกาลัด เห็ดมัตสึตาเกะ องุ่น มันหวานเปลือกม่วง(ซัตสึไมโมะ さつまいも) ส่วนปลาประจำฤดูนี้คือ ปลาซัมมะ (秋刀魚) ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า “ปลาดาบฤดูใบไม้ร่วง” ...ตอบถูกกันบ้างไหมเอ่ย
นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูนี้ด้วย ข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวได้จะเรียกว่า “ข้าวใหม่” (新米) ว่ากันว่าเม็ดใสเป็นเงาอร่อยเป็นพิเศษ ตามท้องถิ่นบางแห่งในญี่ปุ่นจะจัดงานเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อความรื่นเริงและขอบคุณเทพเจ้าแห่งท้องนา เป็นอีกสีสันหนึ่งของฤดู ตามซูเปอร์มาร์เก็ตจะขึ้นป้ายว่า “ข้าวใหม่มาแล้ว” รวมทั้งบนถุงข้าวจะระบุคำว่า “ข้าวใหม่” เอาไว้ด้วย
โดยสรุปแล้ว ฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นนับว่ามีความเป็นเอกลักษณ์พิเศษและเป็นช่วงเวลาที่น่ารื่นรมย์ อีกทั้งยังมีกิจกรรมเฉพาะและอาหารประจำฤดูที่ผู้คนรอคอย ฤดูใบไม้ร่วงจึงสำคัญต่อคนญี่ปุ่นด้วยประการฉะนี้
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.