เวลาท้องหิวแต่ยังไม่ถึงเวลามื้ออาหาร เวลากลับบ้านเหนื่อย ๆ และไม่มีแรงทำกับข้าว หรือเวลาอยากประหยัดตอนช่วงสิ้นเดือนสิ้นใจ เชื่อว่าในเวลาแบบนี้คงมีหลายคนไม่น้อยที่หันไปพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นเพื่อนยามยาก และไม่ใช่แค่เราเท่านั้น เพราะทั่วโลกมีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากถึง 1 แสน 6,400 ล้านซองใน 1 ปี (จากการคาดคะเนของ WINA: World Instant Noodles Association เมื่อปี 2019)
แต่ระหว่างที่รอ 3-5 นาทีให้มื้อด่วนของเราได้ที่ เพื่อน ๆ เคยสงสัยถึงที่มาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสุดสะดวกนี้บ้างไหมเอ่ย? ถ้าใช่ มาทำความรู้จักที่มาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูประหว่างรอไปพลางกันค่ะ!
อันโดะ โมโมฟุคุ ผู้ให้กำเนิดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และ NISSIN
อันโดะ โมโมฟุคุ เป็นนักประดิษฐ์คนสำคัญคนหนึ่งของญี่ปุ่น ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและผู้ก่อตั้ง NISSIN นอกจากนี้ อันโดะยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจ ซึ่งในวัยเพียง 23 ปี อันโดะมีกิจการเกี่ยวกับผ้าและสิ่งทอเป็นของตัวเอง และยังประสบความสำเร็จในกิจการอื่น ๆ รวมถึงการก่อตั้งโรงเรียนอีกด้วย
ญี่ปุ่นหลังสงคราม และผู้คนที่ต่อแถวรอ “ราเม็งชามเดียว”
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงในปี 1945 ญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่ขัดสนและยังไม่ฟื้นตัว วันหนึ่งขณะเดินในเมือง อันโดะสังเกตเห็นผู้คนที่ต่อแถวยาวเหยียดหน้าร้านราเม็งแผงลอยเพื่อรอราเม็งชามเดียว แม้ว่าญี่ปุ่น ณ ตอนนั้นจะมีการสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ทางอเมริกาจัดหาให้ แต่ทั้งหมดนั้นก็มีเพียงขนมปังและบิสกิตที่ทำจากข้าวสาลีเท่านั้น แต่มาคิด ๆ ดูแล้ว ราเม็งเองก็ทำมาจากข้าวสาลีเหมือนกัน และคนญี่ปุ่นเองก็คุ้นเคยและชอบราเม็งด้วย “ทำไมเราถึงไม่สนับสนุนให้คนญี่ปุ่นได้กินราเม็งกันนะ?” นี่คือคำถามที่อันโดะคิดขณะมองแถวหน้าร้านราเม็ง ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการอาหารที่ซ่อนอยู่ในสังคม
จุดเริ่มต้น และโจทย์ในการพัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
“มีวิธีไหนที่จะทำให้ทุกคนหาราเม็งกินได้ง่ายกว่านี้ไหมนะ?” อันโดะคิดต่อจนปิ๊งไอเดียราเม็งแบบใหม่ขึ้นมา นั่นคือ “ราเม็งที่ทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน ขอแค่มีน้ำร้อน” ซึ่งราเม็งแบบใหม่นี้ต้องตอบโจทย์ทั้ง 5 ข้อนี้ให้ได้
1.ต้องอร่อย
ต้องไม่ใช่แค่อร่อยธรรมดาเท่านั้น แต่ต้องเป็นความอร่อยที่ทำให้กินแล้วรู้สึกว่า “อยากกินอีก” ด้วย เป็นรสชาติที่ทำให้อยากกินอีกไม่รู้จบ
2.ต้องปรุงได้ง่าย
ต้องไม่ใช้เวลามากในการปรุง และต้องไม่ยุ่งยาก เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ของครัวเรือนญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกและยุคต่อ ๆ มา
3.ต้องเก็บไว้ได้นาน
ในยุคสมัยที่ยังไม่มีตู้เย็น ราเม็งแบบใหม่นี้ต้องสามารถเก็บไว้ได้นานในอุณหภูมิห้องโดยไม่เน่าเสียง่าย
4.ต้องราคาถูก
ราเม็งแบบใหม่นี้ต้องเป็นทั้งสินค้าที่มีคุณภาพและมีราคาที่เหมาะสมที่คนทั่วไปเข้าถึงได้
5.ต้องสะอาดและปลอดภัย
เพราะความสะอาดและปลอดภัยเป็นโจทย์พื้นฐานที่อาหารทุกชนิดต้องตอบให้ได้ ราเม็งแบบใหม่นี้ก็ต้องตอบโจทย์นี้เช่นกัน
โจทย์ที่ยากที่สุด “เส้นราเม็งที่แห้งและเก็บได้นาน”
เส้นราเม็งที่เป็นหัวใจหลักของราเม็งแบบใหม่คือโจทย์ที่ยากที่สุดในการพัฒนาราเม็งแบบใหม่ เพราะนอกจากจะต้องเก็บได้นานแล้ว ยังต้องเป็นเส้นราเม็งที่คืนรูปกลับมาเป็นเส้นราเม็งนุ่ม ๆ ได้เพียงเทน้ำร้อนลงไปเท่านั้น
วันหนึ่งอันโดะเดินเข้าไปในห้องครัวขณะที่ภรรยากำลังทอดเท็มปุระอยู่ ตอนนั้นเองที่เขาสังเกตเห็นว่าแป้งเท็มปุระคายความชื้นออกมาเป็นฟองอากาศเมื่อถูกทอดในน้ำมัน เหลือเพียงแป้งฟูแห้งกรอบ แต่แป้งนั้นก็นิ่มได้ง่าย ๆ เมื่อจิ้มน้ำจิ้มเท็มปุระ อันโดะจึงลองนำเส้นราเม็งไปทอดด้วยหลักการเดียวกันดู
สิ่งที่ได้ คือเส้นราเม็งที่แห้งกำลังดีและสามารถเก็บได้นาน และเมื่อเทน้ำร้อนลงไป น้ำจะซึมเข้าไปตามรูอากาศในเส้นที่เกิดขึ้นตอนแป้งถูกทอดและคายความชื้นออกมา ทำให้เส้นราเม็งแห้งกรอบกลับคืนเป็นเส้นราเม็งนุ่มอร่อยได้ในอึดใจเดียว
25 สิงหาคม วันเปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองแรกของโลก และ “วันราเม็ง”
วันที่ 25 สิงหาคม ปี 1958 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองแรกของโลกก็ถูกเปิดตัว นั่นคือ Chicken Ramen ของ NISSIN ที่เป็นรสซุปไก่หอมและปรุงได้ง่าย ๆ เพียงเติมน้ำร้อนและรอ 2 นาทีเท่านั้น ซึ่งความสะดวกและอร่อยทำให้ Chicken Ramen เป็นนวัตกรรมแห่งยุคที่ถูกเรียกว่าเป็น “ราเม็งวิเศษ” และนับจากนั้น ทุกวันที่ 25 สิงหาคมนับเป็น “วันราเม็ง (ラーメン記念の日)” เพื่อระลึกถึงต้นกำเนิดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตแห่งยุค
หลังเปิดตัว Chicken Ramen ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ยอดขายดีถล่มทลาย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ Chicken Ramen ขายดีได้ขนาดนี้ก็เพราะเหตุผลหลัก ๆ ดังนี้
1. ช่วงปี 1958 เป็นเวลา 13 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สองและครัวเรือนของญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัว และ Chicken Ramen ที่ซื้อตุนไว้ได้ในราคาถูก (35 เยน) และยังปรุงได้ง่ายก็สามารถตอบโจทย์ของครอบครัวญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัวได้ดี
2. เมื่อ 1 ปีก่อนเปิดตัว Chicken Ramen ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกได้เปิดตัวในญี่ปุ่นพร้อมนำระบบการจำหน่ายสินค้าแบบตะวันตกเข้ามา ทำให้เอื้อต่อจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปในปริมาณมาก รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่าง Chicken Ramen ด้วย
3. สื่อโทรทัศน์เริ่มเข้ามามีบทบาทในการดึงดูดความสนใจของผู้คน แม้ตอนนั้นศักยภาพในการกระจายข่าวสารในวงกว้างของโทรทัศน์จะยังไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่อันโดะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์รายการโทรทัศน์อย่างรวดเร็วและผลิตโฆษณาต่าง ๆ ของ Chicken Ramen และผลิตภัณฑ์ NISSIN ซึ่งประสบความสำเร็จตามความนิยมของสื่อโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Chicken Ramen นี้ได้ต่อยอดมายังอีกนวัตกรรมของยุค นั่นคือ Cup Noodle ที่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยแรกของโลก รอติดตามอ่านตอนต่อไปกันนะคะ!
รู้จัก NISSIN เพิ่มเติมได้ที่ NISSIN Official Website: nissin.com , Chicken Ramen Official Website (เฉพาะภาษาญี่ปุ่น): chickenramen.jp , NISSIN Foods Thailand: nissinthailand.com/th/ , NISSIN Foods Thailand (Fanpage): Nissin Foods Thailand