xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก / ทีดีอาร์ไอ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และครอบคลุมผู้คนมากกว่าวิกฤตการณ์ใดๆ ที่เคยเกิดขึ้น แต่กลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทุนทางสังคมน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ย่อมได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า ซึ่งเป็นข้อค้นพบจากการสำรวจหลายครั้งที่ผ่านมา(https://tdri.or.th/2020/06/impact-of-covid19-on-vulnerable-groups/) นอกจากนี้ความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มนี้ก็น้อยกว่าหากปราศจากความช่วยเหลือจากภายนอก

ในบทความนี้จะเน้นไปที่ผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มเปราะบางที่เป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รวมทั้งแสดงความคิดเห็นว่าเราควรมีนโยบายสำหรับกลุ่มเปราะบางนี้อย่างไรบ้าง

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของครัวเรือนที่มีเด็กเล็กในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เกิดจากหลายช่องทาง เช่น มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐ หรือโรงเรียนปิดตามมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ บางครัวเรือนที่มีเด็กเล็กและขาดผู้ดูแล จึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ดูแลเด็ก และเมื่อเด็กไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อาหารกลางวันและนมจากศูนย์ฯ ทำให้ครอบครัวมีรายจ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันไวรัสให้แก่เด็กด้วย

ทางด้านรายได้ ก็พบว่ารายได้ของครอบครัวลดลง เนื่องจากสถานประกอบการปิดหรือหยุดดำเนินการ ห้างร้าน ตลาดนัดปิดตามมาตรการของรัฐ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น หาบเร่แผงลอย แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ มีจำนวนลูกค้าลดลง เกษตรกรรายได้ลดลงเพราะผู้ซื้อน้อยลง (ห้างร้านปิด ผู้บริโภคลดลง) บางครอบครัวที่เด็กยังเล็กมาก และไม่สามารถหาผู้ดูแลที่สามารถไว้ใจได้ คนในครอบครัวจำเป็นต้องออกจากงาน ทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียรายได้ไปอีกหนึ่งช่องทาง

ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก โดยผลการสำรวจออนไลน์ที่เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 27 เมษายนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 (จำนวนตัวอย่าง 27,986 มีผู้ตอบแบบสอบถามจากทุกจังหวัดในประเทศไทย) พบว่า ครอบครัวที่มีเด็กเล็กถูกกระทบจากโควิด-19 มากกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็กในเกือบทุกด้าน (ตัวเลขเทียบระหว่างสัดส่วนในครอบครัวมีเด็กกับสัดส่วนในครอบครัวไม่มีเด็ก)

•รายได้ลดมากกว่า (81% ในกลุ่มครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก เทียบกับ 70% ในกลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีเด็กเล็ก) เพราะมีสัดส่วนที่เป็นคนทำงานไม่ประจำ หรือธุรกิจนอกระบบมากกว่า

•รายจ่ายเพิ่มกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด และคิดเป็นสัดส่วนครัวเรือนมากกว่า (13% เทียบกับ 10%)

•หนี้ในระบบเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่า (18% เทียบกับ 13%) และหนี้นอกระบบก็เพิ่มในสัดส่วนมากกว่า (13% เทียบกับ 9%)

•สายป่านสั้นกว่า คือสามารถอยู่ในภาวะปิดเมืองแบบที่ผ่านมาได้ในระยะเวลาสั้นกว่า เช่น ตอบว่าอยู่ได้ไม่เกิน 1 เดือนมีสัดส่วนสูงกว่า (21% เทียบกับ 18.5%)

•ถูกกระทบในช่องทางต่างๆ จากโควิดในสัดส่วนที่สูงกว่า (77% เทียบกับ 68%) และเมื่อแยกตามมาตรการปิดเมือง เช่่น เคอร์ฟิว ปิดร้านค้า จำกัดร้านอาหาร ห้ามเดินทาง ก็ถูกกระทบมากกว่า

•ความสามารถในการแก้ปัญหาน้อยกว่า (27-31% ตอบว่าแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนครอบครัวที่ไม่มีเด็กมี 24-26% ตอบว่าแก้ปัญหาไม่ได้)

ผลกระทบด้านสังคม

ด้านการเลี้ยงดู เด็กขาดผู้ดูแลทำให้บางครอบครัวต้องพาเด็กออกไปทำงานด้วย ซึ่งบางครั้งสถานที่ทำงานก็ไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับเด็กเล็ก เช่น งานเก็บขยะ งานตัดต้นไม้ งานก่อสร้าง เป็นต้น หรือบางครอบครัวต้องทิ้งเด็กเล็กไว้ตามลำพัง


ด้านโภชนาการ เด็กที่อยู่ศูนย์เด็กเล็กจะได้รับอาหารและนมตามเวลา แต่เมื่อเด็กต้องอยู่บ้าน บางครั้งต้องทานอาหารเหมือนของผู้ใหญ่หรือต้องกินข้าวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือไข่ หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนมาซื้อนมกล่องแทนนมผงซึ่งมีราคาแพง ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน กินข้าวได้น้อยลงเพราะเมนูเดิมซ้ำๆ

ด้านพัฒนาการ แม้ว่าการที่ศูนย์เด็กเล็กปิดจะทำให้พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น แต่เด็กก็ขาดกิจกรรมหรือของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ และการที่ผู้ปกครองเกรงว่าเด็กจะติดโควิดจึงไม่ค่อยให้ออกไปข้างนอก เด็กจึงต้องอยู่ในห้องแคบ ๆ ดูโทรทัศน์หรือเล่นมือถือมากขึ้น ทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว เอาแต่ใจตัวเอง ขาดระเบียบวินัย

ด้านสุขภาพและการเดินทาง การที่เด็กต้องอยู่ในห้องแคบ ๆ ประกอบกับอากาศที่ร้อน เด็กบางคนก็เป็นผดผื่นส่งผลให้อารมณ์หงุดหงิด ไม่เชื่อฟัง แต่ในส่วนของการต้องพาเด็กไปรับวัคซีนตามนัดพบว่าส่วนใหญ่ยังสามารถพาเด็กไปรับวัคซีนได้ตามกำหนด แต่หากต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะก็จะอาจต้องรอรถนานขึ้น นอกจากนี้จากสถิติการให้บริการตรวจคัดกรองและกระตุ้นพัฒนาการของกรมอนามัย พบว่าเด็กได้รับการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัยลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 (ร้อยละ 63.7 เทียบกับร้อยละ 91.2) หากเด็กมีพัฒนาการล่าช้าก็จะเสียโอกาสในการได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม

โอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือและสวัสดิการจากรัฐ

ความช่วยเหลือหรือสวัสดิการที่ครัวเรือนเด็กเล็กได้รับ มีทั้งสวัสดิการที่มีอยู่ก่อนโควิด-19 แต่ถูกกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และความช่วยเหลือเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดครอบครัวยากจนอายุไม่เกิน 6 ปี แม้ว่าจะมีโครงการนี้อยู่แล้วก่อนโควิด-19 แต่ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็พบว่ายังมีเด็กยากจนตกหล่นไม่ได้รับเงินอุดหนุนอยู่จำนวนหนึ่ง ปัญหาการตกหล่นนี้เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ความสับสนในขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ ความซับซ้อนของกระบวนการรับรองสถานะความยากจน ครอบครัวยากจนบางครอบครัวไม่มีบัญชีธนาคารหรือไม่มีเงินในการเปิดบัญชี บางครอบครัวอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเดินทางไม่สะดวก เป็นต้น เมื่อเกิดโควิดแล้วเกิดปัญหาความยากลำบากในการจดทะเบียนเนื่องจากมีการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่สำคัญครอบครัวที่ก่อนหน้านี้ไม่จัดว่ามีฐานะยากจนเนื่องจากมีเกณฑ์รายได้สูงกว่าที่โครงการฯ กำหนดไว้ แต่ตอนนี้รายได้ลดลงและกลายเป็นครัวเรือนยากจนใหม่ หากนับกลุ่มนี้ด้วยอัตราการตกหล่น ‘เด็กยากจน’ จะยิ่งสูงมากขึ้น คนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อยซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเร่งด่วน เพื่อให้แน่ใจว่าครอบครัวจะมีเงินเพียงพอในการจัดหาอาหารและของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็กได้

เงินชดเชยการว่างงานจากประกันสังคม จากการสนทนา กลุ่มครอบครัวเด็กเล็กในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินจากประกันสังคม โดยไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงยังไม่ได้รับเงิน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ เลย เพราะไม่มีสิทธิ์ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เนื่องจากมีประกันสังคมอยู่แล้ว

เงินเยียวยาตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ครอบครัวส่วนใหญ่ที่ไม่มีประกันสังคมได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่บางครอบครัวต้องเสียเงินจ้างให้คนช่วยลงทะเบียนให้ บางพื้นที่ต้องเสียค่าจ้างสูงถึง 2,000 บาท นอกจากนี้การสำรวจออนไลน์ที่กล่าวถึงข้างต้น พบว่าครัวเรือนที่มีเด็กเล็กยื่นขอเงินเยียวยา 5,000 บาทน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก (63% เทียบกับ 49%) แต่มีสัดส่วนผู้ที่ยื่นแล้วไม่ได้เงินมากกว่า (25.8% เทียบกับ 20.2%)

สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้เงิน พบว่าเป็นเพราะได้รับแจ้งว่าไม่มีสิทธิ์ 21.7% ยื่นแล้วไม่ได้รับการติดต่อ 18.7% ไม่ทราบรายละเอียดเลยไม่ได้ยื่น 9.1% (อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังเพราะช่วงการสัมภาษณ์โครงการเราไม่ทิ้งกันยังอยู่ระหว่างดำเนินการ) ในขณะที่ครอบครัวเด็กเล็กมีความต้องการใช้เงินส่วนนี้มากกว่า คือมีความเห็นว่าการได้เงินเป็นสิ่งที่ช่วยมากหรือมากที่สุด (47% เทียบกับ 40%) สินเชื่อฉุกเฉิน ที่ให้กู้ 10,000 บาท ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อดังกล่าว

ถุงยังชีพ ถุงยังชีพจะได้รับเฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้าน และผู้นำชุมชนไปประสานกับทางเขต ส่วนใหญ่คนที่อยู่บ้านเช่าจะไม่ได้รับถุงยังชีพจากเขตแต่ได้รับถุงยังชีพจากมูลนิธิหรือบริษัทเอกชนมากกว่า ที่สำคัญสิ่งของที่อยู่ในถุงยังชีพไม่มีของใช้หรือสิ่งของจำเป็นสำหรับเด็กเล็กเลย

สถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอของระบบสวัสดิการในปัจจุบัน รวมถึงการมี ‘คนจนกลุ่มใหม่’ อันแสดงถึงปัญหาการตกหล่นของผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือมีความรุนแรงขึ้นกว่าในภาวะปกติ ทางออกในเรื่องนี้คือการมีระบบสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าที่จะสามารถเป็นตาข่ายรองรับไม่ให้ครัวเรือนที่มีเด็กเล็กตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก นอกจากนี้ การออกมาตรการใด ๆ ที่จะกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวที่เปราะบาง เช่น การปิดศูนย์ดูแลเด็กเล็ก รัฐควรมีการวางแผนรับมือหรือช่วยเหลือชดเชยให้กับครัวเรือนเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ถูกปล่อยให้เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง

แหล่งข้อมูล: มาจากการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม (face to face interview) จำนวน 100 ตัวอย่าง และการจัดสนทนากลุ่ม (focus group) 4 ครั้งในชุมชนแออัด 4 พื้นที่ ได้แก่ คลองเตย เสือใหญ่ อ่อนนุช และหนองแขม โดยได้รับความร่วมมือในการเก็บข้อมูลและจัดการสนทนากลุ่มจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม และข้อมูลการสำรวจผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นการสำรวจออนไลน์ในช่วงระหว่างวันที่ 27 เมษายนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

บทความ "ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก" โดย จิราภรณ์ แผลงประพันธ์ และดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แผนงาน economic and social monitor เพื่อการจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และการสนับสนุนจาก UNICEF ประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น