xs
xsm
sm
md
lg

"โอบ้ง" หรือ "เชงเม้งญี่ปุ่น" เป็นอย่างไรกันนะ ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://resources.realestate.co.jp
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน สุดสัปดาห์นี้ที่ญี่ปุ่นตรงกับช่วงไหว้บรรพบุรุษซึ่งเรียกกันว่า “โอบ้ง” (お盆) พอดี แม้จะเคยไปร่วมไหว้บรรพบุรุษกับที่บ้านมา แต่ก็สงสัยเหมือนกันว่าโดยรายละเอียดจริง ๆ แล้วคนญี่ปุ่นเขาทำอะไรอย่างไรกันบ้าง ก็เลยไปค้นข้อมูลมาเผื่อเป็นสาระน่าสนใจเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับเพื่อนผู้อ่านด้วยค่ะ


ปัจจุบันช่วงโอบ้งจะตรงกับวันที่ 13-16 สิงหาคม คนมักจะแห่กันกลับบ้านเกิดเพื่อรวมญาติและไหว้บรรพบุรุษ รวมทั้งถือโอกาสพักผ่อนวันหยุดไปด้วยในตัว ปกติรถไฟชิงกันเซ็นจะเต็มขบวน แต่เสียดายที่ปีนี้ติดปัญหาเรื่องโควิด คนกลัวว่ากลับบ้านเกิดแล้วเอาเชื้อไปติดพ่อแม่ปู่ย่าตาย อีกทั้งคนต่างจังหวัดก็หวาดระแวงว่า คนที่มาจากกรุงโตเกียวอาจจะเอาเชื้อมาแพร่ เลยเป็นปีที่หลายครอบครัวไม่ได้มาเจอกันพร้อมหน้าในช่วงโอบ้ง

โอบ้งนั้นถ้าเทียบกับบ้านเราแล้วก็น่าจะคล้ายกับ เชงเม้ง สารทจีน และ สารทไทย หลายอย่างเลยทีเดียวค่ะ อีกทั้งรายละเอียดของประเพณีก็ยังแตกต่างกันออกไปตามแต่ละภูมิภาคซึ่งตรงนี้จะคล้ายสารทไทยอยู่มาก มาดูกันดีกว่าว่าคนญี่ปุ่นเขาทำอะไรกันบ้าง

ในเช้าวันที่ 13 สิงหาคม ตามบ้านเรือนจะจัดโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ โดยมีของไหว้อย่างเช่น อาหารชุด ดอกไม้ ผักผลไม้ตามฤดูกาล ขนมบรรจุห่อ ดังโหงะสีขาว(ขนมทำจากแป้งปั้นเป็นลูกกลม) โซเม็ง(หมี่ขาว) ขนมอัดแม่พิมพ์ลายดอกไม้ย้อมสี เช่น ดอกบัว ดอกเบญจมาศ เป็นต้น รวมทั้ง “ม้าแตงกวา” และ “วัวมะเขือม่วง” ด้วย เพื่อให้ม้าเป็นพาหนะนำผู้ที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาบ้านอย่างรวดเร็ว แล้วให้วัวเป็นพาหนะพากลับไปปรโลกแบบสบาย ๆ ไม่รีบ

ภาพจาก https://girlschannel.net/topics/184905/

ภาพจาก https://xn--79q527eque9vk.com/
วิธีทำม้าแตงกวาและวัวมะเขือม่วงตามประเพณีแล้วจะใช้ก้านกัญชงแห้งซึ่งจะมีรูตรงกลาง (สภาพคล้ายหลอดทำจากไม้) มาปักทำเป็นขาสี่ข้าง แต่บางบ้านก็อาจจะใช้ตะเกียบไม้หรือไม้จิ้มฟันแทน

ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นแตงกวากับมะเขือม่วง นั่นก็เพราะว่าพืชสวนครัวสองชนิดนี้เป็นสัญลักษณ์ของฤดูร้อน อีกทั้งยังหาได้ง่าย รวมทั้งได้ไหว้บรรพบุรุษด้วยพืชผลประจำฤดูกาลด้วย

บางคนคงกลัวว่าถ้าเป็นม้ากับวัวจะทำให้บรรพบุรุษเดินทางล่าช้า เลยเอาแตงกวากับมะเขือม่วงมาทำเป็นพาหนะชนิดใหม่ให้แทน



ภาพจาก https://girlschannel.net/topics/184905/
สงสัยว่าหยุดยาวหลายวันเลยว่างเป็นพิเศษ ไอเดียบรรเจิดจึงตามมา ไม่ทราบว่าบรรพบุรุษท่านเห็นพาหนะเหล่านี้แล้วจะว่าอย่างไรบ้าง

ช่วงนี้ถ้าไปเดินผ่านตามบ้านเรือน อาจเห็นหลายบ้านประดับก้านเคปกู๊สเบอรี่สีส้มสดใส ห้อยเป็นพวงระย้าอยู่หน้าประตูด้วย เพราะกลีบสีส้มที่ห่อผลเคปกู๊สเบอรี่นั้นดูเหมือนโคมแดง จึงใช้เป็นสัญลักษณ์นำทางบรรพบุรุษกลับมาบ้าน บางบ้านก็ประดับไว้ที่โต๊ะไหว้ในบ้านนั้นเอง

ภาพจาก https://www.excite.co.jp/news/article/Japaaan_27406/
พอจัดของไหว้ที่บ้านเสร็จ ระหว่างวันก็จะไปไหว้บรรพบุรุษกันที่สุสาน สิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วยได้แก่ อาหารชุด ดอกไม้ ธูป และอาหารซึ่งมักเป็นผลไม้หรือของที่ผู้ล่วงลับไปแล้วเคยชอบรับประทาน รวมทั้งต้องไม่ลืมพกผ้าขี้ริ้วไปเช็ดทำความสะอาดสุสานเป็นอันดับแรกเมื่อไปถึง พอไหว้เสร็จก็นิยมนำของไหว้กลับมาบ้านรับประทานกัน เพราะถ้าวางทิ้งไว้จะทำให้นกกาพากันมา ทำให้บริเวณสุสานสกปรก และรบกวนทางวัดหรือคนดูแลสุสานไปด้วย

ในตอนค่ำของวันเดียวกันจะมีการจุด “ไฟต้อนรับบรรพบุรุษ” หน้าบ้าน โดยเอาก้านต้นกัญชงแห้งมากองสุมกันในจานดินเผาแล้วจุดไฟ เพื่อนำทางให้บรรพบุรุษกลับมาบ้านได้ถูก และในค่ำวันที่ 16 สิงหาคมจะจุด “ไฟส่งบรรพบุรุษ” เพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไปโดยไม่หลงทาง

ภาพจาก https://yagiken-memoria.com/
เพื่อนผู้อ่านเคยเห็นภาพเปลวเพลิงที่จุดเป็นตัวอักษร 大 บนภูเขาท่ามกลางความมืดไหมคะ นั่นเป็นหนึ่งในไฟส่งบรรพบุรุษทั้งห้าที่มีชื่อเสียงของเกียวโต เรียกว่า “โกะซังโอคุริบิ” (五山送り火) ประกอบด้วยเปลวเพลงที่จุดเป็นตัวอักษร 大 ทั้งหมดสองตัว ตัวหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกและอีกตัวหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ยังมีไฟที่จุดเป็นคำว่า 妙法 (น่าจะหมายถึง “สัทธรรมปุณฑรีกสูตร” หรือ “พระสูตรบัวขาว” ของพุทธนิกายมหายาน) รูปเรือ และรูปโทริอิ (เสาสีแดงตั้งไว้ที่ทางเข้าศาลเจ้าแบบชินโต) โดยจะเริ่มจุดตั้งแต่เวลา 2 ทุ่มเป็นต้นไป และจุดไล่ไปทีละตัวทุก 5 นาทีจนครบ

ภาพจาก https://www.walkerplus.com/
“โอบ้ง” เป็นช่วงเวลารำลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้วโดยทั่วไป และยังมี “โอบ้งใหม่” (“นีบง” 新盆) หรือ “โอบ้งแรก” (“ฮัตสึบง” 初盆) สำหรับผู้ที่ล่วงลับไปเกิน 49 วันแล้วด้วย การต้อนรับเขาเหล่านั้นกลับมาบ้านในช่วงโอบ้ง จึงเรียกได้กว่าเป็นโอบ้งใหม่หรือโอบ้งแรกสำหรับพวกเขา

ประเพณีการไหว้ก็จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นมานิดหนึ่ง คือจะเริ่มตั้งโต๊ะไหว้เร็วกว่าปกติประมาณ 1-7 วัน ตามธรรมเนียมแล้วญาติใกล้ชิดจะให้โคมสีขาวมาประดับ แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะนิยมให้เป็นเงินแทน ในขณะที่บ้านซึ่งจัดโอบ้งแรกจะเชิญญาติใกล้ชิดและคนที่สนิทสนมกับผู้ล่วงลับไปแล้วมาที่บ้าน และนิมนต์พระมาประกอบพิธี

คนที่มาร่วมพิธีควรสวมเสื้อผ้าลักษณะเดียวกับไปร่วมงานศพ รวมทั้งให้เงินแก่ครอบครัวที่จัดพิธีด้วย โดยใส่ในซองขาวคาดสาย และต้องเขียนคำบนซองให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น “御仏前” “御佛前” หรือ “御供物料” โดยเฉลี่ยแล้วควรใส่ประมาณ 5,000-10,000 เยนต่อคน

ภาพจาก https://www.e-sogi.com/guide/6421/
บางท้องถิ่นจะมีการลอยเรือส่งวิญญาณโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เพิ่งล่วงลับไปเป็นปีแรก ซึ่งจะมีการใส่ของไหว้ลงไปในเรือด้วย ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ผลไม้ และอาหาร แต่เดี๋ยวนี้หลายแห่งห้ามไม่ให้ลอยลงแม่น้ำหรือปล่อยออกสู่ทะเล เพราะจะสร้างขยะและมลพิษ บางแห่งอาจให้ลอยแล้วเก็บกลับบ้านไปด้วย บางบ้านก็ใช้เป็นเครื่องตกแต่งภายในบ้านช่วงโอบ้งแทนการลอยเรือลงแม่น้ำ

ถ้าปล่อยลอยลงสู่ทะเลจะกลายเป็นขยะและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ภาพจาก https://www.city.minamishimabara.lg.jp/
การลอยเรือส่งวิญญาณที่รู้จักกันมากที่สุดน่าจะเป็นของจังหวัดนางาซากิ ตามมาด้วยในบางแห่งของจังหวัดคูมาโมโตะและจังหวัดซางะ โดยของจังหวัดนางาซากิจะทำเป็นเรือขนาดใหญ่ยาวหลายเมตรแล้วแห่ไปตามถนนหนทางตอนค่ำ ดูคล้ายขบวนพาเหรดจนบางคนเข้าใจผิดนึกว่าเป็นงานเทศกาล แต่จริง ๆ บรรยากาศเป็นไปโดยสำรวม และผู้ร่วมงานมักสวมเสื้อผ้าสีดำหรือสีขาว มีการจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล



(การลอยเรือส่งวิญญาณของจังหวัดนางาซากิ)

ว่ากันว่าประเพณีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากจีนในสมัยเอโดะ (ประมาณ 400 ปีก่อน) จะว่าไปแล้วจังหวัดนี้น่าจะมีวัฒนธรรมที่รับมาจากหลายชาติทีเดียวนะคะ เพราะเคยเป็นประตูสู่ญี่ปุ่นที่ต่างชาติเคยเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนในสมัยโบราณ

เมืองโอสึ จังหวัดอิบารากิ ซึ่งอยู่ค่อนไปทางเหนือของญี่ปุ่น ก็มีการลอยเรือส่งวิญญาณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยเอโดะด้วยเช่นกัน แต่รายละเอียดต่างจากจังหวัดนางาซากิมาก เรียกประเพณีนี้ว่า “ลอยเรือบ้งเมืองโอสึ” (大津盆船流し) และจะลอยในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 16 สิงหาคม บ้านที่มี “โอบ้งแรก” จะตกแต่งเรือบ้งความยาวประมาณสองเมตร แล้วลอยพร้อมกับคนอื่น ๆ ร่วมกับทางหน่วยงานที่จัดงาน ในงานจะมีพิธีกรรมเล็กน้อย และมีการรำกลองเล็ก เวลาลอยจะผูกเชือกเรือแต่ละลำที่จะนำไปลอยทะเลแล้วใช้เรือ(จริง)ลากไปพร้อมกันเป็นทิวไปจนถึงท่า จากนั้นก็ลากกลับมาด้วยเพื่อนำไปใช้ในปีถัดไป



(ลอยเรือบ้งเมืองโอสึ)

นอกจากการลอยเรือซึ่งเป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นแล้ว ยังมีการลอยโคมที่แม่น้ำเพื่อรำลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย ซึ่งจะกระทำกันแพร่หลายทั่วญี่ปุ่น

ประเพณีที่สืบทอดกันมานานเช่นนี้ชวนให้รู้สึกถึงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและของแต่ละประเทศเป็นพิเศษดีนะคะ อีกทั้งยังได้เห็นความคล้ายคลึงกับบ้านเราหลายส่วนทีเดียว ของบ้านเราเป็นอย่างไร ลองย้อนกลับไปกดอ่านกันสนุก ๆ จากลิงค์ในย่อหน้าที่สามได้ค่ะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.


กำลังโหลดความคิดเห็น