xs
xsm
sm
md
lg

อะไรเอ่ย ไทยก็มีญี่ปุ่นก็มี ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก http://quiestla-meshi.seesaa.net/
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน มีใครเคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ได้รู้ว่าสิ่งที่เคยคิดว่าเป็น “ของไทย” หรือเป็น “วัฒนธรรมไทย” นั้น แท้จริงแล้วก็เป็นสิ่งที่ประเทศอื่นก็มีเหมือนกันเปี๊ยบหรือคล้ายกันมากจนชวนให้ประหลาดใจเล่นบ้างไหมคะ ไทยกับญี่ปุ่นเองก็มีสิ่งเหล่านั้นเช่นเดียวกัน เพื่อนผู้อ่านลองคิดดูกันเล่น ๆ สักนิดว่ามีอะไรบ้าง แล้วค่อยอ่านกันต่อนะคะ


มอญซ่อนผ้า
มีใครรู้บ้างเอ่ยว่าญี่ปุ่นก็มีมอญซ่อนผ้าเหมือนกันนะ หากคิดจะเอาการละเล่นชนิดนี้ไปโชว์ “วัฒนธรรมไทย” ให้ญี่ปุ่นดูละก็ อาจจะหน้าแตกเหมือนฉันและเพื่อน ๆ ได้ค่ะ และนี่ก็เป็นเหตุให้ฉันได้ทราบว่าการละเล่นชนิดนี้ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของไทยแต่เพียงผู้เดียว

ครั้งหนึ่งตอนจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยกับญี่ปุ่น มีกฎให้แต่ละฝ่ายสาธิตการละเล่นพื้นเมืองของตนแล้วเล่นด้วยกัน ฝ่ายไทยเลือกมอญซ่อนผ้า ตอนเล่นกันก็เห็นแต่คนไทยสนุกสนานกันใหญ่ ส่วนคนญี่ปุ่นดูเฉย ๆ พอลองสอบถามดูจึงได้ความว่าญี่ปุ่นก็มี เขาเรียกว่า “ฮังกาจิโอะโตฉิ” ハンカチ落し แปลว่า “หย่อนผ้าเช็ดหน้า” วิธีเล่นแบบเดียวกัน แต่ดูเหมือนบางทีก็ให้คนที่นั่งในวงเอามือไขว้หลังไว้ บางทีก็ให้ปิดตา

ภาพจาก http://ehonno-mori.blogspot.com/
ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้นนะคะที่มี “มอญซ่อนผ้า” แต่การละเล่นแบบนี้ยังพบได้ทั้งในแถบเอเชียใต้ แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาอีกด้วย เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไป และเรียกชื่อต่างกันไป ดังนั้นการละเล่นชนิดนี้จริง ๆ แล้วอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “การละเล่นพื้นเมืองสากล” มากกว่าเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง

เป่ายิ้งฉุบ
ข้อนี้หลายคนอาจเดาได้ ญี่ปุ่นเรียกเป่ายิ้งฉุบว่า “จัง-เก็ม-ปง” ちゃんけんぽん หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “จัง-เก็น” และนับจังหวะแบบเดียวกับไทย คือตอนที่ไทยพูดว่า “เป่ายิ้ง” ญี่ปุ่นจะพูดว่า “จังเก็น” แล้วยกมือขึ้น พอไทยจะพูด “ฉุบ” ญี่ปุ่นจะพูดว่า “ปง” แล้วออกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างกระดาษ ค้อน กรรไกร

ภาพจาก https://kvillage.jp/column/13667
ได้ยินบางตำราบอกว่าการละเล่นชนิดนี้เริ่มมาจากจีน ก่อนจะไปญี่ปุ่น แล้วแพร่ไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย และประเทศตะวันตก

แต่น่าแปลกที่ญี่ปุ่นไม่มี “โอน้อยออก” แล้วทีนี้เวลาจะแบ่งกลุ่มออกเป็นสองกลุ่มล่ะจะทำอย่างไร เท่าที่ฉันเคยเห็นมาเขาจะใช้วิธีให้เลือกออกได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสองอย่าง เช่น ให้ออกเฉพาะกระดาษกับค้อน แทนการหงายมือและคว่ำมือแบบโอน้อยออกของไทย

พูดประโยคที่มีคำเสียงคล้ายเร็ว ๆ
การพูดประโยคที่มีคำเสียงคล้ายกันในภาษาญี่ปุ่นมีอยู่หลายแบบ ที่นิยมและรู้จักกันดีคงจะเป็น “นามะมุหงิ นามะโกะเมะ นามะทามาโหงะ” 生麦生米生卵 - แปลว่า “ข้าวสาลี ข้าวสาร ไข่ดิบ”

สมัยก่อนพอมีคนญี่ปุ่นรู้ว่าฉันพูดญี่ปุ่นได้ ก็จะให้ฉันลองพูดประโยคนี้เร็ว ๆ เพื่อจะดูว่าพูดได้โดยไม่ผิดไหม ซึ่งเท่าที่เห็นมาส่วนใหญ่คนไทยจะพูดประโยคนี้ได้ต่อเนื่องโดยไม่ค่อยพลาด

ภาพจาก http://joy-music.jp/blog/2020/03/06/post-1112/
วันหนึ่งสามีฉันท้าแข่งพูดประโยคนี้เร็ว ๆ คงกะว่าฉันจะพูดผิดบ้าง แต่ก็ไม่ผิดสักตัว ฉันก็เลยให้เขาลองพูดประโยคของไทยดูบ้าง

“ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก ยักษ์เล็กไล่ยักษ์ใหญ่”
“ยะ ยะ ยะ ยะ ยะ ยะ” (มั่ว)

“ยังมีอีกนะ...ชามเขียวคว่ำเช้า ชามขาวคว่ำค่ำ”

สามีนิ่งเงียบไป ก่อนจะยิ้มแหยบอกว่า
“ผมผิดไปแล้วคร้าบบบ”

อันที่จริงแล้วของประโยคของญี่ปุ่นข้างต้นไม่ใช่แค่ “นามะมุหงิ นามะโกะเมะ นามะทามาโหงะ” แล้วจบ แต่ยังมีต่ออีก 3 ท่อน รวมแล้วคือ

“นามะมุหงิ นามะโกะเมะ นามะทามาโหงะ
ยาคิมุหงิ ยาคิโกะเมะ ยาคิทามาโหงะ
มุชิมุหงิ มุชิโกะเมะ มุชิทามาโหงะ
หยุเดะมุงิ หยุเดะโกะเมะ หยุเดะทามาโหงะ”
生麦生米生卵 焼麦焼米焼卵 蒸麦蒸米蒸卵 茹麦茹米茹卵
ยาวกว่าของไทยอีก!

ขีดเส้นนับจำนวนทีละ 5 หน่วย
ฉันค้นพบโดยบังเอิญค่ะว่าญี่ปุ่นก็มีแบบนี้ แต่จากที่ไหนก็จำไม่ได้แล้วเหมือนกัน อย่างของไทยนั้น สมมติเราจะนับอะไรทีละอันไปเรื่อย ๆ จะใช้วิธีขีดเส้นตรงแนวตั้งทีละเส้น พอครบ 4 เส้นแล้ว เส้นที่ 5 จะขีดทแยงทับ 4 เส้นแรก แล้วถ้าจะนับต่อก็ต้องเริ่มใหม่ด้วยวิธีเดียวกัน


ส่วนของญี่ปุ่นก็มีวิธีนับทีละ 5 หน่วยด้วยการขีดเส้นเหมือนกัน แต่ขีดคนละแบบ คือจะใช้วิธีเขียนเป็นตัวอักษรคันจิที่มี 5 ขีดพอดี คือตัว  正 โดยเริ่มจากการขีดเส้นแรกไปเรื่อย ๆ แบบนี้ค่ะ


ปิ่นโต
ฉันไปถาม “อะไรเอ่ยไทยก็มีญี่ปุ่นก็มี” กับอาจารย์ที่เคยสอนภาษาญี่ปุ่นให้ตอนเด็ก ๆ ท่านก็ตอบมาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ “ปิ่นโต-เบ็นโต” ได้ยินแล้วอยากตบเข่าฉาดว่า จริงด้วย…! ลืมนึกไปได้อย่างไรกัน ชื่อก็ออกจะคล้ายกันเพียงนั้น

เชื่อกันว่าคำว่า “ปิ่นโต” น่าจะมาจาก “เบ็นโต” 弁当 ในภาษาญี่ปุ่น แต่ “เบ็นโต” หมายถึงอาหารที่พกไปรับประทานข้างนอก เช่น ระหว่างการเดินทางหรือในที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องใส่กล่องซ้อนกันเป็นเถาหลายชั้นแบบ “ปิ่นโต”

ดังนั้น การพกอาหารจากบ้านไปรับประทานเป็นอาหารกลางวันที่ทำงาน ไม่ว่าจะใส่ภาชนะแบบใดก็น่าจะเรียกว่าเป็น “เบ็นโต”ได้หมด แต่ถ้าจะเรียกว่า “ปิ่นโต” ก็คงต้องเอาอาหารใส่ในปิ่นโตเท่านั้น

ภาพจาก https://macaro-ni.jp/
ฉันเคยเห็นปิ่นโตสเตนเลสของไทยวางขายในห้างที่ญี่ปุ่นตามแผนกของกระจุกกระจิกด้วยค่ะ แน่นอนราคาแพงกว่าที่ไทยหลายเท่า เห็นแล้วก็คิดถึงปิ่นโตที่เคยใช้สมัยเด็ก ๆ อยากจะเอามาใช้ใส่อาหารเป็น “เบ็นโต” อยู่เหมือนกัน เสียแต่ว่าเอาเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟทั้งอย่างนั้นไม่ได้

คนไทยดูเหมือนจะคุ้นกับการเรียกปิ่นโตญี่ปุ่นว่า “เบ็นโตะ” จริง ๆ แล้วในภาษาญี่ปุ่นเรียก “เบ็นโต” หรือพูดให้เพราะหน่อยว่า “โอะเบ็นโต” (お弁当)

(ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก จาก “เบนโตะ” ของญี่ปุ่น ถึง “ปิ่นโต” ของไทย อาหารกับการเดินทาง - ถ้าอยากรู้เรื่อง “เบ็นโต” มากขึ้น ลองอ่านจากที่นี่ดูนะคะ สนุกดี )

ลอยกระทง
ไทยมี “ลอยกระทง” ส่วนญี่ปุ่นก็มี “ลอยโคม” จุดเทียนตรงกลางแล้วลอยในแม่น้ำเหมือนกัน แต่ความหมายของการลอยแตกต่างกัน คือของไทยลอยในวันเพ็ญเดือนสิบสองเพื่อขอบคุณพระแม่คงคา มีการจัดงานลอยกระทงอย่างสนุกสนาน แต่ญี่ปุ่นลอยโคมเพื่อรำลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว ปัจจุบันมักลอยโคมกันในช่วงโอบ้งหรือเชงเม้งญี่ปุ่น แต่ก็มีบางภูมิภาคที่ลอยในช่วงอื่นด้วยเช่นกัน

บางท้องถิ่นมีการเก็บโคมที่ปากแม่น้ำเพื่อไม่ให้ไหลลงทะเล แต่ก็ทำได้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้นเพราะการเก็บโคมมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่บางท้องถิ่นห้ามไม่ให้ลอยโดยเด็ดขาดเพราะไม่อยากให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

ฉันเคยไปร่วมลอยโคมมาครั้งหนึ่งด้วยค่ะ ตอนนั้นไปเยี่ยมเพื่อนที่ฮิโรชิมะในฤดูร้อนพอดี พอถึงวันที่ 6 สิงหาคมซึ่งเป็นวันครบรอบการทิ้งระเบิดปรมาณูลงฮิโรชิมะ เพื่อนจึงพาฉันไปสวนสันติภาพ (สวนสาธารณะเฮวะโคเอ็น) เพื่อร่วมลอยโคมที่แม่น้ำรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันนั้นด้วย บนโคมกระดาษสามารถเขียนข้อความได้ ซึ่งมักเขียนในเชิงแสวงหาสันติภาพ

การลอยโคมในวันครบรอบการทิ้งระเบิดปรมาณูจังหวัดฮิโรชิมะ ภาพจาก https://tabi-mag.jp/hiroshima-tourounagashi/
แม้ว่าแสงไฟจากโคมกระดาษที่วางเรียงรายประดับบนพื้นสวนและในแม่น้ำยามค่ำคืนจะสวยงาม แต่บรรยากาศก็สงบเงียบ คงเพราะนอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงสงครามอันโหดร้ายแล้ว ยังถือเป็นมารยาทที่จะต้องสำรวมเวลาลอยโคมด้วยเพราะเป็นการรำลึกถึงผู้ตาย

ฝอยทอง
ข้อนี้น่าจะมีหลายคนพอทราบกันอยู่บ้างนะคะ ฝอยทองญี่ปุ่นนั้นหน้าตาเหมือนฝอยทองไทยมากทีเดียว เป็นเพราะต้นฉบับขนมชนิดนี้มาจากโปรตุเกส และชาวโปรตุเกสก็เข้าไปทั้งไทย(สมัยอยุธยา)และญี่ปุ่น(สมัยอาสึจิโมโมยามะ ตรงกับ พ.ศ. 2116 - 2416)

ญี่ปุ่นเรียกฝอยทองว่า “เครังโซเม็น” 鶏卵素麺 แปลตรงตัวว่า ‘เส้นหมี่ไข่ไก่’ เวลาคนไทยรับประทานฝอยทองมักจะรับประทานจากทั้งแพ ของญี่ปุ่นดูจะนิยมตัดให้สั้นก่อนเพื่อให้รับประทานง่ายเป็นคำ ๆ ไป

เครันโซเม็น ภาพจาก https://www.hachi8.me/knowledge-of-chicken-egg-noodles/
หมายเหตุ: “เครันโซเม็น” เป็นคนละอย่างกับ “รัมเม็น” หรือ “ทามาโหงะเม็น” 卵麺 ซึ่งเขียนคล้ายกันและแปลว่า “เส้นไข่” หรือ “บะหมี่ไข่” จะหมายถึงบะหมี่ที่ใช้ทำอาหาร

ฝอยทองอาจจะไม่ได้แพร่หลายมากในญี่ปุ่นเท่ากับที่เมืองไทย ในขณะที่ไทยอาจจะยกย่องให้ขนมโปรตุเกสตระกูล “ทอง” ทั้งหลายเป็นขนมไทยและพบเห็นได้ทั่วไป แต่คนญี่ปุ่นบางคนก็ไม่รู้จัก “เครังโซเม็น” อีกทั้งยังหาซื้อค่อนข้างยาก ร้านที่ขายมักอยู่ในภูมิภาคคิวชู ซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดนางาซากิอันเป็นสถานที่ที่อดีตโปรตุเกสเคยเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนกับญี่ปุ่น

ที่จริงก็ยังมีอะไรอีกมากมายที่ไทยและญี่ปุ่นมีคล้ายกัน แต่เนื้อที่หมดเสียก่อน เอาไว้ถ้าเจอเกร็ดน่ารู้เล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้อีกจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.


กำลังโหลดความคิดเห็น