นายกฯชินโซ อาเบะ ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากสุนทรพจน์ไว้อาลัยเหตุระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิแทบจะเหมือนกันทุกตัวอักษร สะท้อนถึงความไม่จริงใจและมักง่าย
ผู้นำญี่ปุ่นได้กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาส 75 ปี ระเบิดปรมาณูเมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 ส.ค. และเมืองนางาซากิวันที่ 9 ส.ค. แต่เมื่อใช้โปรแกรมตรวจความซ้ำซ้อน (plagiarism) พบว่าสุนทรพจน์ทั้ง 2ครั้งมีความเหมือนกันมากถึง 93%
นายอาเบะเริ่มต้นสุนทรพจน์ว่า “ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างถึงที่สุดแด่ดวงวิญญาณของเหยื่อระเบิดปรมาณูจำนวนมาก และขอแสดงความเห็นใจด้วยใจจริงแด่ผู้ที่ยังคงทุกข์ทนอยู่จนถึงทุกวันนี้จากผลกระทบของระเบิดปรมาณู”
นอกจากชื่อของพิธีที่ต่างกันแล้ว เนื้อความส่วนส่วนอื่นในสุนทรพจน์เหมือนกันแทบจะทุกคำพูด
ส่วนที่แตกต่างกันเพียงส่วนเดียวในสุนทรพจน์ 2 ครั้ง คือ เขาพูดถึงเมืองฮิโรชิมาว่า “ ถึงแม้จะย่อยยับเมื่อ 75 ปีก่อนจากระเบิดปรมาณูเพียงลูกเดียว แต่ฮิโรชิมาได้สร้างเมืองที่งดงามขึ้นใหม่ด้วยความอุตสาหะของคนรุ่นก่อน”
ส่วนที่เมืองนางาซากิ เขากล่าวว่า “วันนี้เมื่อ 75 ปีก่อน นางาซากิกลายเป็นเถ้าถ่าน ไม่มีต้นไม้หรือเศษกระจกหลงเหลือแม้เพียงชิ้นเดียว แต่จากความอุตสาหะของประชาชน การบูรณะฟื้นฟูประสบความสำเร็จอย่างงดงามอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้”
ขณะที่ส่วนจบท้ายของสุนทรพจน์ก็เหมือนกันทุกกระเบียด นายอาเบะกล่าวว่า “ข้าพเจ้าให้คำมั่นว่าญี่ปุ่นจะทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อให้โลกปลอดอาวุธปรมาณูและมีสันติภาพชั่วนิรันดร์”
ชาวญี่ปุ่นยังบอกว่า ไม่เพียงแค่สุนทรพจน์ในปีนี้จะเหมือนกันทั้งที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ แต่ยังไม่ต่างจากเมื่อปีที่แล้วและปีก่อนหน้า นายอาเบะกล่าวสุนทรพจน์ 6 ครั้งใน 3 ปีโดยแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย
โคอิจิ คาวาโนะ ผู้รอดชีวิตจากเหตุปรมาณูที่เมืองนางาซากิวัย 80 ปีระบุว่า “นายอาเบะพูดเหมือนๆกันทุกปี แล้วก็จากไป แค่เปลี่ยนคำว่าฮิโรชิมาเป็นนางาซากิเท่านั้น นี่เป็นการดูถูกเหยื่อจากเหตุการณ์ครั้งนั้น”
ฮารูโกะ โมริทากิ ผู้รอดชีวิตที่เมืองฮิโรชิมาวัย 81 ปี กล่าวว่า “นายอาเบะบอกว่าจะอยู่เคียงข้างเหยื่อระเบิดปรมาณูซึ่งมีอายุมากขึ้นทุกปี แต่ว่าไม่มีการกระทำอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย ดีแต่พูดเท่านั้น เหมือนกับสุนพรพจน์ของเขาที่ซ้ำไปซ้ำมา”
โลกออนไลน์ของญี่ปุ่นต่างวิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากปีนี้เป็นโอกาส75 ปีของเหตุโศกนาฏกรรมนี้ และเป็นวาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งของนายอาเบะ เขาควรจะมีสุนทรพจน์ที่น่าประทับใจ เพื่อให้เป็นที่จดจำของประชาชน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเขียนสุนทรพจน์เอง เขาเพียงแต่ใช้มืออาชีพช่วยเขียนเพื่อแสดงความจริงใจต่อประชาชน แต่นายอาเบะกลับไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ ชาวญี่ปุ่นบอกว่านี่แสดงว่าผู้นำญี่ปุ่นมาร่วมพิธีตามกำหนดการเท่านั้น ไม่ได้มีความจริงใจแต่อย่างใด.