รอยเตอร์/เอเอเอฟพี – นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ มีรายงานปีนี้ไม่เดินทางไปเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิแต่ส่งเครื่องสักการะไปแทน ขณะที่เมืองนางาซากิในเช้าวันอาทิตย์(9 ส.ค)จัดพิธีรำลึกครบรอบ 75
ปีที่เมืองถูกสหรัฐฯโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาวเมืองเสียชีวิตไป74,000 คน
รอยเตอร์รายงานวันนี้(9ส.ค)ว่า แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยกับสื่อจีจี้ของญี่ปุ่นว่า “เขาจะใช้เงินส่วนตัวในฐานะผู้นำพรรครัฐบาลลิเบอรัลเดโมแครตในการจัดเครื่องบวงสรวงต่อศาลเจ้า(ศาลเจ้ายาสุกุนิ)”
ซึ่งศาลเจ้ายาสุกุนิแห่งนี้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่
2 ต่อเพื่อนบ้านเช่นจีนและเกาหลีใต้
โดยอาเบะเดินทางไปเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม ปี 2013 ขณะเดียวกันที่เมืองนางาซากิในวันอาทิตย์(9)ได้มีการจัดพิธีครบรอบ 75 ปีที่เมืองถูกสหรัฐฯโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์และทำให้มีผู้เสียชีวิตไป74,000 คน
เอเอฟพีรายงานวันอาทิตย์(9)ว่า ผู้เข้าร่วมพิธีได้ยืนสงบนิ่งในเวลา 11:02 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ระเบิดได้ถูกหย่อนลงไปที่เมือง
ด้านนายกเทศมนตรีเมืองนางาซากิ โทมิฮิสะ ทาอูอิ(Tomihisa Taue)กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “ความจริงที่น่าสะพรึงกลัวของอาวุธนิวเคลียร์ยังไม่ได้รับการทำให้เป็นที่ประจักษ์ต่อโลกในวงกว้าง”ถึงแม้จะมีความพยายามมานานร่วมหลายสิบปีโดยผู้รอดชีวิตในการเล่าถึงประสบการณ์ที่เหมือนฝันร้ายนั้น
และเสริมต่อว่า “หากว่า...พร้อมไปกับวิกฤตโรคไวรัสโคโรนาระบาดที่พวกเราไม่บังเกิดความกลัวจนกระทั่งมันเริ่มแพร่ระบาดกระจายไปทั่วอย่างรวดเร็ว...มนุษยชาติจะยังคงไม่ตระหนักถึงภัยของอาวุธนิวเคลียร์จนกระทั่งพวกเขาจะใช้มันอีกครั้ง
เราจะพบตัวเองอยู่ในการการคาดการณ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาได้”
ด้านเลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส ได้ออกแถลงการณ์ที่ได้รับการอ่านในพิธีโดยรองเลขาธิการสหประชาชาติชาวญี่ปุ่นอิซูมิ นากามิตสุ (Izumi Nakamitsu) ได้เตือนว่า ความคาดหวังถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่ว่าจะเป็นโดยตั้งใจหรือไม่นั้นถือเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง
“ความก้าวหน้าครั้งประวัติศาสตร์ต่อการปลอดอาวุธนิวเคลียร์นั้นอยู่ในความเสี่ยง...ความเป็นไปได้ที่น่าตกใจนี้สมควรต้องถูกเปลี่ยนกลับทันที”
เอเอฟพีชี้ว่า ขณะเดียวกันอาเบะได้ออกมาแสดงตัวด้วยข้อความเดิมอีกครั้งในการที่จะให้ “ญี่ปุ่น” เป็นผู้นำพาโลกไปสู่ความพยายามของประชาคมโลกเพื่อให้ถึงการตระหนักของโลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ถาวร
หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์สหรัฐฯ เทรูมิ ทานากะ(Terumi
Tanaka)วัย 88 ปีซึ่งประสบเหตุในขณะที่มีอายุได้เพียง 13 ปีแสดงความเห็นว่า ผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์สหรัฐฯเชื่อว่า
โลกจำเป็นต้องปลอดอาวุธนิวเคลียร์อย่างถาวรเป็นเพราะพวกเราไม่ต้องการให้คนรุ่นใหม่ต้องประสบสิ่งที่เหมือนกันและยังกล่าวว่า ป้า 2 คนได้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีด้วยนิวเคลียร์ครั้งนี้