xs
xsm
sm
md
lg

อ.อ๊อด ตั้ง 3 มูลเหตุระเบิด กรุงเบรุต หลัง “ทรัมป์” อ้างอาจก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีเหตุระเบิดครั้งใหญ่กลางกรุงเบรุต ของเลบานอน เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 4 ส.ค. 63 คร่าชีวิตคนไปแล้ว 135 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 4,000 คน ในขณะที่ทางการประกาศไว้อาลัยต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เป็นเวลา 3 วัน นับตั้งแต่วันนี้ (5 ส.ค.) เป็นต้นไป

วันนี้ (6 ส.ค.) รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ว่า แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate, NH4NO3) เป็นสารประกอบที่เกิดจากปิโตรเคมี โดยการใช้กรดไนตริก (Nitric acid ,HNO3) ทำปฏิกิริยากับ แอมโมเนีย (ammonia ,NH3) จะได้สารประกอบที่ชื่อว่า แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate,NH4NO3) เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มสารวัตถุระเบิด ซึ่งมีอยู่สองประเภท คือ สารวัตถุระเบิดที่มีแรงดันต่ำ และสารวัตถุที่มีแรงดันสูง โดยแอมโมเนียมไนเตรต จัดเป็นสารวัตถุระเบิดแรงดันสูงเนื่องจากมีอัตราการเผาไหม้เร็วกว่า 1 กิโลเมตรต่อวินาที เช่น กรณีการนำแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) มาโรยเป็นทางยาว 1 กิโลเมตร สามารถจุดไฟติดได้ภายใน 1 วินาที โดยปกติแล้วอัตราเร็วในการเผาไหม้ของมันอยู่ที่ประมาณ 3.5 กิโลเมตรต่อวินาที ส่วนปริมาณแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ที่ถูกเก็บไว้ในโกดังภายในกรุงเบรุต เลบานอน ตามรายงานข่าวที่แจ้งว่ามีอยู่ 2,750 ตัน ซึ่งมีปริมาณเยอะมาก และแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) คือ สารเคมีที่มีตัวออกซิไดเซอร์ในตัว คือ มีออกซิเจน อยู่ในตัวเป็นสาเหตุที่มันติดไฟได้ดี ซึ่งการติดไฟจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง คือ ออกซิเจน บวกกับ เชื้อเพลิง (ในที่นี้แทนด้วยสารเคมีนั้นๆ) บวกกับ ความร้อน หรือ ประกายไฟ เพราะฉะนั้นสาเหตุที่เกิดระเบิดขึ้น มาจากแหล่งความร้อน ซึ่งแหล่งความร้อนเกิดได้ 2 แบบ คือ 1. มีคนมาจุด ตามที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาให้ข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเหตุวินาศกรรมหรือไม่ 2.เกิดจากอุบัติเหตุ โดยจากรายงานข่าวแจ้งที่ว่าโกดังดังกล่าวมีช่างไปซ่อมทำการเชื่อมโลหะจนเกิดประกายไฟไปถูกสารแอมโมเนียไนเตรต (ammonium nitrate) ที่อยู่ในโกดังจนเกิดเพลิงไหม้และเกิดระเบิด

ทั้งนี้ ลักษณะการระเบิดของแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) จะเกิดระเบิดสองระลอก ในรูปแบบเดียวกันซึ่งเคยเกิดเหตุขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมเทียนจิน ประเทศจีน เมื่อปี 2558 บริเวณท่าเรือแต่ห่างไกลชุมชนความเสียหาย จึงมีความน้อยกว่ากรุงเบรุตที่มีการเก็บสารเคมีดังกล่าวไว้ในโกดังท่าเรือใกล้เมืองใหญ่โดยวัดระดับความสั่นสะเทือนตามหลักเกณฑ์ของการเกิดแผ่นดินไหวได้ 2.3 ริกเตอร์

แต่กรณีการเกิดเหตุที่กรุงเบรุต จากแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) จำนวน 2,750 ตัน ที่มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของสถานะจากของแข็งกลายเป็นก๊าซอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการเผาไหม้ 3.5 กิโลเมตรต่อวินาที จึงเกิดเหตุฉับพลันทันที ไม่ว่าความร้อนจะเกิดจากการเชื่อมโลหะ หรือการก่อวินาศกรรมก็ตาม จากนั้นจะเกิดคลื่นความดันที่เรียกว่า เพรสเชอร์เวฟ (Pressure Wave) โดยดันก๊าซร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ออกไป ตามที่ปรากฏในคลิปเหตุการณ์ระเบิดที่กรุง มีลักษณะเป็นวงสีขาวโดยรอบคล้ายดอกเห็ด แต่จุดระเบิดที่เป็นเปลวไฟจะอยู่ตรงกลางและลอยขึ้นด้านบน ความเสียหายจึงจะเกิดจากคลื่นความดัน เพรสเชอร์เวฟ (Pressure Wave) ของก๊าซร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนสถานะฉับพลัน จากแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ที่มีสถานะเป็นของแข็งให้กลายเป็นก๊าซทันที เห็นได้จากตึกที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุไม่พังทั้งตึก เพราะระเบิดดังกล่าวไม่มีสะเก็ดระเบิด แต่หากเป็นระเบิดที่มีเปลือกหุ้ม หรือว่ามีการใส่สะเก็ดเข้าไปตึกนั้นจะราบเป็นหน้ากลอง

ส่วนรัศมีการกระจายตัวของเพรสเชอร์เวฟ (Pressure Wave) จากภาพ 𝙱𝚒𝚛𝚍 𝙴𝚢𝚎 𝚟𝚒𝚎𝚠 ประมาณ 10 กิโลเมตร แต่ล่าสุดรายงานข่าวแจ้งว่ารัศมีของ เพรสเชอร์เวฟ (Pressure Wave) วานนี้อยู่ที่ 35 กิโลเมตร ค่าแรงสั่นสะเทือนวัดได้อยู่ที่สาม 3.3 ริกเตอร์ โดยมีรัศมีไกลไปถึง 240 กิโลเมตร

นอกจากนี้ อ.อ๊อด ยังให้ข้อมูลอีกว่า ธรรมชาติของแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) นอกจากจะเป็นสารจุดระเบิดแล้วยังสามารถใช้ได้ในอุตสาหกรรมการเกษตรอีกด้วย สามารถใช้เป็นปุ๋ยเพื่อให้พืชสามารถดูดซึมไนโตรเจนได้เร็ว แต่บางพื้นที่ไม่ได้ใช้แล้วเนื่องจากเป็นสารควบคุม ส่วนการจัดเก็บแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) คือ ต้องห่างจากวัตถุไวไฟ ประกายไฟ แหล่งกำเนิดไฟ พื้นที่จัดเก็บต้องระบายอากาศได้ดี และต้องห่างไกลชุมชน 

แต่จากรายงานข่าวเหตุระเบิดที่กรุงเบรุต พบว่า ในโกดังเก็บสินค้าที่มีการเก็บแอมโมเนียไนเตรต (ammonium nitrate) ในลักษณะทับทมกันไปมา ถุงละ 1 ตัน จำนวนถึง 2,750 ตัน ซึ่งการกดทับในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้ด้านล่างมีความร้อนสะสม ซึ่งหากเกิดความร้อนสะสมกับแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) สามารถเกิด Spontaneous combustion (สปอนเทเนียส คอมบัสชั่น) การเผาไหม้ได้ด้วยตนเอง หรือ เกิดการติดไฟได้ด้วยตนเอง เนื่องจากสารกลุ่มนี้หากมีความร้อนเหมาะสมจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยตนเอง เพราะมีออกซิเจนอยู่ในตัว (Self oxidation) โดยไม่ต้องอาศัยออกซิเจนภายนอก

ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่สนามบินสุวรรณภูมิประเทศไทย กรณีมีบุคคลลักลอบนำตัวอย่างปุ๋ยใส่ในกระเป๋าเดินทางในปริมาณมาก ต้องการนำไปให้ลูกค้าดูที่ประเทศกัมพูชา แต่ระหว่างการลำเลียงขณะอยู่บนสายพานเกิดเพลิงไหม้เพราะเกิดการบีบอัดอยู่ในกระเป๋า โดยสารเคมีในกลุ่มนี้จะมียูเรีย (urea) แอมโมเนียม (ammonium) และกลุ่มเปอร์คลอเรท (perchlorate) ที่เคยเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ในสารกลุ่มเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีออกซิเจนอยู่ในตัวเช่นกัน ซึ่งเปอร์คลอเรต (perchlorate) และ แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) นิยมใช้เป็นปุ๋ยเช่นกัน แต่ก็เป็นสารก่อวัตถุระเบิดได้


เมื่อถามว่า แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ที่เมืองไทยยังมีการใช้งานอยู่หรือไม่ อาจารย์อ๊อด ระบุว่า มีแต่อยู่นอกบัญชีโดยจะเห็นว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้เป็นสารทำวัตถุระเบิดก่อเหตุความไม่สงบ ซึ่งหากนำแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ผสมกับน้ำมันดีเซลตามปริมาณที่สมควรก็จะกลายเป็นวัตถุระเบิดทางทหารได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นสารในกลุ่มแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate), เปอร์คลอเรต (perchlorate) เป็นสารควบคุม และเป็นสารที่อยู่ในกฎกระทรวงกลาโหม ส่วนปุ๋ยที่อยู่ในกลุ่มของยูเรีย (urea) อยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรใช้ได้ แต่หากถูกผสมด้วยกรดไนตริก (Nitric acid) แล้วจะเป็นกลายแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการขอใช้สูตรเดี่ยวของปุ๋ยจะต้องขออนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะประเทศไทยมีการควบคุมดูแลอยู่

นอกจากนี้ อาจารย์อ๊อด ยังระบุว่า สารแอมโมเนียไนเตรต (ammonium nitrate) เป็นสารที่หายากในประเทศไทย แต่ก็สามารถหาได้ เพราะว่ามีการลักลอบขายแต่โดยหลักความจริงแล้วเป็นสารควบคุม ส่วนในกลุ่มปุ๋ยที่มีการดัดแปลงมาเช่น ยูเรีย (urea) สูตรเดี่ยว อย่างที่เรียกกันสั้นๆ ว่า N-P-K (36-0-0) คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปรแตสเซียม (K) ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ส่วนใหญ่ใช้ในการเกษตรเพื่อให้ธาตุไนโตรเจน (N) กับพืช แต่นักเคมีและผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านนี้รู้วิธีดัดแปลงให้เป็นแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ไปจนถึงสร้างเป็นวัตถุระเบิดที่มีแรงดันสูงเพื่อใช้ทางการทหารได้

นอกจากนี้ อาจารย์อ๊อด ยังระบุถึงกรณีที่มีการเปรียบเทียบระหว่างเหตุระเบิดที่กรุงเบรุต กับเหตุระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมา นางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น โดยจากคลิปเหตุการณ์ที่บันทึกภาพการเกิดคลื่นความดัน Pressure Wave ที่มีลักษณะเหมือนดอกเห็ด แต่ดอกเห็ดตรงนั้น มีความรุนแรงมากกว่าที่กรุงเบรุต 100 เท่า เพราะว่าภาพที่ถ่ายเป็นมุมใกล้ แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นถูกถ่ายจากบนเครื่องบิน อีกทั้งเหตุระเบิดนิวเคลียร์เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่จะเกิดไปเรื่อยๆ และมีระยะของแรงระเบิดไปไกลถึงกว่า 200 กิโลเมตร เราอาจจะรอด แต่เราอาจจะได้รับความเสียหายจากกัมมันตรังสี เพราะฉะนั้นความรุนแรง มันเทียบกันไม่ได้ แต่หากมีกรณีที่นำเอาแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ไปเทียบกับระเบิด ทีเอ็นที (Trinitrotoluene, TNT) ซึ่งเป็นระเบิดแรงดันสูง และอยู่ในกลุ่มสารวัตถุระเบิดแรงดันสูง แต่ไม่มีประโยชน์ในทางการเกษตรและด้านอื่นๆ เพราะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นระเบิดอย่างเดียว และมีอัตราการเผาไหม้ที่เร็วกว่าแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) 30% และไม่สามารถหาได้ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ไม่มีกัมมันตรังสีเหมือนระเบิดนิวเคลียร์ แต่ความเสียหายจะเกิดจากคลื่นความดันที่เกิดจากก๊าซร้อนขยายตัวอย่างฉับพลัน หรือ Pressure Wave ซึ่งยังดีที่โกดังกรุงเบรุตดังกล่าวเปราะบางไม่ใช่ปูนซีเมนต์หนาขนาด 10 เมตร ไม่เช่นนั้น อาจจะเกิดสะเก็ด ที่ถูกแรงดันอัดกระจายตามรัศมี Pressure Wave เป็นวงกลมซึ่งจุดเกิดเหตุกรุงเบรุตอยู่ตรงท่าเรือ จึงเกิดความเสียหายแค่ครึ่งเดียวแต่หากอยู่ใจกลางเมืองก็จะยิ่งเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก

พร้อมกันนี้ อาจารย์อ๊อด ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเลบานอนได้ออกมาระบุว่า เหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวเกิดจากอุบัติเหตุนั้น อาจารย์อ๊อด มองว่าเป็นไปได้ เนื่องจาก แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) ปริมาณ 2,750 ตัน ถูกวางกดทับกันสามารถเกิด สปอนเทเนียส คอมบัสชั่น (Spontaneous combustion) หรือ การติดไฟด้วยตนเองได้ เพราะว่า สารแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) มีออกซิเจนเยอะจึงเกิด Self oxidation (เซลฟ์ออกซิเดชั่น)
และขณะนี้ที่ รัฐบาลเลบานอน ระบุว่า มีคนงานเข้าไปเชื่อมโลหะใกล้บริเวณโกดัง ทำให้เกิดประกายไฟขึ้นก็สามารถส่งผลให้สารแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) เกิดติดไฟและทำให้เกิดการระเบิดได้ แต่หากวิเคราะห์ไปถึงกรณีการเมืองระหว่างประเทศเลบานอน กรุงเบรุต อยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ที่มีผลกระทบในการเมืองระหว่างประเทศหลายขั้วอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาให้สัมภาษณ์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ภายในทันที โดยระบุว่าเป็นเรื่องของการก่อการร้าย ฉะนั้นประเด็นที่ 3 ของการเกิดไฟอาจเกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น อาจจะรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นโกดังเก็บสารเคมีอย่างแอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate) จำนวนมากซึ่งเป็นสารวัตถุระเบิดกว่า 2,000 ตันประเด็นของ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถตัดทิ้งได้

ดังนั้น หน่วยข่าวกรองทั้งสองฝั่งต้องมีการสืบข้อเท็จจริงให้แน่ใจว่า เหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะปกติแล้วสารวัตถุระเบิดเช่นนี้ เมื่อวางตั้งไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีบุคคลเดินเข้าไปจุดไฟก็ได้ แต่สามารถใช้อาวุธปืนยิงผ่านเข้าไปยังตัวสารเคมี กระสุนที่เกิดการเสียดสีจะเกิดความร้อนมากพอที่จะทำให้ติดไฟและเกิดการระเบิดได้เช่นกัน จึงไม่สามารถตัดประเด็นเรื่องการก่อการร้ายออกได้


กำลังโหลดความคิดเห็น