xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นจัดพิธีรำลึกครบรอบ 75 ปีระเบิดปรมาณูถล่ม ‘ฮิโรชิมา’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นร่วมรำลึกครบรอบ 75 ปีที่เมืองฮิโรชิมาถูกทำลายล้างด้วยระเบิดปรมาณูเป็นครั้งแรกของโลกในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพิธีรำลึกในปีนี้ถูกลดขนาดลงมาเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ผู้รอดชีวิต ครอบครัว และแขกผู้มีเกียรติจากต่างประเทศจำนวนหนึ่ง เดินทางไปร่วมพิธีรำลึกซึ่งจัดขึ้นที่อนุสรณ์สถานภายในสวนสันติภาพแห่งเมืองฮิโรชิมาวันนี้ (6 ส.ค.) เพื่อสวดภาวนาให้แก่เหยื่อที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากพลังทำลายล้างของระเบิดนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันธำรงไว้ซึ่งสันติภาพโลก

ผู้ร่วมพิธีซึ่งส่วนใหญ่แต่งชุดดำและสวมหน้ากากอนามัยต่างยืนสงบนิ่งในเวลา 08.15 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ระเบิดปรมาณู ‘ลิตเติลบอย’ ถูกปล่อยจากเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29 “อีโนลา เกย์” ลงเหนือเมืองฮิโรชิมะ

คาซูมิ มัตซุอิ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมา ได้กล่าวสุนทรพจน์เตือนอันตรายของลัทธิชาตินิยมซึ่งทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น และเรียกร้องให้คนทั่วโลกร่วมแรงร่วมใจกันเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทุกรูปแบบ รวมถึงโรคระบาดโควิด-19

“เราจะต้องไม่ยอมให้อดีตอันเจ็บปวดนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก คนในสังคมจะต้องปฏิเสธลัทธิชาตินิยมที่มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง และผนึกกำลังกันต่อสู้ภัยคุกคามต่างๆ” มัตซุอิ กล่าว

ด้านนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อขยายบทบาททางทหารของญี่ปุ่น รับปากว่า “จะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้โลกนี้ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์และมีสันติภาพตลอดไป”

อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านคลิปวิดีโอ โดยเตือนว่า “หนทางเดียวที่จะกำจัดความเสี่ยงจากนิวเคลียร์ได้ก็คือ ต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไป”

ผลจากระเบิดปรมาณูลูกแรกทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีและเจ็บป่วยจากการสัมผัสกัมมันตภาพรังสีก่อนจะตายรวมกันประมาณ 140,000 คน ซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียง 3 วัน เมืองท่านางาซากิของญี่ปุ่นก็ประสบกับชะตากรรมไม่ต่างกันจนมีผู้เสียชีวิตไป 74,000 คน

ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 ส.ค. ปี 1945

สหรัฐอเมริกาไม่เคยเอ่ยคำขอโทษที่นำระเบิดปรมาณูมาใช้กับญี่ปุ่น และทุกวันนี้นักวิจารณ์ยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่า การทิ้งระเบิดปรมาณูทั้ง 2 ลูกเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการยุติสงครามจริงหรือไม่

นักประวัติศาสตร์บางคนชี้ว่า การสูญเสียที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ ได้ช่วยชีวิตพลเมืองโลกอีกนับล้านๆ คน ที่อาจจะต้องตายหากกองทัพญี่ปุ่นสามารถเดินตามแผนรุกรานที่วางไว้ ในขณะที่นักวิจารณ์บางรายกลับมองว่าการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดปรมาณูเข้าช่วย เพราะถึงอย่างไรเสียกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะแพ้แน่นอนอยู่แล้ว

ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่าการที่สหรัฐฯ ใช้ระเบิดปรมาณูอาจเข้าข่ายก่อ “อาชญากรรมสงคราม” เพราะเป็นการพุ่งเป้าสังหารคนบริสุทธิ์แบบไม่เลือกหน้า และสร้างความสูญเสียร้ายแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อปี 2016 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่ไปเยือนฮิโรชิมา และแม้จะไม่ได้กล่าวขออภัยต่อญี่ปุ่น แต่ โอบามา ก็เข้าไปโอบกอดเหยื่อผู้รอดชีวิตและเรียกร้องให้โลกปลอดจากนิวเคลียร์








กำลังโหลดความคิดเห็น