สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว คิดว่าใครๆ ก็คงจะเคยเจอปัญหากันมาบ้างไม่มากก็น้อย เวลามีปัญหาเพื่อนๆ ทำอย่างไรครับ ค่อยๆ คิดแก้ปัญหา , เขียนบันทึก , ปรึกษาเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจได้ หรือเคยช่วยเพื่อนแก้ปัญหา เคยให้คำแนะนำเพื่อนบ้างไหม บางปัญหาก็แนะนำได้ แต่บางทีรับฟังอย่างเดียวก็น่าจะดีกว่า ซึ่งไม่ว่าปัญหาที่เจอนั้นจะเกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็ต้องคิดไตร่ตรองอย่างมีสตินะครับ ถ้าพูดถึงคนญี่ปุ่น ด้วยสภาพสังคมความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่น ก็เผชิญปัญหาหลายๆ อย่างเหมือนกัน ส่วนปัญหาหลักๆ อย่างหนึ่งนั้นก็คือเรื่องงานนั่นเอง
เรื่องสภาพงาน สิ่งแวดล้อมในงานก็เป็นปัจจัยปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นเกิดความเครียด เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจและความวิตกกังวลจนถึงขั้นมีผลกระทบในชีวิตประจำวันอย่างมากเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรับตัวในที่ทำงาน, ความกดดัน, การทำงานอย่างหนักเกินเวลา , ความกดดันจากเพื่อนและผู้บังคับบัญชาจนเกิดความเครียด, โดนกลั่นแกล้ง , โดนบีบบังคับ เป็นต้น คนที่เจอปัญหารุมเร้าหนักๆ อาจถึงขั้นมีความคิดอยากจะเปลี่ยนงานใหม่หรืออยากจะลาออกให้รู้แล้วรู้รอด แต่ว่าการเปลี่ยนงานหรือการย้ายงาน แม้กระทั่งการลาออกจากงานนั้น เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่นึกจะทำก็ทำได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่แม้จะมีปัญหาเรื่องงานอย่างหนัก อยากลาออกมากๆ อยากไปหางานใหม่มากแค่ไหนก็ทำไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้กลุ้มใจนั่นเอง
■ช่วงเริ่มต้นหางาน : แค่เริ่มตั้งแต่ช่วงสมัครเข้าทำงานที่ใดที่หนึ่งนั้นก็ว่ายากแล้ว เพราะระบบการรับคนเข้าทำงานของบริษัทส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น มีเงื่อนไขอยู่ข้อหนึ่งคือบริษัทส่วนใหญ่จะรับเด็กจบใหม่หมาดๆ ซิงๆ ในปีนั้นๆ เท่านั้น จึงทำให้เป็นโอกาสเดียวของคนจบใหม่ที่จะต้องแย่งชิงตำแหน่งงานมาให้ได้ ไม่ว่าจะเรียนจบระดับมัธยมปลาย- ปริญญาตรี -หรือสูงกว่าก็ได้ แต่เป็นเด็กจบใหม่ในปีนั้นๆ แต่มีวิธีเข้าทำงานอีกวิธีหนึ่งไม่ต้องเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยแค่จบมัธยมศึกษาก็ได้ ไม่ต้องไปสอบแข่งกับคนอื่นก็สามารถเข้าทำงานได้เช่นกัน นั่นคือ กรณีของคนที่เรียนจบมัธยมศึกษาของรัฐบาลที่มีผลงานยอดเยี่ยมสามปีในระดับมัธยมที่ผ่านมาเคยเป็นกัปต้นทีมเบสบอลของโรงเรียนมาตลอด 3 ปี เขาสามารถขอให้คุณครูที่โรงเรียนช่วยเขียนจดหมายแนะนำส่งให้บริษัทรับเข้าทำงานได้ สมัครโควต้าได้แม้กระทั่งบริษัทโตโยต้า ใครอยากเข้าทำงานได้เลยก็ต้องเป็นกัปตันทีมเบสบอลของโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐบาลที่อยู่ในเป้าหมายนะครับ เพียงแต่กว่ากัปตันทีมนี่ไม่ใช่หมูๆ นะครับ กว่าจะได้มาซึ่งการทำงานในลักษณะแบบนี้ยากและโหดมากมาย ต้องวางแผนกันตั้งแต่สิบขวบกระมัง กลับกันถ้าเป็นนักศึกษาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วรอสมัครเข้าไปทำงานที่โตโยต้าก็ยากเต็มที ถ้าปีนั้นไม่ได้เข้าทำงานก็อาจจะต้องไปเรียนต่อปริญญาโทเพื่อมาสมัครงานที่โตโยต้าสำนักงานใหญ่ดูอีกที ถ้าไม่ได้อีกก็อาจจะต้องไปหาทางเรียนต่อมากกว่าระดับปริญญาโท ไปจนถึงระดับปริญาเอก สิ่งที่อยากพูดคือการจะเข้าทำงานที่บริษัทญี่ปุ่นว่ายากแล้วตามเงื่อนไขต้องเป็นนักเรียนนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ อีกด้วย จะจบมัธยมศึกษา หรือว่าถ้าจบมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีก็ตาม หรือให้สูงขึ้นไปอีกเรียนต่อไปให้จบระดับปริญญาโทแล้วลองสมัครใหม่อีกสองปี รอคอยกันยาวนานเลยและไม่สามารถการันตีได้ว่าจะได้เข้าทำงานหรือไม่
■ช่วงที่ได้งานเข้าไปอยู่ในโลกของพนักงานบริษัท: ช่วงที่นักเรียนนักศึกษาหางาน เริ่มสอบเข้าทำงานว่ายากแล้ว เมื่อเข้าไปทำงานได้แล้วกลับกลายเป็นว่ายิ่งอยู่ๆ ไปทำไมมันยากยิ่งกว่าเดิม เพราะหลายคนเกิดความกดดันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องระบบที่ทำงาน กฏระเบียบข้อบังคับ รายได้และสวัสดิการ เรื่องคน และอื่นๆ มีเพื่อนๆ คนไทยหลายคนเล่าให้ผมฟังว่าถ้ามีปัญหาเรื่องงานก็แค่ลาออกเพื่อหางานใหม่ บางคนลาออกเพื่ออัพเงินเดือน หรืออยากเลื่อนตำแหน่งก็ตาม ลักษณะนี้ไม่ค่อยมีที่ญี่ปุ่นครับ ผมไม่เคยเห็นคนญี่ปุ่นที่มีปัญหาเรื่องงานแล้วลาออกไปหางานใหม่นักหรือแทบจะไม่มีเลยตั้งแต่ที่ผมเคยได้ยินจากคนรอบข้างมา เพราะอะไรอย่างหนึ่งก็คือการเข้างานนั้นยากมาก เมื่อเข้าไปทำงานได้แล้วก็อดทนทำไป ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจะมาย้ายไปหางานอื่นมันไม่ได้ หนึ่งเขาจะไม่ใช่เด็กจบใหม่อีกต่อไป สองไม่รู้อนาคตว่าถ้าย้ายไปที่ใหม่จะดีกว่าเดิมจริงหรือ สามบางคนทำงานเดิมมานานครั้นจะไปเริ่มต้นใหม่ก็ไม่มีทักษะอื่น หรือบริษัทอื่นๆ ก็ไม่มีตำแหน่งว่างเหมือนกัน ต่างคนต่างทำงานกันยาวจนเกษียณงานกันทั้งนั้น ( พูดถึงกรณีของพนักงานบริษัทนะครับ อาจจะยกเว้นพวกงานพาร์ทไทม์ ที่อาจะเปลี่ยนงานได้เรื่อยๆ ) และส่วนใหญ่ถ้าตัดสินใจเปลี่ยนงานไปก็อาจจะไปเจอที่แย่กว่าเดิม ไม่ดีเหมือนเดิม เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวพนักงานทั้งหลายมีความวิตกกังวลในประเด็นเหล่านี้กันมาก ทำให้เกิดความเคร่งเครียดและคิดไม่ตกว่าจะเอาอย่างไรกับสภาพที่เจออยู่ดี ถ้าลาออกไปจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือเปล่า จะอยู่ก็กล้ำกลืนฝืนทน หลายคนตัดสินใจกระโดดรถไฟฆ่าตัวตายไปอย่างที่ได้ยินในข่าวอยู่บ่อย ๆ ด้วยความที่เขามีปัญหา มีความวิตกกังวลกับปัญหาที่ทำงาน และมองไม่เห็นอนาคตว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร รวมถึงเรื่องการดำรงชีวิตต่ออย่างไร ก็เลยคิดสั้นไปเลย สภาพสังคมญี่ปุ่นเป็นแบบนี้จริงๆ ครับ
ยิ่งในสภาวะปัจจุบันนี้ ยิ่งแย่ การหางานในสภาวะปกติก็ว่ายากอยู่แล้วยิ่งมาตอนนี้เจอภาวะวิกฤตโรคโควิดอีก ทำให้หลายบริษัทต้องรัดเข็มขัดและจำกัดกำลังพล เศรษฐกิจไม่ดีและไม่รับพนักงานใหม่เข้าทำงาน เด็กนักศึกษาที่เพิ่งจบเมื่อปีการศึกษานี้ช่วงมีนา-เมษาที่ผ่านมาคงจะหางานยากขึ้นไปอีก เป็นช่วงที่ยากลำบากมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เหตุที่ผมยกประเด็นเรื่องความวิตกกังวลเกี่ยวกับการงานของคนญี่ปุ่นออกมาพูดเพราะสองสามวันก่อนหน้านี้ ผมคุยกับเพื่อนผมที่อยู่ญี่ปุ่นเค้ามีความวิตกกังวลเรื่องนี้และมาปรับทุกข์กับผมว่าเค้าอยากลาออกมาก เพื่อนผมบอกว่าเค้าก็ระบายเรื่องนี้ให้หลายๆ คนฟังเหมือนกันแต่ก็ได้รับคำตอบมาว่าให้อดทนทำงานต่อไป วันนั้นที่เค้าคุยกับผม ผมก็รับฟังเขาและให้ความคิดเห็นนิดหน่อย แต่เพื่อนบอกว่าหลังจากที่คุยแล้วก็รู้สึกสบายใจขึ้น ขอบคุณที่รับฟัง
ผมคิดว่าบางปัญหานั้นเราแค่รับฟังเขาปรับทุกข์ก็เพียงพอ บางคนบอกว่าที่ไม่สามารถที่จะแนะนำอะไรได้มากกว่าการรับฟังนั้นก็เพราะว่า จริงๆ บุคคลที่มาขอคำแนะนำเขาอาจจะมีสิ่งที่เค้าคิดในใจไว้แล้วว่าจะทำอย่างไร ถ้าไปพูดแย้งความคิดเห็นเขา เขาอาจไม่เชื่อไม่สนใจก็ได้ นอกจากนั้นถ้าคนที่ให้คำแนะนำมีความแตกต่างทางความคิด เช่นผู้หญิงกับผู้ชาย หรือมีสถานภาพทางสังคมด้อยกว่า เช่น เป็นลูกน้อง หรือว่ามีอายุน้อยกว่า หรือว่าความรู้น้อยกว่า ก็อาจจะไม่เข้าใจปัญหาก็ได้ วันนี้จึงมีตัวอย่างเรื่องการให้คำปรึกษา ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงเพื่อนกันคุยกันมาให้อ่านครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นเอามาพูดกันเยอะอีกเรื่องหนึ่งมีมาตั้งแต่สมัยยี่สิบกว่าปีก่อนที่ยังไม่มีการทวิตเตอร์ หรือการแชร์ข้อมูลออนไลน์อย่างรวดเร็วแบบปัจจุบัน สมัยนั้นยังเป็นกระทู้พูดคุยแสดงความคิดเห็น ใครชอบเรื่องไหนก็ส่งอีเมล ก็อปปี้และวางข้อความและส่งต่อๆ กันไป ถ้าพูดถึงเรื่องการให้คำปรึกษาเวลามีคนมาขอความช่วยเหลือ เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่นำมาเป็นตัวอย่างได้อยู่จนถึงปัจจุบัน
●เรื่องสาวสตาร์ทรถไม่ติดจึงโทรศัพท์หาเพื่อนผู้ชาย ฝ่ายผู้ชายก็แนะนำให้ลองเปิดไฟ แต่ยังไงไม่รู้พูดกันไปพูดกันมาไม่รู้เรื่องกันเสียที อาจจะด้วยความต่างของผู้หญิงหรือผู้ชายที่มีบุคลิกลักษณะนิสัยต่างกันก็ได้ แต่ถ้าเป็นคุณๆ จะทำอย่างไร
ผู้หญิง: ฮัลโหล นายช่วยฉันที รถยนต์สตาร์ทไม่ติดล่ะ เครื่องยนต์ไม่ทำงาน ทำไงดี
ผู้ชาย: เอ้ะ! แบตเตอรี่มีไหม ไฟเปิดติดหรือเปล่า?
ผู้หญิง: เมื่อวานรถยังติดอยู่เลย ทำไมวันนี้อยู่ดีๆ ก็สตาร์ทไม่ติดไม่รู้
ผู้ชาย: มันอาจจะมีปัญหาบางอย่าง ผมอยากรู้ว่ามีแบตเตอรี่หรือเปล่า ตอนนี้ไฟติดไหม?
ผู้หญิง: แย่เลยอ่ะเพื่อน วันนี้ฉันมีธุระสำคัญด้วยสิ ไม่ไปไม่ได้ด้วย ทำไงดี
ผู้ชาย: ถ้าไปไม่ได้นี่แย่เลยนะครับ ไหนดูไฟสิติดไหม
ผู้หญิง: รถคันก่อนนี้ไม่เคยมีปัญหาแบบนี้เลย ฉันไม่น่าเปลี่ยนรถเลย
ผู้ชาย : ไฟไม่ติดใช่ไหม
ผู้หญิง: เอาไงดี แต่ยังดีนะที่รู้ก่อน ยังพอมีเวลาอยู่ แต่ถ้าไม่ทันนี่แย่เลยนะเนี่ย
ผู้ชาย : นั่นสิ แล้วไฟละเปิดได้ไหมครับ ลองดูยัง
ผู้หญิง: อะไรนะคะ คุณว่าไงนะ ฉันไม่ค่อยได้ยินเลย
ผู้ชาย: ผมอยากรู้ว่าไฟติดได้ไหม
ผู้หญิง: ทําไมล่ะ?
ผู้ชาย: รถสตาร์ทไม่ติด บางทีแบตเตอรี่อาจจะหมด
ผู้หญิง: อะไรนะ
ผู้ชาย: หืม…!?
ผู้หญิง: อะไรเหรอ..
ผู้ชาย: คือผมอยากรู้ว่าแบตเตอรี่รถยนต์หมดหรือเปล่า ให้คุณลองเปิดไฟดูหน่อย?
ผู้หญิง: ถ้าแบตเตอรี่หมด ไฟจะเปิดไม่ได้งั้นเหรอ !??
ผู้ชาย: คุณลองเปิดไฟดูหน่อย ผมอยากรู้
ผู้หญิง: ทำไมคุณดูโกรธๆ ล่ะ
ผู้ชาย: ไม่ ผมไม่ได้โกรธจริงๆ ตกลงไฟมันเปิดได้หรือป่าว
ผู้หญิง: ฉันรู้คุณโกรธ แค่นี้ ทําไมต้องโกรธด้วย !!@#?$%!! รอเดี๋ยวนะจะโทรศัพท์หาอีกคนก่อน
ฯลฯ
8 นาทีผ่านไป เพื่อนผู้ชายก็ยังถือสายรอ แต่กลับมาก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่องเหมือนเดิม และกลายเป็นพูดกันคนละเรื่องไป จนเกือบขึ้นเสียงกันไป!!
ผู้หญิง: จะว่าไป การช่วยคนที่มีปัญหาเนี่ย มันก็เรื่องปกติไม่ใช่เหรอ?
ผู้ชาย: ( พูดไม่ออก) "..."(´・ω・`)|ョ
ผู้หญิง: ( #`Д´)】ゝฉันรู้ว่าคุณอยากจะช่วย แต่เหมือนคุณทำให้ฉันเหมือนเป็นคนโง่อย่างไรก็ไม่รู้ ??!
ผู้ชาย: ( พูดไม่ออก) "..." (´・ω・`)|ョ ...
เป็นต้น แบบนี้อยากจะบอกว่าเรื่องการให้คำแนะนำนี่มีหลายปัจจัย ไปๆ มาๆ เข้าตัวเสียอีก คือบางทีคนที่มีปัญหาเค้าก็ไม่ได้อยากได้รับคำสั่งให้ทำอะไร อย่างไร แต่อาจจะต้องการแค่คนรับฟังหรือคนปลอบใจอย่างเดียว โดยเฉพาะสาวญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นจะรู้ประเด็นนี้ดี บางทีก็เลยไม่สามารถที่จะสั่งการหรือแนะนำประเด็นอะไรใครได้มาก อาจจะรับฟัง หรือพูดประโยคให้กำลังใจง่ายๆ พูดชม หรือแสดงถ้อยคำว่ารับฟังอยู่ เพราะในการช่วยเหลือคนที่กำลังมีปัญหา บางทีก็มีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่ญี่ปุ่นมีหลักการที่เรียกว่า 「さしすせそ」 กฎของ "Sa-Shi-Su-Se-So" ส่วนใหญ่จะพูดคำง่ายๆ แค่นี้ คือ
「さ」Sa=「さすが!」Sasuga!
เป็นคำยกย่อง ชมเชย เยี่ยมมาก , เก่งมากเลย , เป็นอย่างที่คาดหวังเลย
「し」Shi=「知らなかった!」 Shiranakatta!
ไม่รู้มาก่อนเลย
「す」Su=「すごい!」 Sugoi!
น่าอัศจรรย์, ยอดเยี่ยมไปเลย, น่าทึ่งมาก
「せ」Se=「センスいい!」Sensu ii!
มีรสนิยมดี, สามัญสำนึกดี , เก่ง ดูดี
「そ」So=「そうなんですか!」So nan desuka!
อ๋อ เป็นอย่างนี้นี่เอง
ซึ่งเป็นคำกลางๆ ไว้พูดเมื่อมีคนมาขอคำแนะนำปรึกษาและเป็นคำชมเชย เมื่อเห็นคนที่ทำสิ่งที่ดี เพื่อนๆ เคยมีปัญหาไหมครับ แล้วทำอย่างไร วันนี้สวัสดีครับ