xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตดับ ตำรวจหนุ่มญี่ปุ่นติดโควิดจากหมอนวด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว พูดถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังคงระบาดอยู่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น หลายๆ ประเทศก็เกิดระบาดระลอก 2 อีกแล้ว เพื่อนผมที่อาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นก็คุยปรับทุกข์กันอยู่ เขาบอกว่าเขาไม่ค่อยกล้าออกจากบ้านเลย เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นโรคบ้าง เขาบอกว่าผมโชคดีมากที่อยู่เมืองไทยเพราะน่าจะมีความปลอดภัยจากโรคโควิดมากกว่าที่ญี่ปุ่น


แค่เมืองหลวงโตเกียวก็มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเกินสองร้อยคนต่อวันติดต่อกันมาหลายวัน ก่อนหน้านี้รัฐบาลเองมีนโยบายออกมาหลายอย่าง เช่น นโยบายสนับสนุนและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศภายใต้แคมเปญ “Go To Travel" ยกเว้นคนที่อยู่ในโตเกียวจะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ได้แต่ขอความร่วมมือไม่ไป!!และไม่สามารถใช้สิทธ์จากแคมเปญนี้ได้ หรือเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา มีวันหยุดยาว 4 วัน ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดวันหยุดพิเศษไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ปีก่อนให้เป็น " วันกีฬา” เพื่อเตรียมการรองรับและหลีกเลี่ยงความแออัดช่วงที่จัดงานโอลิมปิก รณรงค์ให้คนอยู่บ้าน ไม่ให้คนออกไปทำงาน ไม่ใช้รถไฟ เพราะที่จริงแล้วช่วงนี้ตามกำหนดเดิมจะเป็นช่วงที่มีการจัดงานโอลิมปิกนั่นเอง เลยกลายเป็นว่าคนออกไปไหนมาไหนไม่ได้จริงๆ แค่ไม่ใช่เพราะโอลิมปิกแต่เพราะเลี่ยงการติดเชื้อโคโรน่า วันหยุดยาวสี่วันที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะอยู่บ้านตลอด ทำให้สภาพจิตใจของคนญี่ปุ่นตอนนี้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น แล้วก็ยังมองไม่เห็นหนทางสดใสในอนาคตได้ง่ายๆ


ยิ่งถ้าเกิดสถานการณ์เช่นนี้ยาวนานต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้ประชาชนที่เจอภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองยิ่งเกิดความตึงเครียดมากกว่าเดิม ส่งผลให้นิสัยแย่ๆ บางอย่างของคนบางกลุ่มเผยออกมา เช่น เรื่องนิสัยกลั่นแกล้ง การหาทางระบายออกด้วยการกล่าวโทษคนอื่น เหมือนตอนสามสี่เดือนแรกๆ ที่เริ่มมีการระบาดของระลอก 1 รัฐบาลก็ออกหลักเกณฑ์ที่เผยแพร่ให้ประชาชนได้ปฏิบัติตามเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคนี้ เช่น หลีกเลี่ยง 3 mitsu「3密」คือ ให้หลีกเลี่ยง 3 สิ่ง ดังนี้ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท, หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก , และหลีกเลี่ยงการพูดคุยปฏิสัมพันธ์กันในระยะประชิดตัว สถานที่ที่เป็นเป้าหมายการโจมตีมากที่สุดคือ ไลฟ์เฮาส์หรือสถานบันเทิงคล้ายๆ ผับบาร์ของเมืองไทยครับ


โดยอาจจะมีการเขียนป้ายประท้วง เหน็บแนมต่างๆ นานา แต่ที่จริงแล้วธุรกิจประเภทไลฟ์เฮาส์นี่ถือว่าไม่ผิดกฏหมายนะครับ แต่มักจะถูกสังคมรุมประนามกินโต๊ะ ตอนที่ผมทำงานที่ญี่ปุ่น หน่วยงานแรกที่ผมทำคือ งานที่เกี่ยวกับเรื่องของการตรวจสอบสภาพแวดล้อมเมื่อมีเจ้าของกิจการแนวธุรกิจบันเทิงหรือว่าร้านขายเหล้า ผับบาร์ต่างๆ มาร้องขอให้ตรวจสอบว่าระยะรอบๆ ร้านที่จะขอเปิดนั้นมีโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยมไหม ระยะที่ตั้งถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนดไหม ก็มีหลายร้านที่มาปรึกษาอยู่เหมือนกัน เพราะมีธุรกิจแบบนี้ไม่น้อยเลยในญี่ปุ่น กลับกันช่วงเวลาเร่งด่วนที่พนักงานหรือคนทั่วไปต้องแออัดกันในรถไฟกลับไม่มีใครว่าอะไร บางคนบอกว่าอาจจะเป็นเพราะว่าคนที่อยู่ในรถไฟส่วนใหญ่ก็จะไม่คุยกันอยู่แล้ว ต่างคนต่างยืนเล่นโทรศัพท์ของตัวเองไปเงียบๆ กระมัง

ผมอ่านข่าวหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจของคนญี่ปุ่นอยู่ขณะนี้
คือ นายตำรวจหนุ่มคนหนึ่งเรียกใช้บริการสาวเดลิเวอร์รี่ Delivery health → デリヘル Deriheru ประมาณสาวบริการเซ็กซี่ที่เรียกตัวมาทำงานประเภทอาบอบนวดนอกสถานที่ ตามที่นัดหมายกันนั่นเอง คือจริงๆ ตามกฏหมายที่ญี่ปุ่นเนี่ยห้ามขายบริการทางเพศแบบร่วมประเวณี ห้ามขายตัว แต่มีร้านที่เปิดเพื่อบริการกึ่งๆ แนวนี้และมีคนทำงานบริการแนวนี้อยู่ เช่นบริการ Delivery health นั่นเอง และก็ได้รับความนิยมด้วย เดลิเวอรี่เฮลท์ นี้สามารถเรียกใช้บริการสาวในร้านที่เปิดธุรกิจประเภทนี้ให้ไปเจอกันที่ใดๆ ก็ได้ตามที่จะนัดเจอกันได้ แต่ห้ามมีเพศสัมพันธ์กัน!! บังเอิญว่าสาวที่นายตำรวจหนุ่มเรียกไปใช้บริการนั้นติดโรคโควิด ยิ่งไปว่านั้นนายตำรวจก็เงียบและยังไปทำงานตามปกติ จนทำให้คนอื่นๆ เดือดร้อนและกังวลใจว่าจะติดโรคไหม รวมทั้งเพื่อนตำรวจอีกเกือบ20 นาย ต้องกักตัวรอดูอาการ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้


แหล่งข่าวบอกว่าสาวเป็นคนจังหวัดอิบารากิ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมเธอไปเที่ยวบาร์โฮส-Bar host ที่ชินจุกุ จากนั้นโดยหน้าที่การงานเป็นสาวบริการแบบเดลิเวอรี่ Delivery health เธอจึงเดินทางไปพบลูกค้าที่จังหวัดอาโอโมริ ซึ่งลูกค้าก็คือนายตำรวจหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเรียกเธอไปวันที่ 8 กรกฎาคม ในวันที่ 9 และวันที่ 10 กรกฎาคมตำรวจก็ไปทำงานตามปกติ ซึ่งในวันที่ 10 กรกฎาคมนั่นเองสาวรู้ผลว่าเธอติดโรคโควิด?!! แหล่งข่าวไม่ได้บอกว่าวันที่ 11- 12- 13 กรกฏาคม ตำรวจขอหยุดงานทำไมแต่อาจจะรู้สึกป่วยและไม่สบายหรือเปล่าไม่ทราบ ในวันที่ 14- 15 กรกฏาคม ตำรวจหนุ่มมาทำงานแต่เดินทางไปทำงานนอกสถานที่ ที่อำเภออื่นในจังหวัดอาโอโมรินั่นเอง ซึ่งวันที่ 15 กรกฏาคม ตำรวจหนุ่มมีอาการไข้ขึ้นอีกจึงไปตรวจโรคและในวันรุ่งขึ้นจึงรู้ผลว่าเขาก็ติดโรคโควิดเหมือนกัน ตั้งแต่วันที่ 8 ที่นายตำรวจพบกับพบสาว จนถึงวันที่ 15 นี่แหละคือประเด็น Timeline ที่คนญี่ปุ่นพูดถึงกันตอนนี้ว่า ถ้าเป็นคุณจะทำยังไง จะบอกหัวหน้าไหม หรือจะเก็บเงียบไว้ไหม ?


จากข่าวนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่อง ゲーム理論 game theory "ความลำบากใจของนักโทษ" (囚人のジレンマ、The Prisoner's Dilemma) ที่มีกลยุทธ์ คือ การเงียบและการรับสารภาพ ในทฤษฎีเกมซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหตุใดคนสองคนจึงอาจไม่ร่วมมือกันแม้ว่าทั้งสองจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดในการร่วมมือกันนั้น ซึ่ง ゲーム理論 game theory เป็นเช่นเดียวกับวิชาการและวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่พัฒนามาจากทหาร (เช่น ประเทศ A, แม้ไม่ต้องการที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพราะมันเป็นอันตราย แต่ทว่าประเทษคู่อริ B ที่อยู่ข้างๆ นั้นมีอาวุธนิวเคลียร์ครอบครองอยู่ .. A จะทำอย่างไรได้? ) ปัจจุบันนี้ก็นำมาใช้ในสาขาต่างๆ รวมทั้งเศรษฐศาสตร์และการจัดการ และวิชาการแขนงอื่นๆ รวมทั้งทางวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งอาจจะต้องใช้คณิตศาสตร์ชั้นสูงขึ้นและ supercomputer คำนวณ แต่สาระสําคัญนั้นไม่ยาก ดังนั้นอาจจะดีที่จะรู้ว่าเป็นวิธีหนึ่งของแนวคิดโดยเฉพาะสําหรับคนหนุ่มสาว เนื่องจากผลและคะแนนของการเปลี่ยนแปลงการกระทํานั้นขึ้นอยู่กับการกระทําจากฝ่ายตรงข้ามในสถานการณ์ใดๆ เพื่อให้ตัวเองสูญเสียน้อยที่สุด ดีที่สุดคือทําเพื่อชนะ (หรืออย่างน้อยก็ไม่สูญเสีย) นี้เรียกว่า minimax เช่นในกรณีของการสืบสวนนักโทษ อย่างที่อธิบายก่อนหน้านี้ถ้าเขาเงียบ อาจจะตกเป็นคะแนนที่เลวร้ายที่สุด สมมุติให้-10 แต้ม ดังนั้นแม้ว่าเขารู้ว่าไม่มีทางเลือก แต่เขาสารภาพ (เพราะมันคือ ー5 แต้ม ที่ดีกว่า ในกรณีของการสารภาพ)


จากเรื่องนี้ ถ้ามาคิดถึงกลยุทธ์ของสาวและร้านของเธอ ว่าสาวควรจะพูดออกมาหรือเปล่า หรือไม่ควรพูดออกมาว่าเธอติดโควิด

●กรณีสารภาพ: ด้วยความที่สาวทำงานบริการ คือสารภาพทุกข้อมูล เรื่องที่ไปเที่ยวบาร์โฮส และไทม์ไลน์ต่างๆ ของเธอ จนกระทั่งรู้ผลว่าติดโรคโควิด

✖️แล้วกรณีเงียบ: ถ้าเธอไม่พูดข้อมูลออกมาเลยจะเป็นอย่างไร? ถ้าไม่มีใครรู้ เธอก็อาจจะยังคงได้รับความเชื่อถือจากทางลูกค้าเมื่อเธอรักษาตัวหายและไม่มีใครรู้ข่าว แต่ว่าการที่เธอไม่พูดข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด ก็จะทำให้เธอโดนประนามในท้ายที่สุด

※ในด้านสาวและร้านของเธอ : ถ้าเงียบ →แต่ทางตํารวจหนุ่มสารภาพแบบพูดตรงไปตรงมา ถึงกรณีที่ว่าติดจากสาวที่ไปเที่ยวและติดเชื้อจากโฮสต์ที่ชินจูกุ → แบบนี้จะกลายเป็นเครดิตบางอย่างให้ตํารวจเพราะตำรวจพูดความจริงออกไปก่อน จะทำให้ฝั่งร้านบริการและสาวได้ผลกระทบทางลบ และยิ่งแย่ที่สุดถ้าร้านเงียบต่อ ร้านอาจจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตจาก 公安委員会 a public safety commission ดังนั้นฝั่งร้านจึงเงียบไม่ได้เลย สรุปคือ ไม่ว่าจะกรณีไหนก็ตาม ฝ่ายที่เป็นผู้หญิงและร้านจะเงียบไม่ได้ เพราะถ้าเงียบจะมีแต่ผลกระทบแง่ลบเท่านั้น

ในกรณีกลยุทธ์ของฝั่งนายตำรวจ ที่จริงเขาน่าจะได้ข้อมูลว่าสาวติดโควิดตั้งแต่วันที่ 10 กรกฏาคมแล้ว เพราะสาวและร้านอาจจะมีการเปิดเผยข้อมูลอยู่แล้ว

●กรณีที่สารภาพ (แจ้งข้อมูล) ออกมาทั้งตำรวจ และสาว ทำให้แต้มตำรวจเป็น -100 / ฝ่ายผู้หญิง - 50 (ผมให้คะแนนเอง )

✖️กรณีที่ตำรวจเงียบ ไม่สารภาพจะเกิดอะไรขึ้น?: กรณีนี้คือความเสี่ยงและเคสที่แย่ที่สุด ที่ทำให้เป็นเช่นตอนนี้ ดังนั้นสรุปว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามตำรวจควรจะพูดข้อมูลความจริงมากที่สุด


แม้คนญี่ปุ่นหลายคนวิจารณ์ฝั่งตำรวจ แต่หลายคนก็จะพูดว่าตำรวจคนนี้ก็คือผู้ชายคนหนึ่งที่มีความทะลึ่ง มีความต้องการแบบผู้ชาย แต่ดันโชคร้ายที่มาเจอกรณีสาวที่เรียกมาใช้บริการนั้นติดโรคโควิดพอดี ทำให้ตัวเองติดไปด้วย ความเป็นจริงแล้วตาม minimax ของเกม game theory ควรจะต้องรายงานทันทีในวันที่ 10 หรือตั้งแต่วันที่เขารู้ข่าวว่าสาว Delivery health ติดโรคโควิดแล้ว จึงจะถูกต้อง โดยสิ่งที่ต้องทำมากที่สุดคือรีบแจ้งผู้บัญชาการให้เร็วที่สุดที่รู้ข่าว น่าจะต้องรีบแจ้งข้อมูลกับหัวหน้าให้ไวที่สุด ด่วนที่สุดในนาทีนั้นเลยยิ่งดี ถึงแม้ว่าเขาจะมีอาการหรือไม่ก็ตามในตอนนั้น และกักตัวเองไม่ไปตะลอนๆ พบปะผู้คน จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ติดโรคหรือรักษาหายดี เพียงแต่ว่าด้วยนิสัยที่แท้จริงของคนญี่ปุ่นในสถานการณ์ที่ตัวเองเรียกใช้สาวบริการจนติดโควิดเช่นนี้ ใครจะกล้าพูดออกมา?! หลายคนก็บอกว่าถ้าเป็นนายตำรวจคนนั้น ก็คงอึ้งและเก็บเงียบเหมือนเขาไม่ว่าจะรู้ทฤษฎีเกม game theory หรือไม่ และเขาก็เลือกเงียบและไม่ยอมแจ้งหัวหน้าและใช้ชีวิตปกตินี่สิสุดท้ายจึงทำให้คนอื่นประณามและหยิบยกมาพูดคุยกันทั่วเมืองในตอนนี้

▲ถ้าคิดในมุมมองที่ว่าตํารวจหนุ่มรีบแจ้งข้อมูลทั้งหมด แต่สมมุติว่าเขาไม่ได้ติดโรคโควิด เขาอาจจะโดนแซวเรื่องเที่ยวสาว Delivery health หรือถูกตั้งฉายาว่า「デリバー警官 Deliver police」"ตํารวจสายตรวจ Delivery デリヘル巡査 Deriheru porisu" ไปอีกสักพักหนึ่งอาจจะปีหรือสองปี อาจจะถูกแซวและโดนล้อจากเพื่อนร่วมงานและเจ้านายและสาวๆ ไปสักพัก แต่ด้วยความที่พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องมีคนสงสารหรือประทับใจบ้าง คงจะมีคนรับได้และให้กำลังใจบ้าง และวันหนึ่งเรื่องก็จางๆ ไป ลืมเลือนกันไปได้ ซึ่งมันก็น่าจะดีกว่าสถานการณ์ที่เขาเจอจากสังคมในตอนนี้ที่ต่างก็ขุดคุ้ยและวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาขนาดหนักแบบที่แทบจะอยู่ต่อไม่ได้ ต้องลาออกจากงานหรือเปล่า และไม่รู้จะทนอาศัยอยู่ในจังหวัดเดิมได้หรือเปล่า


▲ถ้าคิดในมุมมองว่าตํารวจคนนี้เป็นไซโคพาธ (psychopaths) หรือเป็นบุคคลที่มีอาการของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม ถ้าเขาแกล้งโกหกว่า “รู้จักเธอแค่คร่าวๆ เท่านั้น และเธอมาปรึกษาเรื่องการปัญหา 'สตอล์กเกอร์' (stalker) แค่นั้น ไม่ได้มีอะไรมาก” ก็ทำได้ แต่ตำรวจหนุ่มเขาก็ไม่ได้โกหกแบบนั้น เขาตรวจหาเชื้อโคโรนาในวันที่ 15 และรู้ผลและถูกประกาศในวันถัดไปคือวันที่ 16 กรกฎาคม เหตุที่เขาเงียบไป และทำงานตามปกติจึงถูกสังคมลงโทษอย่างรุนแรงมาก และองค์กรตำรวจที่เขาทำงานก็ไม่ได้ปกป้องอะไรให้เขา

ซึ่งฟังแล้วก็รู้สึกสงสารเขานิดหน่อย และเสียใจกับเขาด้วย หลายๆ ข่าวที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความเครียด วิตกกังวล และหาทางระบายออกของคนในชุมชน อย่างไรก็ตามขอให้ทุกท่านมีสติและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขครับ วันนี้สวัสดีครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น