xs
xsm
sm
md
lg

Food Truck เทรนด์ขายอาหารมาแรงของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://foodtruck.mellow.jp/
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ใครที่เคยไปเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นในช่วงปีหลัง ๆ มานี้อาจเคยเห็นรถขายอาหารแบบที่เรียกว่า food truck กันมาบ้างนะคะ รถขายของข้างทางแบบนี้ไม่ได้ขายอาหารง่าย ๆ ราคาสบายกระเป๋าแบบร้านขายอาหารบนทางเท้าส่วนใหญ่ในบ้านเรา แต่เน้นขายอาหารที่เป็นเอกลักษณ์และราคาค่อนข้างสูง แต่กลับเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น

เมื่อพูดถึงรถขายอาหาร ประเทศต่าง ๆ ดูเหมือนจะมีวัฒนธรรมนี้อยู่ก่อนแล้ว ถ้าของญี่ปุ่นก็น่าจะนับรถขายมันเผาว่าเป็นรถขายอาหารได้ ส่วนที่ไทยฉันเคยเห็นรถกระบะที่ขายข้าวแกงตักอยู่เหมือนกัน แต่มีที่นั่งให้ด้วย เข้าใจว่าคงเป็นความคิดต่อยอดมาจากรถเข็นขายอาหารอีกที เพราะขนย้ายสะดวกกว่า

แต่รถขายอาหารแบบ food truck อย่างที่นิยมมากขึ้นในหลายประเทศปัจจุบันออกจะมีนัยที่ต่างออกไป คือเป็นร้านอาหารเคลื่อนที่ซึ่งมักเน้นเมนูอย่างในภัตตาคารหรือคาเฟ่ โดยประกอบอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และจัดใส่ภาชนะสำหรับพร้อมรับประทาน แต่ต้องไปหาที่นั่งรับประทานเอาเอง

จะว่าไปก็คล้าย ๆ ศูนย์อาหารตรงที่ต่อแถวซื้อแล้วยกอาหารไปหาที่นั่งเอาเอง เพียงแต่ถ้าเป็นศูนย์อาหารก็จะมีโต๊ะเก้าอี้จัดไว้ให้จำนวนมาก แต่ food truck นั้นอาจไม่มีให้ รวมทั้งไม่ต้องคืนภาชนะแบบในศูนย์อาหารเพราะเป็นภาชนะแบบใช้แล้วทิ้ง และแม้จะเป็นการซื้อกลับ แต่ราคาอาหารก็ค่อนข้างแพงพอ ๆ กับไปนั่งรับประทานตามร้านอาหารเลยทีเดียว

ภาพจาก https://insyokukaigyo.com/blog/
อาหาร food truck ในญี่ปุ่นที่นิยมขายได้แก่ ข้าวแกงกะหรี่ พิซซ่า อาหารอิตาเลียน อาหารสเปน อาหารฝรั่งเศส อาหารเอเชีย อาหารอินเดีย อาหารอาหรับ และอาหารญี่ปุ่น หลายครั้งทีเดียวที่ฉันเจอร้านอาหารญี่ปุ่นขายเมนูฟิวชั่น ซึ่งเป็นเมนูแบบที่ไม่ค่อยเห็นตามร้านอาหาร แต่คงคิดขึ้นเพื่อขายเป็นอาหาร food truck โดยเฉพาะ หรือถ้าเป็นข้าวแกงกะหรี่ก็ไม่ได้ทำรสชาติพื้น ๆ ทั่วไปแต่มีความพิเศษกว่าปกติ

ครั้งแรกที่ฉันเห็น food truck ในย่านอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวนั้น เมื่อดูเมนูอาหารที่มีไม่กี่อย่าง ปริมาณอาหารซึ่งจำกัดแค่ในกล่องเล็ก ๆ และราคาที่แพงกว่าข้าวกล่องทั่วไป 2-3 เท่าแล้ว ก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมถึงขายได้ เพราะโดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าอาหารขายข้างทางน่าจะราคาถูกกว่าตามร้านอาหาร เพราะไม่ต้องจ้างคนเสิร์ฟคอยบริการ อีกทั้งยังไม่มีที่นั่งให้ และถึงแม้บางทีจะตั้งใจทำอาหารให้หรูหรือใช้ของแพงทำ แต่ภาชนะแบบใช้แล้วทิ้งก็ทำให้ความหรูด้อยลงไปถนัดตา

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองดูคนทำงานชาวญี่ปุ่นที่ยืนต่อแถวซื้ออาหารอย่างตื่นเต้นแล้วก็ชวนให้แปลกใจ ต่อเมื่อไม่นานมานี้ฉันมีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคนที่ก่อตั้งบริษัททำ food truck ในญี่ปุ่น จึงพอจะเข้าใจว่าทำไม food truck จึงได้รับการต้อนรับอย่างดี

ภาพจาก https://www.w-tokyodo.com/neostall/space/lunch
เขาเล่าว่าแต่เดิมตัวเองก็เป็นพนักงานบริษัทคนหนึ่ง แม้ว่าเมื่อก่อนจะรอคอยเวลากลางวันที่ได้ออกไปรับประทานอาหารข้างนอก แต่พอวันเวลาผ่านไปก็รู้สึกว่าแต่ละร้านก็เดิม ๆ เมนูก็เดิม ๆ เมื่อรู้สึกว่ารับประทานอะไรก็เหมือนกัน ก็เลยซื้อข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อ และรับประทานไปเพื่อให้อิ่มท้องเท่านั้น พนักงานบริษัทคนอื่นที่ซื้ออาหารจากในร้านสะดวกซื้อก็ดูหน้าตาไม่มีชีวิตชีวาพอกับตน จึงรู้สึกว่าพนักงานบริษัทจำนวนมากรับประทานอาหารกลางวันกันอย่างไม่มีความสุขเลย

อยู่มาวันหนึ่งเขาซื้ออาหารจาก food truck แล้วก็ต้องตื่นเต้นที่พบว่าอาหารนั้นรสชาติดีเยี่ยมทีเดียว จึงเที่ยวศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำร้าน food truck รวมทั้งศึกษาข้อได้เปรียบและปัญหาของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ด้วย จนในที่สุดเขาก็ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อให้บริการหาทำเลขายอาหารให้แก่เจ้าของ food truck ไปจนถึงบริการให้เช่าซื้อ food truck ด้วย โดยมีกฎว่าแต่ละร้านต้องทำเมนูที่ไม่ซ้ำกันแต่ละวัน เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้ลูกค้าที่มาซื้ออาหาร

นอกจากนี้ บริษัทยังเก็บรวบรวมข้อมูลยอดขายจากแต่ละร้านอย่างต่อเนื่องและประกาศให้แต่ละร้านได้รับทราบข้อมูลร่วมกัน ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อให้ร้านต่าง ๆ ขยันพัฒนากลยุทธ์ในการขายให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเมนู คุณภาพ หรือบริการ ไม่ใช่ว่าเห็นร้านอื่นทำเมนูนี้แล้วขายดีเลยขายของให้เหมือนกัน หรือพอรู้ว่าร้านอื่นที่ตั้งอยู่ในที่เดียวกันขายดีกว่า หากตัวเองขายไม่ดีอยู่ก็จะโทษว่าเป็นความผิดของทำเลไม่ได้ ก็ต้องคิดหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ร้านตัวเองขายดีขึ้นมา เป็นต้น

ได้ข่าวว่าการเปิดเผยข้อมูลแบบนี้ทำให้แต่ละร้านตื่นตัวที่จะปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา นำไปสู่ยอดขายที่พุ่งสูงขึ้นถึงเกือบ 150% ในปีต่อมา ร้านที่ขายดีมาก ๆ สามารถขายได้ถึง 200 จานต่อวันเลยละค่ะ

ภาพจาก https://twitter.com/yoshidagohan/
และในช่วงโควิดซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยง 3 ข้อหลัก คือ เลี่ยงสถานที่ถ่ายเทอากาศไม่ดี เลี่ยงสถานที่แออัด และเลี่ยงการพูดคุยกันใกล้ชิด ร้านอาหารจึงอยู่ในฐานะลำบาก แต่ถ้าเป็น food truck ก็สามารถหลีกเลี่ยง 3 ข้อหลักนี้ได้ง่าย โดยเพิ่มเรื่องการฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ และห้ามไม่ให้ผู้ประกอบอาหารที่มีอาการเสี่ยงเป็นโควิดออกร้าน ลูกค้าที่มาซื้ออาหารก็สบายใจ

ที่ผ่านมา food truck มักจอดอยู่ใกล้แหล่งสำนักงานหรือมหาวิทยาลัย พอโควิดมาเยือนและคนไม่ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านกันเหมือนก่อน ก็ยิ่งทำให้ food truck เป็นที่ต้องการในถิ่นที่อยู่อาศัยมากขึ้น

บริษัทนี้จึงได้ออกไอเดียใหม่ให้ food truck ไปตั้งร้านอยู่ตามตึกอะพาร์ตเมนต์ ซึ่งก็ได้รับการความสนใจอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยากให้ผู้เช่าอาศัยที่ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านได้ผ่อนคลาย ซึ่งทางบริษัทเองก็กำลังคิดต่อยอดว่าจะจัดหาที่นั่งรับประทานให้ด้วย เพื่อที่คนจะได้มีโอกาสนั่งรับประทานอาหาร “นอกบ้าน” ในที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ใช่ว่าต้องซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านเพียงอย่างเดียว

ความพิเศษของ food truck จึงไม่เพียงตอบสนองความต้องการของคนที่เบื่ออาหารจำเจเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับคนที่อยากเลี่ยงการนั่งรับประทานอาหารตามร้านในช่วงโควิด แต่ก็เบื่อการอยู่แต่ในบ้านด้วย

ภาพจาก https://osakakita-journal.com/2020/05/14/
food truck คงจะเป็นที่จับตามองมากขึ้นจริง ๆ จึงมีองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นปิ๊งไอเดียช่วยเกษตรกรของตนขายของให้ food truck นั่นก็คือเมืองสุโมโตะ เกาะอาวาจิ จังหวัดเฮียวโงะ ซึ่งอยู่ในแถบคันไซ (ฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น)

เรื่องมีอยู่ว่าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ของเมืองนี้ปกติขายได้เพราะมีนักท่องเที่ยวหรือร้านอาหารในแถบคันไซซื้อไป แต่พอโควิดมา คนไม่ออกมาข้างนอก ร้านอาหารก็ขายไม่ดีหรือขายไม่ได้ เกษตรกรจึงประสบปัญหา และเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือหันมาซื้ออาหารสำหรับเอากลับมากขึ้น food truck ที่ตอบโจทย์นี้ได้ดี อีกทั้งยังได้เปรียบในฐานะเป็นครัวเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายร้านไปเปิดตามจุดที่ความต้องการซื้ออาหาร จึงน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ที่ดีสำหรับเกษตรกรของเมืองสุโมโตะ

ภาพจาก https://foodtruck.mellow.jp/media/tips/dk6ht
ทางเมืองจึงเปิดรับสมัครเพื่อช่วยจับคู่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเลื่องชื่อของเมืองสุโมโตะให้กับเจ้าของร้าน food truck ในแถบคันไซให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังใจดีออกเงินช่วยเหลือค่าขนส่งสินค้าให้ส่วนหนึ่งด้วย โดยความช่วยเหลือนี้มีระยะเวลาจำกัดสามเดือน ซึ่งก็เป็นความคิดสร้างสรรค์ในการขายสินค้าเกษตรและปศุสัตว์คุณภาพให้ถึงมือผู้ประกอบการร้านค้าโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางคล้ายแนวคิด from farm to table นอกจากจะช่วยเศรษฐกิจท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการโฆษณาของดีของเมือง และโฆษณาอาหารของ food truck ร้านนั้นไปด้วยในตัว ดีต่อใจกันหลายฝ่ายเลยนะคะ

ความสำเร็จของ food truck ญี่ปุ่นในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องน่าติดตามดูกันต่อไป

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น