ศูนย์ข่าวภูมิภาค - เปิดกรณีศึกษาเส้นทาง “น้ำอ้อย ไร่ไม่จน-SME เกษตรแปรรูปราชบุรี” จากอ้อยคั้นบ้านๆ วันนี้ดังไกล กวาดเรียบ 11 รางวัลบรรจุภัณฑ์ระดับโลก บทพิสูจน์พลังแห่งการออกแบบแพกเกจ ดันสินค้าพื้นถิ่นขายได้ทั้งในและต่างประเทศ
ปภัสราภรณ์ เหรียญทอง หรือปุ๋ม กรรมการบริหาร บริษัท ไร่ไม่จน จำกัด จาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ที่บ้านเป็นเกษตรกรกว่า 50 ปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นพ่อสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ก่อนหน้านั้นเราปลูกอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาล แต่สภาพเศรษฐกิจช่วงนั้นไม่ค่อยดี รายได้มันไม่พอกับค่าใช้จ่าย เราก็เริ่มที่จะหันมาแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง รวมกลุ่มเกษตรกรไปหาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำหลายๆ พันธุ์มาทดลองปลูกในราชบุรี สรุปเป็นอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เพราะความหอมและหวานกำลังดีให้สีสวยนานที่สุด
“เริ่มคั้นอ้อยทดลองขายท้ายรถ ตอนนั้นก็ใส่ขวดพลาสติกธรรมดาแบบสินค้าตามตลาดบ้านๆ เมื่อทำขายทุกวันก็เริ่มมีลูกค้าติดใจรสชาติและคุณภาพ ต่อมาเราได้พัฒนาเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในหลักสูตรจีเนียส อะคาเดมี (Genius Academy) รุ่นที่ 1 จนกลายมาเป็นแบรนด์น้ำอ้อยไร่ไม่จนกับบรรจุภัณฑ์น้ำอ้อยพาสเจอร์ไรซ์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศออกแบบบรรจุภัณฑ์ยอดเยี่ยมจากนานาชาติถึง 11 รางวัล อย่างน่าภาคภูมิใจในทุกวันนี้”
บริษัท ไร่ไม่จนทำธุรกิจ และผลิตภัณฑ์หลักเกี่ยวกับน้ำอ้อย แต่จะสื่อสารอย่างไร!? เพราะคงไม่สามารถไปตอบคำถามลูกค้าทุกคนได้ ทีมงานเห็นว่า ธุรกิจน้ำอ้อยยังไม่มีแบรนด์ไหนที่แข็งแกร่งจึงทำตลาด เริ่มต้นด้วยการผลักดันน้ำอ้อยพาสเจอร์ไรซ์เข้าสู่ช่องทางโมเดิร์น เทรด ซูเปอร์ไฮเปอร์มาร์เกต และร้านสะดวกซื้อต่างๆ เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในตลาด
ซึ่งบรรจุภัณฑ์สินค้าเป็นสิ่งสำคัญมากในการสื่อสารกับลูกค้า และผู้บริโภค จึงมีการออกแบบและสร้างบรรจุภัณฑ์ใหม่ในหมวดหมู่อุตสาหกรรมอ้อยขึ้นมา ให้บรรจุภัณฑ์เชื่อมโยงสอดคล้องกับสโลแกนที่ว่า ความสุข สดชื่น จาก “อ้อย” พันธุ์ดี เป็นที่มาของบรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบเป็นทรงปล้องอ้อย และสามารถซ้อนต่อกันได้ เป็นลูกเล่น (Gimmick) ช่วยส่งเสริมการขายได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถนำไปตกแต่งบูทได้อีกด้วย
จากสินค้าดั้งเดิม “น้ำอ้อยในขวดพลาสติกขุ่น” บรรจุภัณฑ์แบบตลาดบ้านๆ ใส่น้ำอ้อยแล้วขายเลย เมื่อได้รับการออกแบบแพกเกจใหม่ ทำให้แบรนด์และบริษัทเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
“เมื่อก่อนเราต้องวิ่งหาลูกค้าเพื่อเสนอขายและฝากขาย กลายเป็นว่าตัวแพกเกจหรือบรรจุภัณฑ์สามารถดึงดูดลูกค้าทั้งในและต่างประเทศมาหาเราได้แทน เหมือนการที่ไม่มีใครรู้จักและไม่เคยส่งออก ก็มาส่งออกได้ เพราะได้ปรับเปลี่ยนพัฒนาตัวบรรจุภัณฑ์”
ปุ๋ม-ปภัสราภรณ์ บอกว่า ปัจจุบันนอกจากในประเทศไทยแล้ว ในตลาดนานาชาติยังได้รู้จักแบรนด์ไร่ไม่จนเช่นกัน เพราะบรรจุภัณฑ์ไร่ไม่จนคว้ารางวัลการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากทั่วทุกมุมโลกรวม 11 รางวัล ทำให้แบรนด์ “ไร่ไม่จน” ประสบความสำเร็จด้านยอดขายและการรับรู้แบรนด์เป็นอย่างมาก จากที่สินค้าไม่เคยส่งออก ปัจจุบันส่งออกไปทั้งแคนาดา และออสเตรเลีย และมีอีกหลากหลายประเทศเช่น ออสเตรีย และประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจและทดสอบตลาดกันอยู่ จึงทำให้แบรนด์ไร่ไม่จนดังไกลไปในเวทีระดับโลกอย่างแท้จริง และสามารถเป็นหัวหอกในการขยายแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
“ไร่ไม่จน” เกษตรแปรรูป-SME จากราชบุรี รายนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตผลจากหลักสูตรจีเนียส อะคาเดมี (Genius Academy) ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดขึ้น และมีโค้ชยอด-ฉัตรชัย ระเบียบธรรม นักวางวิสัยทัศน์ระดับโลกผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยอด คอร์ปอเรชั่น จำกัด โค้ชแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท พร้อมท์ดีไซน์ จำกัด นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับด้วยรางวัลระดับโลกการันตีถึง 78 รางวัล เป็นผู้ออกแบบงานบรรจุภัณฑ์ชิ้นนี้ จนสามารถพิชิตรางวัลต่างๆ จากทั่วโลกได้
ซึ่งโค้ชทั้งคู่ รวมทั้งไอดอลด้านฟาร์มเกษตรของประเทศ “โชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย” ได้จับมือกันในโครงการจีเนียส เดอะ ครีเอชั่น (Genius The Creation) หลักสูตรแรกของธุรกิจการเกษตรไทย ที่กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กำลังเปิดรับเกษตรกร-SME ทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการฟรี
ทางออนไลน์ ได้ที่ https://forms.gle/6LUYgzAsHCpij5vGA, Email: ga.thecreation@gmail.com, Line : @ga.thecreation (มีเครื่องหมาย @ ด้วย)
เฟซบุ๊ก : ga.thecreation รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถ โทร.ติดต่อได้ที่ 06-4721-8102 ตั้งแต่วันนี้-20 กรกฎาคม 2563 นี้เท่านั้น
โค้ชแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ เปิดเผยถึงแนวคิดการสร้างสรรค์งานบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่นจนสามารถชนะรางวัลระดับโลก ที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ ว่า ต้องมีความกล้าและความบ้าในการทำอะไรที่คนอื่นไม่ทำ แต่การที่จะทำแบบนั้นได้ ต้องทำแบบมีวิธีคิด ด้วยเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ในการที่จะสร้างความแตกต่างอย่างเป็นระบบ ซึ่งทุกคนสามารถทำและเอาไปประยุกต์ได้ แต่ต้องดูว่ามีวิธีคิดและมีเครื่องมือที่ถูกต้องหรือไม่ เพื่อที่จะได้นำเอาเครื่องมือนี้มาสร้างความแตกต่างอย่างเป็นระบบ
เครื่องมือนี้เป็นเพียงแค่แนวทาง เหมือนแผนที่ที่จะเป็นตัวกำหนดกรอบการทำงานไม่ให้เราหลงทางออกไป โดยเครื่องมือสำคัญ 4 อย่างที่จะนำมาถ่ายทอดอย่างง่ายๆ ในหลักสูตรนี้ คือ แบรนด์ โลโก้ ความคิดสร้างสรรค์ และความแตกต่าง ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจสำคัญให้ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
“แรกๆ ก็ไม่เคยเชื่อว่าพลังแห่งการออกแบบมันมีจริง จนกระทั่งได้มาทำงานที่อยู่บนเวทีเพื่อการค้าขายจริงๆ ทำให้เชื่อได้เลยว่าพลังของการออกแบบ ทำให้สินค้าขายได้จริงๆ”
ซึ่งตนมองว่า ผู้ประกอบการไทยที่เก่งๆ มีความสามรถยังมีอีกมาก แต่ว่าเราไปให้คุณค่ากับสิ่งที่ห่อหุ้มสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ กันน้อยมาก แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่สินค้าดีและให้คุณค่าสูงกับงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทำให้เราสามารถมองเปรียบเทียบกันได้ว่าใครจะประสบความสำเร็จได้มากกว่ากัน ซึ่งในโครงการโครงการจีเนียส เดอะ ครีเอชั่นนี้ ตนและโค้ชทุกคนอยากปลูกฝังและสร้างคุณค่ากับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการที่พร้อมจะเปิดรับ พร้อมจะออกจากกรอบแนวคิดและพื้นที่สบายแบบเดิมๆ เพื่อการพัฒนาก้าวสู่ระดับโลกต่อไป
โค้ชแชมป์-สมชนะ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ได้เป็น 10 สุดยอดไอดอลด้านเกษตรกรรมโครงการนี้จะได้รับสิทธิพิเศษจาก โค้ชยอด-ฉัตรชัย ระเบียบธรรม ปรมาจารย์ด้านการวางวิสัยทัศน์ระดับโลก และโค้ชแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ ที่ได้รับรางวัลด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับโลกการันตี 78 รางวัลทั่วโลก ร่วมวางวิสัยทัศน์ในการออกแบบจนได้บรรจุภัณฑ์ให้ฟรี
นอกจากนี้ ยังมีรางวัล Best of the Best อีก 4 รางวัล โดยโชค บูลกุล จะเลือกผู้ประกอบการที่ดีที่สุด 2 ราย เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเป็นการส่วนตัวหลังจากจบโครงการ และโค้ชแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ สุดยอดนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ จะเลือกผู้ประกอบการที่ดีที่สุดอีก 2 ราย เพื่อดูแลด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมระดับโลกในอนาคต