รัฐบาลและภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเตรียมตัวสู่ New Normal หลังยกเลิกภาวะฉุกเฉิน รูปแบบการทำงานและวิถีชีวิตของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงไป หลังเผชิญภัยพิบัติโรคร้ายครั้งสำคัญ
รัฐบาลญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการสกัดโรคโควิด และปลดล็อคภาวะฉุกเฉินเกือบทั้งประเทศแล้ว แต่นายกฯ ชินโซ อาเบะ ระบุว่า ญี่ปุ่นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้อย่างยาวนานกับไวรัสนี้ จนกว่าจะมีการผลิตวัคซีนและการรักษาที่มีประสิทธิผล เขากล่าวว่า ไวรัสโควิดยังคงเป็นภัยคุกคาม ถึงแม้จะมีการยกเลิกภาวะฉุกเฉินก็ตาม
ผู้นำญี่ปุ่นเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมสำหรับการติดเชื้อระลอกที่ 2 และ 3 ที่อาจเกิดขึ้น และหากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ก็อาจต้องประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้งในบางพื้นที่
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ออกแบบแนว “วิถีชีวิตใหม่ป้องกันการติดเชื้อ” ประกอบด้วย
อยู่กับบ้าน ลดการออกไปภายนอก
หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ติดต่อใกล้ชิด
รักษาระยะห่างระหว่างกัน 2 เมตร
เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศสม่ำเสมอ
ออกกำลังกายภายนอกบ้านได้ แต่อย่ารวมกลุ่มกัน
สวมหน้ากากอนามัยเวลาพูดคุย การพูดคุยนาน 5 นาทีมีความเสี่ยงแพร่ไวรัสเท่ากับการไอ
หลีกเลี่ยงการพูดคุยในรถไฟ ลิฟท์ และพื้นที่ปิด
ล้างมือสม่ำเสมอ ปืดปากเมื่อไอจาม
ตรวจภูมิคุ้มกันครั้งใหญ่ พิสูจน์ปชช.ติดเชื้อไปเท่าไหร่ ?
กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นยังมีแผนจะตรวจหาภูมิคุ้มกันในหมู่ประชาชน เพื่อดูว่าไวรัสโคโรนาได้แพร่กระจายไปมากแค่ไหนในญี่ปุ่น โดยจะเริ่มตรวจภูมิคุ้มกันผู้คน 10,000 คนในเดือนมิถุนายน
ผู้ติดเชื้อโควิดเมื่อหายดีแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน หลายคนไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ คิดว่าป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา หลังจากหายป่วยแล้วก็ยังไม่รู้ตัวว่าเคยติดโควิด การตรวจหาภูมิคุ้มกันจึงทำให้เห็นภาพรวมว่า มีประชาชนจำนวนเท่าใดที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดแล้ว และไวรัสนี้ได้แพร่กระจายไปกว้างเพียงใด
ทางกระทรวงมีแผนที่จะดำเนินการโครงการนี้ใน 3 จังหวัดของญี่ปุ่น คือ กรุงโตเกียว และจังหวัดโอซากา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยจะเปรียบเทียบกับจังหวัดมิยางิ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า
ภาคธุรกิจปรับตัวสู้โควิด ปฏิรูประบบครั้งใหญ่
สหพันธ์ธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ เคดันเร็ง ได้เสนอให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เช่น ลดจำนวนผู้ที่ต้องเดินทางมาทำงาน, ให้ทำงานจากที่บ้าน, กำหนดชั่วโมงทำงานแบบยืดหยุ่น และให้ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เป็นต้น
กลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทต่าง ๆ ได้มีแนวทางป้องกันเชื้อ สำหรับบริษัทที่กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง เช่น ให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ ถุงมือ, เปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท รวมทั้งใช้เทคโนโลยีออนไลน์ ช่วยลดการทำงานที่ต้องพบกันใกล้ชิด
วิกฤตโควิดทำให้ระบบชำระเงินไร้เงินสดแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำมาใช้แทนตราประทับแบบดั้งเดิม การประชุมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ท้าทายระบบงานของญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยเอกสาร และการประชุมที่มากมาย
คนหนุ่มสาวสนใจทำงานนอกเมืองใหญ่
การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานทำให้ชาวญี่ปุ่นเริ่มตระหนักว่า “มนุษย์เงินเดือนก็มีวิถีชีวิตใหม่ได้” มีผลสำรวจพบว่า วัยหนุ่มสาวญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้น อยากจะทำงานในพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ๆ หลังภาวะระบาดทั่วของไวรัสโควิดคลี่คลาย
หนุ่มสาวร้อยละ 36 บอกว่า พวกเขาต้องการทำงานในพื้นที่ชนบท เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 14 จากการสำรวจครั้งก่อนหน้าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พวกเขาบอกว่า สามารถทำงานจากที่ใดก็ตาม
หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นบอกว่า การทำงานตามเมืองใหญ่มีความเสี่ยงมาก เทคโนโลยีได้ช่วยให้พวกเขาหวนคืนสู่บ้านเกิด ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่
ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นที่เคร่งครัดในแบบแผนและอนุรักษ์นิยม พบความท้าทายอย่างยิ่งจากวิกฤตโควิด ญี่ปุ่นจะใช้โอกาสนี้เข้าสู่ New Normal อย่างแท้จริง หรือหวนกลับสู่วิถีแบบดั้งเดิม จะชี้ชะตาของแดนอาทิตย์อุทัยว่าจะพลิกวิกฤตนี้เป็นโอกาสได้หรือไม่.