สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว ใครจะคิดบ้างว่าแรงผลักดันอย่างนึงในชีวิตคนเราอาจจะเกิดจากความขี้อิจฉาก็ได้ ถ้าพูดถึงครอบครัวคนญี่ปุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวแบบเดี่ยว แต่ละครอบครัวอาจจะมีลูกแค่คนเดียวหรือบางครอบครัวก็ไม่มีลูกเลย บ้างก็อ้างว่าเพราะว่าค่าครองชีพ ณ ปัจจุบันนี้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม ทำให้ต้องใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างรัดกุม หรือบางครอบครัวถึงขั้นอยู่ด้วยความยากลำบากเลยทีเดียว ที่ญี่ปุ่นต้องจ่ายภาษีเยอะและยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วน จิปาถะไม่ว่าจะเป็นค่าประกันสังคม ค่าภาษีต่างๆ ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคบริโภค ค่าใช้จ่ายทั่วไป ยิ่งถ้ามีลูกก็ต้องมีค่าเล่าเรียน ยิ่งมีลูกมากหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา พ่อแม่ต้องรับผิดชอบส่งเสียดูแลและเลี้ยงดู ตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนกว่าจะเรียนจนจบมหาวิทยาลัย
พูดถึงเรื่องการเรียนก็เผยให้เห็นลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นได้ด้วยเหมือนกันครับ ผมนึกถึงสมัยที่เป็นเด็กเล็กๆ 7-8 ขวบก็ ต้องหิ้วกระเป๋าใบโตไปโรงเรียน ต้องเรียนวิชาอะไรบางอย่างที่ไม่อยากเรียนเลยครับ ไม่รู้ที่เมืองไทยมีวิชาพละศึกษา แล้วเป็นกีฬาแปลกๆ ไหมครับ เด็กๆ ญี่ปุ่นจะต้องเรียนวิชากีฬาและทำกิจกรรมบางอย่างที่ผมคิดว่าจะเรียนไปเพื่ออะไรกันเนี่ย เช่น
〇Sakaagari 逆上がり วิชาทักษะหมุนตัวบนบาร์ โดยเริ่มต้นด้วยเท้าของคนที่จะหมุนตัวแตะบนพื้นดินและปีนขึ้นไปบนบาร์ไม้และหมุนร่างกายยกขาขึ้นหมุนไปข้างหน้า กิจกรรมนี้เด็กๆ ญี่ปุ่นต้องซ้อมเกือบทุกวัน ในวิชาเรียน ตอน ป.1-2 เด็กหนึ่งในสามคนเท่านั้นที่พอจะฝึกได้ในวิชาเรียน แต่ด้วยความเป็นญี่ปุ่นก็ต้องฝึกหัดนอกเวลาให้คนอื่นๆ สามารถทำได้ด้วยเหมือนๆ กัน แต่ไม่ค่อยมีใครทำได้ทันทีทันใดสักเท่าไหร่หรอกครับพูดตรงๆ จะมีสักกี่คนที่ทำได้ แต่พอเติบโตขึ้นก็ไม่มีวิชานี้อีก ไม่ได้ฝึก ไม่ได้ซ้อมก็ลืมๆ กันไปในที่สุด แต่วิชานี้มีในบททดสอบของการทดสอบเพื่อบรรจุเป็นครูด้วยถ้าไม่ผ่านก็ไม่สามารถเป็นครูได้ และยิ่งไปกว่านั้นก็มีโรงเรียนที่เปิดพิเศษสอน Sakaagari 逆上がり จะถามว่าวิชานี้มีความสำคัญแค่ไหน ก็ต้องบอกว่ามีความสำคัญขนาดที่ว่าโรงเรียนประจำมหาวิทยาลัยดังๆ อย่างโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเคโอ , โรงเรียน Aoyama ก็ต้องใช้วิชานี้เป็นหนึ่งในวิชาที่สอบเข้าด้วย
คิดว่าเหตุที่มีโรงเรียนเปิดสอนพิเศษเกี่ยวกับ Sakaagari 逆上がり โดยเฉพาะอย่างนี้อาจจะเป็นเพราะว่าปัจจุบันครอบครัวคนญี่ปุ่นมักจะมีลูกแค่คนเดียว ลูกคนเดียวนี้เองมักจะเป็นที่คาดหวังของทั้งบ้านมากจะแพ้คนอื่นไม่ได้ จึงจะต้องมีการส่งเสริมและผลักดันอย่างเต็มที่ ให้เข้าเรียนพิเศษ และเมื่อมีความต้องการก็มีโรงเรียนพิเศษที่เปิดสอนวิชาเหล่านี้
〇バク転 Back ten หรือการตีลังกากลับหลัง แบบแสดงอาการกระโดดหมุนด้านหลัง เป็นการออกกำลังกายด้วยการสวิงของแขนและเตะผลักบนพื้นดินด้วยข้อมือ คิดว่าหลายๆ คนคงพอนึกภาพออก แต่ก็มีความอันตรายนะครับต้องอยู่ในความดูแลของผู้สอนที่เชี่ยวชาญ バク転 Back ten ก็ถือเป็นทักษะการแสดงอย่างหนึ่งของพวกไอดอลและเป็นทักษะ ที่ญี่ปุ่นก็มีโรงเรียนที่เปิดสอนทักษะประเภทนี้ด้วย เหตุผลที่มีการตั้งโรงเรียนเพื่อสอนเพราะว่าคงมีคนญี่ปุ่นบางคนที่อยากจะเรียนและอยากจะตีลังกากลับหลังให้ได้และบางคนที่อยากสมัครเข้าทำงานเกี่ยวกับค่ายเพลงจอห์นนี่ อยากเป็นนักร้องเพลงของญี่ปุ่นถ้าตีลังกากลับหลังไม่ได้ก็จะเข้าไม่ได้ จึงต้องฝึกและหาโรงเรียนสอน
เมื่อพูดถึงโรงเรียนที่เปิดสอนทักษะพิเศษดังกล่าว นี้แล้วยังมีโรงเรียนที่สอนพิเศษสู่การเป็นนักพากย์การ์ตูน นักพากย์หนัง ซึ่งลูกพี่ลูกน้องของผมก็เรียนโรงเรียนวิชาชีพนี้ แล้วหวังว่าเมื่อเรียนจบออกมา จะได้หางานเกี่ยวกับงานพากย์หนัง ผมไม่แน่ใจว่าที่เมืองไทยจะมีโรงเรียนประเภทนี้อยู่หรือเปล่า แต่ผมคิดว่าที่ญี่ปุ่นมีคนสนใจเยอะและมีโรงเรียนที่สอนประเภทนี้อยู่ ทั้งๆ ที่อาหารญี่ปุ่นอย่างซูชิหรือโซบะต่างๆ อันเป็นอาหารพื้นเมืองและควรจะมีการสอนแต่ว่าก็จะไม่มีโรงเรียนที่สอนสำหรับทำซูชิและโซบะมาก่อนหน้านี้ แม้ว่าปัจจุบันมีโรงเรียนสอนแต่ภายใต้แบรนด์ของบริษัทแฟรนไชส์ก็ตาม
การที่โรงเรียนที่ญี่ปุ่นสอนการหมุนตัวบนบาร์หรือการตีลังกากลับหลังนั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่แปลกอยู่ เมื่อมีคนสนใจมากขึ้น ก็เริ่มมีโรงเรียนที่เปิดสอนพิเศษทักษะเหล่านี้ขึ้นมา เมื่อราวๆ ปีเฮเซย์ และเรวะนี่เอง
ทั้งๆ ที่สมัยก่อนนู้น รุ่นปู่ย่าตายายที่ญี่ปุ่นยังนิยมการมีลูกหลายคน และไม่ได้เข้มงวดกับลูกหลานมากเหมือนสมัยนี้ เพราะมีเด็กๆ เยอะ ครอบครัวหนึ่งอาจจะมีลูกถึง สามสี่คนซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนรุ่นผมก็มีพี่น้องรวมแค่สองคน อยู่บ้านที่เป็นครอบครัวใหญ่มีปู่ยาอยู่บ้านเดียวกัน มีบริเวณบ้านให้วิ่งเล่นมาก พ่อแม่เริ่มเข้มงวดลูกตามสมัย แต่ก็ไม่ถึงกับสมัยนี้ ตอนนั้นผมชอบแกล้งน้อง จับไปขังเล่นไว้ในห้องเก็บของบ้าง ก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าเป็นสมัยนี้เรื่องถึงตำรวจและถูกจับแน่ๆ ใครจะทำอะไรเด็กๆ ไม่ได้เลย กฏหมายเอาจริงมาก สมัยนี้แม้แต่ถ่ายรูปเด็ก หรือแกล้งเด็กยังเป็นประเด็นไปเสียหมด
บ้านเรื่อนของคนญี่ปุ่นที่อยู่ต่างจังหวัดนั้น ยังเป็นบ้านเรือนที่มีพื้นที่และบริเวณกว้างขวาง ในบริเวณบ้านจะมีตัวบ้านหลังใหญ่ที่เป็นตัวบ้านหลัก และมีห้องเก็บของเป็นบ้านหลังเล็กๆ ตั้งแยกส่วนจากตัวบ้านหลัก อยู่บริเวณรอบๆ บ้านอีก 2-3 หลัง เรียกว่าเรือน 蔵 Kura ซึ่งสมัยก่อนผมไม่ชอบลักษณะบ้านแบบนี้เลย แต่ว่าพอเติบโตขึ้นมาต้องมาทำงานที่โตเกียวและใช้ชีวิตอยู่ในห้องเล็กๆ ทำงานเหนื่อยกลับมาอยู่ในห้องแคบๆ และลุกไปทำงานวนๆ ลูปอยู่เช่นนี้ รวมทั้งสภาพสังคมและการใช้ชีวิตที่ต้องมีความเข้มงวดต่างๆ นานา ก็ทำให้รู้สึกว่าชีวิตปัจจุบันมันเป็นความยุ่งยากมากและมีความขัดสนเสียมากกว่า คนอื่นๆ ในสังคมก็คงคล้ายๆ กัน แต่ต้องอดทนกันต่อไป คนในสังคมส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนอยู่ในห้องเล็กๆ แบบนี้ทำให้ผมหวนคิดถึงบ้านที่มีสภาพและบริเวณแบบเดิมเหมือนกันครับ
เรือน 蔵 Kura คือสิ่งก่อสร้างที่มีไว้สำหรับจัดเก็บสิ่งของต่างๆ ในครัวเรือนหรือสินค้าต่างๆ ให้เป็นสัดส่วนและปลอดภัย หรือเรียกว่า warehouse นั่นเอง บ้านและเรือน Kura นั้นส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัดต้องมีพื้นที่บริเวณบ้านกว้างๆ บ้านที่โตเกียวไม่มีใครสร้างแบบนี้นัก ต่างจังหวัดส่วนใหญ่สร้างลักษณะนี้กันเยอะ มีตัวบ้านหลักและมีเรือนเก็บของ Kura ตั้งอยู่แยกส่วนจากตัวบ้านหลักซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่าบ้าน โดยเฉพาะบ้านเรื่อนที่อยู่จังหวัดแถบทะเลญี่ปุ่นจะสร้างบ้านเรือนสวยๆ และมีเรือน Kura ที่สวยมากๆ เช่น บ้านแถบจังหวัด Tottori หรือว่า Shimane ถ้าใครมีโอกาสไปเที่ยวชมบ้านเรือนญี่ปุ่นลองดูครับ นอกจากนี้บ้านและเรือน Kura ยังแสดงถึงฐานะทางบ้านอีกด้วย คนญี่ปุ่นจริงๆ แล้วมีความขี้อิจฉาฝังลึกในใจมาก บางทีเห็นบ้านใกล้ๆ กันสร้างเรือน Kura ใหญ่มากก็จะรู้สึกกระอักกระอ่วน ท้องไส้ปั่นป่วน และอิจฉากันอยู่ภายในใจแล้ว เป็นแบบนี้จริงๆ เรามีสำนวนเปรียบเทียบอาการนี้ด้วยครับเรียกว่า 隣に蔵建ちゃ、わしゃ腹が立つ
Tonari ni kura tacha, washa hara ga tatsu
เรื่องบ้าน เรื่องขี้อิจฉานี้ ก็เปรียบได้ในทิศทางเดียวกับการศึกษาและสังคมเช่นกัน ด้วยความที่ต้องทำอะไรเหมือนๆ กันตามๆ กันไป เมื่อกันคนในกลุ่มสังคมนั้นอาจจะเรียนจบแค่ระดับมัธยมศึกษา แต่ถ้ามีใครสักคนเรียนจบมหาวิทยาลัยขึ้นมาละก็ คนอื่นๆ ก็จะรู้สึกยอมไม่ได้ ต้องไต่ระดับให้เทียบเท่ากัน ต้องเรียนให้จบระดับเทียบเท่ากัน แต่ก็ไม่รู้ว่าปัจจุบันนี้การเรียนมากๆ จะทำให้คนเราประสบความสำเร็จในชีวิตได้จริงไหม หรือทิศทางใดสำหรับสังคมญี่ปุ่น
และถ้ามีเด็กๆ รุ่นวัยสิบกว่าขวบมาปรึกษาว่าแล้วจะทำอย่างไรดี ผู้ใหญ่คงตอบได้แต่เพียงว่า "ขอให้พยายามตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด" และถ้าถึงระดับนักศึกษามหาวิทยาลัย คงจะแนะนำว่า " คงต้องพยายามหางานที่ดีให้ได้" แต่ถึงแม้ว่าคุณจะทำดีที่สุด พยายามมากแค่ไหนแต่ก็ไม่มีอะไรการันตรีได้ว่าจะได้รับงานที่เหมาะสมหรือไม่
ถ้าลองคิดดูแล้วคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเด็กก็ตามหรือผู้ใหญ่ก็ตาม มีสิ่งที่เหมือนกันคือส่วนใหญ่เกลียดการเรียน ..แต่ที่บอกว่าเกลียดนั้น จะเป็นแบบบอกว่าเกลียดแต่เมื่อคนอื่นทำ ก็ต้องผลักดันตัวเอง ก็อิจฉาอ้ะ จะน้อยกว่าไม่ได้ ก็ต้องอดทนสู้ต่อไป .. บางครั้งคนเราก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าเมื่อถึงช่วงอายุ 15 ปี หรือ อายุ 18 ปี ฉันจะต้องตั้งใจเรียน ฉันอยากศึกษาเล่าเรียน แต่ส่วนใหญ่คิดว่า ฉันอยากมีเงินมีทอง มีความสุขเพียบพร้อมในชีวิต ต้องการที่จะมองหางานที่ทำให้มีชีวิตที่ดีและเป็นปกติสุข แค่ทำงานอะไรๆ ที่เป็นความปกติในชีวิตเท่านั้นเอง
ชีวิตทั่วไปของคนทำงาน ก็มักจะมีวิถีการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ คือเริ่มออกเดินทางไปทำงานตั้งแต่ตี 5 ถึงที่ทำงาน เริ่มทำงานจนดึกดื่นถึงสามสี่ทุ่ม และปกติก็ไม่มีใครอยากทำงานล่วงเวลามากจนเกินไป อาจจะมีบ้างก็ได้ที่ทำงานนนอกเวลาเป็นบางครั้งและอยากที่จะมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์เพื่อฟื้นฟูสภาพปกติของร่างกายและจิตใจ แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นเหมือนดั่งที่ฝันไว้
ตัวอย่างจากข่าวของคนที่ฆ่าตัวตายจากการทำงาน ความเครียดต่างๆ มากมาย การหางาน สมัครเข้างานว่ายากแล้ว ชีวิตในที่ทำงานยากกว่าอีก เช่น การเข้าทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นักที่จะผ่านเข้าไปทำงานที่นี่ได้ ผ่านเข้าไปแล้วต้องเจออะไรโหดๆ เข้มงวดอีกมากมาย
ดังนั้นแล้วในความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน เทียบกับสิบยี่สิบปีก่อนจำนวนของเด็กที่เกิดจากพ่อแม่หรือครอบครัวปัจจุบันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเฉลี่ยก็มีอัตราการเกิดของเด็กคือ 1-2 คน ต่อครอบครัว เพียงแต่ครอบครัวในยุคปัจจุบันอาจจะไม่มีงานที่ดีรองรับเท่ากับสมัยก่อน ไม่มีงานที่ดีก็ไม่มีเงินและสวัสดิการอย่างเพียงพอที่จะเลี้ยงดูและให้ความเป็นอยู่ที่ดี่กับคนในครอบครัว ทำให้คนในรุ่นปัจจุบันเลือกที่จะอยู่เป็นโสด อยู่คนเดียวไปดีกว่า ไม่ต้องการแต่งงานและสร้างครอบครัว ยกเว้นอาจจะมีบ้าง พวกญี่ปุ่นแนวๆ ที่ถูกขนานนามว่าเป็น Yankee เเยงกี้ヤンキーที่มีภาพลักษณ์ประมาณว่าเป็นคนเลือดร้อนที่ชอบใช้ชีวิตด้วยความโลดโผน มีสีสันและฉูดฉาด ที่ยังใช้ชีวิตแบบไม่กังวลเรื่องเศรษฐกิจปากท้องมากนัก ก็ยังสร้างครอบครัวและมีลูกและใช้ชีวิตของเขาไปตามปกติ นี่คือเหตุผลที่คนรุ่นปัจจุบันที่เรียนจบมหาวิทยาลัยออกมาแล้วไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก และค่อยๆ กลายเป็นว่าเกิดเป็นกลุ่มสังคมที่มีความหลากหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกคนรวยมีอันจะกิน หรือลูกของชาวเเยงกี้ ก็จะสานต่อวิถีชีวิตเดิมๆ ของครอบครัวไปเรื่อยๆ ต่อไป เล่าสู่กันฟัง วันนี้สวัสดีครับ