xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนญี่ปุ่นต้องไปร่วมงานเลี้ยงส่งท้ายปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว วันนี้ก็เป็นวันเสาร์ที่สามของเดือนธันวาคมแล้ว อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีอีกแล้ว วันเวลาผ่านไปไวจริงๆ นะครับ ช่วงนี้แต่ละองค์กรและบริษัทต่างๆ คงจะมีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ญี่ปุ่นก็คล้ายๆ กันครับช่วงนี้หน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ ก็จะมีการจัดปาร์ตี้เลี้ยงส่งท้ายปีเก่ากัน เรียกว่า โบเน็งไค 忘年会 ร้านอาหารต่างๆ ก็จะถูกจองกันเต็ม คิดแล้วก็น่าสนุก

พูดถึงงานเลี้ยงงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ที่บริษัทญี่ปุ่นจัดนอกจากงานเล็กๆ ที่จัดกันเรื่อยๆ แต่ละอาทิตย์ ยังมีงานหลักๆ ที่ถือว่าเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ของบริษัท ซึ่งแต่ละอีเว้นท์จะมีการสร้างเหตุผลของการจัดงาน จึงทำให้มีอีเว้นท์ที่หลากหลายมาก อาทิเช่น

同窓会 dosokai คือ ผู้ที่มีความสัมพันธ์กัน รู้จักเป็นเพื่อนกัน, คบค้าสมาคมกัน (เช่น เพื่อน, ผู้ร่วมงาน, หุ้นส่วน) คงประมาณสมาคมศิษย์เก่า งานเลี้ยงสังสรรค์ประเภทนี้จะจัดขึ้นแล้วแต่องค์กรบางองค์กรจัดที่เดือนกุมภาพันธ์ แบ่งได้เป็นการจัดเลี้ยงเนื่องด้วยเหตุการณ์ คือ


1. เลี้ยงสังสรรค์สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาของโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ หรือสมาคมศิษย์เก่า

2. เลี้ยงสังสรรค์สำหรับองค์กรที่จัดรวมตัวผู้ที่เคยทำงานในองค์กรนั้นๆ ที่อาจจะลาออกไป หรือเกษียณอายุการทำงาน การจัดครั้งหนึ่งๆ อาจจะมีการเชิญผู้ร่วมงานมากถึง 100 คนก็ได้

●暑気払い shokibarai การเลี้ยงสังสรรค์ประเภทนี้จะจัดประมาณเดือนกรกฏาคมหรือช่วงที่เป็นฤดูร้อน สำหรับงานเลี้ยงในช่วงอากาศร้อนและงานปาร์ตี้นี้ ผู้ที่มาร่วมงานสามารถดื่มได้เต็มที่ การจัดเลี้ยงให้ผู้ที่ทำงานในออฟฟิศในองค์กรนั้นๆ เพราะมีสภาพอากาศร้อนมาก การมาปาร์ตี้สังสรรค์ในช่วงฤดูร้อนเช่นนี้จะมีการเลี้ยงเบียร์หรือเครื่องดื่มเย็นๆ จะหมายถึงการเลี้ยงสังสรรค์เพื่อที่จะกำจัดความร้อนให้ออกไป แต่ก็ค่อนข้างจะจัดอย่างเป็นเป็นทางการอยู่เหมือนกัน ช่วงฤดูร้อนที่จัดงานเลี้ยงประเภทนี้ อาจจะเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิร้อนนิดนึงแต่ว่าที่จริงเป็นช่วงที่การงานก็ไม่ค่อยยุ่งเท่าไหร่ ก็ยังไม่เหน็ดเหนื่อยมากเหมือนช่วงปิดงบหรือช่วงสิ้นปี ที่เป็นช่วงที่ยุ่งมากและมีปิดงบ มีประชุม มีการวางแผนงานล่วงหน้ามากมาย

●忘年会 bonenkai การเลี้ยงสังสรรค์ส่งท้ายปีนี้คือจัดที่ประมาณช่วงเดือนธันวาคม

●新年会 shinnenkai การเลี้ยงสังสรรค์ต้อนรับปีใหม่นี้จัดที่ประมาณเดือนมกราคมครับ


ซึ่งช่วงนี้หน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ ก็จะมีการจัดปาร์ตี้เลี้ยงส่งท้ายปีเก่ากัน ที่เรียกว่า โบเน็งไค 忘年会 ดูน่าสนุกนะครับ ทว่าที่ญี่ปุ่นกลับมีหัวข้อที่พูดถึงกันอย่างมากไม่ว่าจะทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือ SNS ก็คือ รู้สึกว่าไม่อยากไปงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่า "ไม่อยากไป ปาร์ตี้โบเน็งไค 忘年会" แทนที่ทุกคนจะสนุก แต่ทำไมถึงพูดกันอย่างมากว่าไม่อยากไปเลย ผมอ่านข้อความเหล่านั้นแล้วทำให้รู้สึกว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ เพราะที่ญี่ปุ่นขณะนี้มีความเห็นเรื่องการไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ส่งท้ายปีแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่าควรจะไปงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าของบริษัทให้ได้ และอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ต้องไปก็ได้ สมัยก่อนที่สังคมญี่ปุ่นไม่เคยมีประเด็นที่แยกออกเป็นสองความคิดเห็นเช่นนี้ เพราะว่าคนส่วนใหญ่คิดว่า อย่างไรก็ตามควรจะต้องไปงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าของทางบริษัท

วันก่อนผมคุยกับเพื่อนที่อยู่ญี่ปุ่นทาง LINE คุยๆ กันอยู่ แล้วเค้าก็หายไปนานเลย ไม่ตอบข้อความ ผมก็เลยคิดว่าสงสัยจะอยู่ในงานปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่าหรือเปล่า ไม่รู้สนุกหรือกำลังโดนยำอยู่ก็ไม่รู้ ทำให้ผมนึกถึงตอนที่ผมทำงานที่บริษัทตอนที่อยู่ญี่ปุ่น สมัยที่ผมทำงานอยู่นั้น คือส่วนใหญ่ที่ผมไปก็จะไปงานปาร์ตี้ที่จัดเป็นกลุ่มเล็กๆ อยู่บ้าง แต่งานปาร์ตี้ใหญ่ๆ ตอนเริ่มงานก็สนุกอยู่หรอก เฮฮาสังสรรค์สนุก แต่ระหว่างที่หัวหน้าเริ่มเดินเครื่องได้ละ เริ่มเมาสักครู่ก็เริ่มน่าเบื่อและพวกผู้น้อยจะเริ่มไม่อยากอยู่ในวงนั้นล่ะ เพราะอะไร คงจะรู้สึกอย่างที่ผมเคยเจอเป็นแน่


คือตอนนั้นเป็นจังหวะงานเข้าพอดี เป็นวันที่ยุ่งมากๆ เพราะใกล้สิ้นปี มีลูกค้าเข้ามาทำธุรกรรมเยอะ ต้องเก็บข้อมูล ทำเอกสาร เข้าประชุมมากมาย แต่เป็นวันที่บริษัทจัดงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่า จะไม่ไปก็ไม่ได้ งานก็ไม่เสร็จ ต้องทำให้เสร็จก่อน กว่าจะเสร็จก็เกือบสองทุ่มก็รีบหาแท็กซี่ไปร้านที่เขาจัดงานอย่างด่วน จะไม่ไปก็ไม่ได้เพราะว่ามันมีเหตุผลและอีกอย่างหนึ่งก็โดนเก็บเงินไปแล้ว เป็นแบบนี้หลายคนไม่ใช่ผมคนเดียวและถึงแม้ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องไปพอไปถึงงานก็จะจบงานแล้ว คนอื่นๆ ก็ทยอยจะกลับกันบ้างแล้ว

ถ้าไปไวก็จะได้ทานอาหารอร่อยๆ เทมปุระร้อนๆ ซุปร้อนๆ แต่วันที่ไปช้านั้นไม่มีอาหารใหม่ๆ แล้ว อาหารเย็น และมีเท่าที่เหลือบนโต๊ะ เพราะคนอื่นก็เตรียมจะกลับกันแล้ว ถ้าแค่นี้ก็ยังไม่เท่าไหร่แต่ว่าพอไปถึงแบบนี้เราก็จะเจอหัวหน้าดุครับว่า มาช้า จะมาทำไม ( คือแต่ถ้าไม่มาก็โดนรึเปล่า )ไปตัดผมให้เรียบร้อยเลย J⎛´・ω・`⎞ し คือเริ่มดุว่านอกเรื่องแล้ว ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานเลย แล้วก็ไม่ควรจะพูดว่านอกเรื่องแบบนี้หรือเปล่า ที่จริงเราอุตสาห์ทำงานอย่างหนักและเหนื่อย อุตส่าห์รีบมาให้ทันงาน โดยต้องนั่งแท็กซี่เสียเงินเพิ่มอีก ก็มาโดนว่าหน้าชา ถ้าโดนผู้ใหญ่ดุในงานบ่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกไม่อยากไป นี่ก็เรื่องหนึ่งที่ผมนึกขึ้นมาได้ จากเหตุการณ์นี้ก็เลยทำให้คิดขึ้นมาได้ว่าเข้าใจละว่าทำไมตอนเนี่ยถึงมีประเด็นขึ้นมาว่า ไม่อยากจะไปงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าหรือว่างานปาร์ตี้ของบริษัทเลย


เพราะปีต่อมาๆ เมื่อมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ เข้าพลอยทำให้พนักงานไม่อยากจะไปงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าของบริษัทเท่าไหร่นัก ปกติถ้าเป็นงานที่ไม่ใหญ่อาจจะเป็นงานปาร์ตี้เล็กๆ เป็นกลุ่ม งานแบบนี้ไม่ไปก็คงจะไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ส่งท้ายปีเก่าซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างเป็นทางการของบริษัท ที่บริษัทจัดขึ้นส่วนใหญ่จะมีรายชื่อของทุกคนในบริษัทและต้องเชิญทุกคนไปด้วย ดังนั้นเป็นที่รู้กันว่าถ้าไม่ไปงานนี้ก็ไม่ค่อยดีนัก

แล้วส่วนใหญ่การเลี้ยงสังสรรค์ก็จะจัดงานกันช่วงคืนวันศุกร์ ก็เข้าใจว่าปกติแล้วพนักงานทั่วไปก็อยากจะไปสังสรรค์กับครอบครัวหรือเพื่อนๆ ตัวเองมากกว่า นี่คือมุมมองของฝ่ายที่เป็นผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ถ้าเป็นมุมมองของผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปพวกเค้ามองมุมแบบนี้ว่าอย่างไรบ้าง?!

คนรุ่นอายุ 50 ปีขึ้นไปนั้น ปัจจุบันจะอยู่ในตำแหน่งระดับหัวหน้าในองค์กร เป็นญี่ปุ่นรุ่นที่เริ่มเข้าทำงานที่บริษัทมาตั้งแต่อายุ 18- 20 ปี และมีค่านิยมว่าจะต้องทำงานบริษัทเดิมตลอดชีวิตจนกว่าจะเกษียณ ดังนั้นจะมีความสัมพันธ์กับเพื่อนและมีความจงรักภักดีต่อบริษัทเป็นขั้นเป็นตอนมาก ดังนั้นถ้าให้เลือกงานของบริษัทและงานส่วนตัว เค้าจะไม่มีความคิดเลยว่าจะต้องไปกับเพื่อน หรือจะต้องไปกับครอบครัว คือเรื่องส่วนตัวนี่คิดไม่ได้เลย ยังไงงานก็ต้องสำคัญที่สุด งานเลี้ยงบริษัทต้องมาก่อนงานศพญาติตัวเอง เป็นต้น แม้ว่าเป็นงานปาร์ตี้เล่นกอล์ฟหรืองานอะไรก็ตามเขาก็จะถือว่าเป็นงาน เป็นหน้าที่ทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อคนกลุ่มนี้คิดแบบนี้ แล้วถ้าเค้าได้ยินผู้น้อยบอกว่าไม่ไปงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่า ไม่ไปงานต้อนรับปีใหม่ของบริษัท เค้าจะคิดว่าพนักงานคนนั้น 'อยากลาออก' ครับ และจะเริ่มมองด้านลบ ซึ่งจริงๆ แล้วพนักงานคนนั้นอาจจะไม่ได้คิดอยากลาออกเลยก็ได้


ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันนักระหว่างมุมมองของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ประมาณว่าถ้ามีคนที่ทำงานในองค์กรญี่ปุ่นมาทำงานปกติ จ่ายเงินค่ากินเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่ที่เก็บเงินทุกครั้ง แต่ก็ไม่ไปร่วมงาน อาจจะโดนเรียกว่า * ชาโดว์ (シャドウ ; Shadow) ก็ได้ ผมเอามาจากลักษณะนิสัยของตัวละครจากเกมส์ ชาโดว์นี้เขาเป็นนักฆ่า อายุประมาณ 30 ปีปลายๆ เหมือนเป็นนินจาลึกลับ ไม่มีใครรู้ที่มาของเขา ทำตัวคล้ายๆ สายลับที่นึกจะมาก็มา นึกจะไปก็ไป มีคอมมานด์ประจำตัวด้วย คือการขว้างอาวุธและวิชานินจาต่างๆ เพื่อไปโจมตีศัตรู นี่แหละคนอย่าง ชาโดว์จึงไม่ไปงานเลี้ยงแน่ๆ แต่คิดว่าในชีวิตการทำงานจริงในบริษัทญี่ปุ่นคงไม่มีคนแบบชาโดว์!!นะครับ … (´∀`*)

ดังนั้นเพื่อสวัสดิภาพในการทำงานของตนเอง ผมคิดว่ายังไงก็ตามก็ควรจะไปร่วมงานกับบริษัทครับ โดยเฉพาะคนที่อาจจะทำงานไม่เก่งนัก หรือไม่ค่อยมีเพื่อนในที่ทำงาน ก็ควรจะไปเป็นอย่างยิ่ง วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น