คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะ ช่วงที่ไปญี่ปุ่นตอนนั้นเป็นฤดูใบไม้ร่วงต่อด้วยฤดูหนาว ร่างกายฉันคงยังปรับตัวไม่ค่อยได้ ประกอบกับไม่ได้ออกกำลังกาย จึงมักเป็นหวัดไข้ขึ้นแทบจะเดือนละครั้ง ขนาดว่าพยายามทำให้ตัวอบอุ่นไว้ก็ยังไม่วาย
แม้จะเป็นฤดูหนาว แต่เพื่อนสาวชาวไต้หวันที่ตัวเล็กหุ่นบางจนเห็นแล้วเดาว่าน่าจะมีอาการมือเท้าเย็นบ่อย ๆ ไม่ยักจะใส่เสื้อหนาวหนาเตอะ ถามเธอว่าใส่เสื้อไม่กี่ชั้นแค่นี้ไม่หนาวหรือ เพื่อนบอกว่า “ใส่ฮีตเทคเอา” ฉันทำหน้าเหลอที่ได้ยินคำศัพท์ใหม่ เธอเลิกคิ้วอย่างแปลกใจ “อ้าว ไม่รู้จักหรอกรึ” แล้วบอกฉันว่ามันเป็นเสื้อสำหรับใส่ไว้ชั้นในสุด ช่วยเก็บความร้อนของร่างกายได้ ทำให้ร่างกายอุ่นโดยไม่ต้องใส่เสื้อหลายชั้น
สมัยก่อนที่ยังไม่มีเสื้อแบบนี้ บ้านฉันเคยมีเสื้อขนแกะบาง ๆ อยู่ตัวหนึ่งที่ช่วยให้อุ่น เวลาคนในบ้านจะไปเมืองหนาวต้องขอยืมกันไปมา พอต้องการจะใช้ก็ต้องถามว่าตอนนี้เสื้อตัวนั้นอยู่กับใคร เดี๋ยวนี้คงไม่ค่อยมีคนใส่เสื้อขนแกะชั้นในแบบนั้นเท่าไหร่แล้วตั้งแต่มีเสื้อฮีตเทค
คราวหนึ่งที่โรงเรียนมีสอบพูด แต่ครูที่สอบไม่ใช่ครูประจำชั้นที่ปกติสอนห้องเรา ฉันได้สอบกับคุณครูวัยคุณป้าซึ่งถามว่าทำไมบางทีขาดเรียน ฉันบอกว่าเพราะเป็นไข้หวัดและนอนซมประจำ คุณครูทำหน้าเห็นใจพลางบอกว่าประเทศไทยไม่หนาวอย่างนี้สินะ ก่อนจะหยิบแผ่นทำความอุ่นที่เรียกว่า “ไคโระ” (カイロ)ขนาดเล็กชนิดมีกาวออกจากกระเป๋า คุณครูบอกฉันให้หันหลัง แล้วแปะแผ่นทำความอุ่นเข้าที่เสื้อฮีตเทคบริเวณเหนือเอวให้ฉันอย่างใจดี ฉันก็เพิ่งทราบตอนนั้นว่าแผ่นทำความอุ่นแบบมีกาวเขาใช้กันอย่างนี้น่ะเอง ตอนแรกงงว่าจะต้องแปะที่ไหน
ที่โรงเรียนมีจัดทัศนศึกษาอยู่หลายครั้ง ให้ไปดูเบสบอลบ้าง ซูโม่บ้าง รวมทั้งพาไปนิกโกซึ่งมีการพักค้างแรมหนึ่งคืนด้วย ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนโรงเรียนจะไม่ได้บังคับดูเบสบอล แต่ถ้าใครอยากจะไปดูก็ลงชื่อแล้วรับบัตรไปดูได้ ฉันไม่เคยดูเบสบอลแต่อยากทราบว่าเป็นอย่างไรจึงลองไปดู อาจเพราะไม่รู้กฎในการเล่น ดูไม่เป็น จึงไม่เกิดความรู้สึกสนุกเท่าใดนัก
ส่วนซูโม่โรงเรียนบังคับดู และคุณครูมีการเช็คชื่อก่อนและหลังดูจบว่านักเรียนแต่ละคนยังอยู่ตลอดรายการไหม แต่ละห้องจะได้ที่นั่งแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ไป เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมดูแลนักเรียน ฉันเคยรู้สึกว่าซูโม่เป็นกีฬาที่เหมือนเด็กเล่นดันกัน และไม่เข้าใจว่าทำไมจึงได้รับความนิยม ตอนดูคู่แรก ๆ ก็เฉย ๆ แต่พอตอนใกล้จบที่มีนักซูโม่เก่ง ๆ แข่งก็รู้สึกว่าสนุกอยู่เหมือนกัน
นักซูโม่มีหลายระดับ ระดับสูงสุดซึ่งเรียกว่า “โยโกซุนะ” ในปัจจุบันมักเป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวมองโกเลีย และนักซูโม่เก่ง ๆ ที่มาจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกก็มีอีกจำนวนมาก นักซูโม่แต่ละคนไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่นหรือต่างชาติจะได้รับสมญานามใหม่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณ ว่ากันว่าเพื่อปิดบังตัวภูมิหลังของนักซูโม่ และเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ชมให้ซื้อตั๋วมาดูการแข่งขัน
แม้ว่าซูโม่จะเป็นหนึ่งในกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นกีฬาที่ได้รับเกียรติเป็นพิเศษกว่ากีฬาประจำชาติชนิดอื่น ๆ อย่าง ยูโดหรือคาราเต้ เห็นได้จากการที่นักซูโม่ระดับ “โยโกซุนะ” มักได้รับเกียรติไปร่วมในงานพิธีใหญ่ ๆ ระดับประเทศอยู่เสมอ ราวกับเป็นคนใหญ่คนโตของประเทศเลยทีเดียว
ส่วนตอนไปทัศนศึกษาที่นิกโก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของญี่ปุ่นที่โด่งดังทางธรรมชาติ มีบ่อน้ำร้อน และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โรงเรียนให้นั่งรถบัสไปกันหลายคัน ในรถบัสจะมีไกด์สาวญี่ปุ่นผู้ร่าเริงและยิ้มเก่ง คอยพูดอะไรต่อมิอะไรไปเรื่อย ให้ความเพลิดเพลินระหว่างเดินทางหลายชั่วโมงได้ดีเหมือนกัน
การไปนิกโกครั้งนั้นทำให้ฉันได้ไปเที่ยวหมู่บ้านเอโดะเป็นครั้งแรก ที่นั่นตกแต่งบรรยากาศแบบญี่ปุ่นย้อนยุคไปในสมัยเอโดะ สามารถขอถ่ายรูปพวกพนักงานที่แต่งชุดโบราณได้ด้วย มีอะไรให้เล่นให้สำรวจมากมายโดยเฉพาะสำหรับคนชอบประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตคนยุคเก่า มีร้านขายอาหารบรรยากาศโบราณ ๆ ซึ่งกลิ่นอายในร้านก็พลอยอับ ๆ ไปด้วย จำได้ว่ามีขายซาลาเปา แต่ก็สงสัยอยู่ว่าสมัยเอโดะมีซาลาเปาหรือเปล่านะ ?
ช่วงปลายภาคเรียน ทางโรงเรียนจัดงานออกร้านอาหาร โดยให้แต่ละห้องเรียนคิดเมนูอาหารที่จะขายมาหนึ่งอย่าง และต้องประกวดสุนทรพจน์เกี่ยวกับอาหารที่จะขายด้วย โดยคุณครูซึ่งเป็นกรรมการและนักเรียนห้องอื่น ๆ จะเวียนมาฟังสุนทรพจน์ของแต่ละห้อง พอเสร็จสิ้นการให้คะแนนสุนทรพจน์แล้ว ก็เป็นเวลาขายอาหาร ซึ่งมีการขายคูปองอาหารล่วงหน้า คุณครูประจำชั้นก็ซื้อไว้แล้วมาอุดหนุนนักเรียนห้องตัวเองด้วย
ห้องฉันเลือกทำอาหารเกาหลี เป็นซุปผักซึ่งทำง่ายดายด้วยการนำผักที่เหลือในตู้เย็นมาใช้ เราแบ่งคนออกเป็นสองส่วน ครึ่งหนึ่งรับหน้าที่กล่าวสุนทรพจน์ อีกครึ่งรับหน้าที่ทำอาหาร ฉันโดนจับไปอยู่ครึ่งที่ต้องกล่าวสุนทรพจน์ ก็เลยต้องมานั่งช่วยกันเขียนบท โดยกล่าวถึงความเป็นมาของอาหารชนิดนี้ ข้อดี และวิธีการทำที่แสนง่ายดาย
เราเอาบทพูดนี้มาแบ่งส่วนกันเพื่อผลัดกันพูด ฉันฝึกซ้อมอยู่หลายหนเพื่อให้จำได้ขึ้นใจ และพยายามพูดอย่างเป็นธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะตื่นเต้นแต่ก็สนุกดี ยามมองสบตาผู้ฟังที่กำลังตั้งใจฟังด้วยรอยยิ้มแล้วก็ค่อยคลายความตื่นเต้นไปได้บ้างค่ะ เว้นน้องฉันกับเพื่อนสองสาวไต้หวันที่ยิ้มกรุ้มกริ่มราวกับจะกลั้นหัวเราะ เห็นแล้วพลอยจะหัวเราะตาม น่าจับมาหยิกแก้มหมดทั้งสามคน แต่อีกใจก็ดีใจที่อุตส่าห์มาให้กำลังใจ
พอสุนทรพจน์เสร็จสิ้นลง ห้องเราก็เฮโลกันลงไปที่ลานนอกอาคารเรียน อากาศกำลังหนาว เห็นควันฉุย ๆ ของซุ้มอาหารหลายจุดแล้วก็ชักหิว พอเพื่อนร่วมห้องเห็นหน้าก็กวักมือเรียกให้ไปหา พลางตักซุปที่กำลังร้อน ๆ ใส่ถ้วยใบเล็ก ๆ ยื่นให้ ฉันจึงเพิ่งได้ชิมอาหารที่ฉันไม่เคยรู้รส แต่กลับพูดถึงในสุนทรพจน์ราวกับรู้จักดี ซุปนั้นอร่อยกลมกล่อมดีไม่เบา เสียดายที่ฉันจำสูตรและชื่ออาหารนั้นไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคงได้ทำเองบ้าง
เพื่อนเกาหลีอีกคนเชิญชวนให้ลองใส่กิมจิในซุปดู “อร่อยนะ แล้วจะติดใจ” ฉันชอบกิมจิอยู่แล้วเลยตาโตด้วยความดีใจ อีกทั้งประหลาดใจว่าทำไมไม่ยักมีกิมจิปรากฏในเนื้อหาสุนทรพจน์ “มีกิมจิด้วยเหรอ” เพื่อนยิ้มตอบว่า “ใช่ แม่ส่งมาให้จากเกาหลี” พลางชี้ไปยังถุงกิมจิที่พร่องไปเยอะแล้ว พอลองใส่กิมจิลงไปในซุปแล้วอร่อยขึ้นอีกอักโข บางทีนั่นอาจจะเป็นกิมจิที่อร่อยที่สุดที่ฉันเคยรับประทานก็เป็นได้
ก่อนจบการศึกษา แต่ละห้องต้องมีการซ้อมร้องเพลงที่จะใช้ในพิธีจบการศึกษา แต่ละปีดูเหมือนจะเลือกเพลงแตกต่างกันไป ฉันนึกว่าจะมีแต่ในโรงเรียนที่ไทยเสียอีกที่เวลามีงานแล้วต้องซ้อมร้องเพลง เพิ่งทราบตอนนั้นว่าญี่ปุ่นก็มีเหมือนกัน ในวันพิธีจบการศึกษามีการประกาศผลสุนทรพจน์ด้วย ถ้าจำไม่ผิดห้องฉันได้ที่สองหรือที่สามนี่แหละค่ะ ทุกคนดีใจกันใหญ่ แล้วพวกเราก็ขึ้นไปรับใบประกาศนียบัตรกันบนเวที ทำเอาขาสั่นด้วยความตื่นเต้นเลยทีเดียว
นับจากนั้นพวกเราก็แยกย้ายกันไปทำตามความฝันของแต่ละคน ก็หวังว่าทุกคนคงจะใช้ชีวิตอยู่กันอย่างปกติสุขดีไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม และแล้วเรื่องราวในฐานะนักเรียนไทยในญี่ปุ่นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ของฉันก็จบลงเพียงเท่านี้
แล้วสัปดาห์หน้ากลับมาพบกันใหม่ด้วยเรื่องราวอื่น ๆ อีกเช่นเคย อย่าลืมติดตามกันนะคะ สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.