xs
xsm
sm
md
lg

ความเหนื่อยของการทำงานแบบหนึ่งคนหนึ่งกระบวนการและ One operation แบบญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว ครั้งที่แล้วผมพูดถึงเรื่องการทำงานแบบ One operation ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคำศัพท์ที่เพิ่งเกิดมาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง จำได้ว่า 10 กว่าปีก่อนนี้ยังไม่มีคำนี้เลย  การทำงานในระบบ One operation เริ่มเกิดขึ้นในญี่ปุ่นมาก่อนแล้วก็จริงแต่สมัยก่อนยังไม่โหดจัดขนาดนี้ครับ  เพื่อนๆ บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่า One operation คืออะไร ผมได้เกริ่นเล่าไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วครับ
 
การทำงานแบบ  ワンオペ  One ope หรือ ワン‐オペレーション One operation แปลตามศัพท์ภาษาอังกฤษตรงๆ เลยครับ หมายความว่า “หนึ่งการดำเนินงาน” หรือ “การดำเนินงานรวบ”  นำมาใช้ในภาษาญี่ปุ่นในความหมายที่ว่าพนักงานในระบบขององค์กรจะต้องสามารถทำงานทั้งหมดได้ด้วยตัวคนเดียว ส่วนใหญ่ใช้กับงานร้านอาหาร โดยมอบหมายให้พนักงานคนหนึ่งต้องทำงานทั้งหมดในร้านอาหาร   อาจจะอยู่ในช่วงเวลาที่ขาดแคลนกำลังคน  เช่น เวลาดึกดื่นเที่ยงคืน หรือร้านในย่านที่ลูกค้าไม่พลุกพล่านมากนัก  เป็นต้น


ปัจจุบันที่ญี่ปุ่นมีการทำงานแบบ One operation ค่อนข้างจะแพร่หลายออกไปในหลายธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบของงานร้านอาหารหรือในกรณีที่คุณแม่บ้านต้องเลี้ยงดูลูกน้อยเองคนเดียว และต้องทำงานบ้านทุกอย่างไปด้วย โดยที่ปู่ย่าตายายหรือสามีไม่ได้เข้ามาช่วยอะไร  คุณแม่บ้านจะต้องเลี้ยงดูเด็กๆ และทำงานทุกอย่างได้ด้วยตัวเองทั้งหมดแบบ One operation  ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเหนื่อยและทำงานหนักมากกว่างานปกติทั่วไป  ต้องรับผิดชอบเยอะกว่าคนอื่นนั่นเอง
 
ที่จริงการทำงานแบบ One operation นั้น บางคนมองว่าถ้าเจ้าของร้านที่เปิดร้านของตัวเองแล้วต้องทำงานทุกอย่างในร้านด้วยตัวเอง จะเรียกว่า  One operation หรือไม่  สำหรับข้อนี้ต้องตอบว่าไม่ได้เรียกว่าเป็นงานแบบ  One operation ครับ  ที่จริงแล้วที่ญี่ปุ่นก็มีร้านที่ดำเนินงานโดยเจ้าของร้านที่ทำเองทุกอย่างอยู่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นร้านเล็กๆ ที่เปิดมานานแล้ว  ย่านมหาวิทยาลัยที่ผมเคยเรียนก็มีร้านเบนโตะหรืออาหารกล่องอยู่ร้านหนึ่ง คุณป้าเป็นเจ้าของร้านเปิดมานานมากน่าจะมากกว่า 20 ปีแล้วล่ะครับ ตอนนี้เจ้าของร้านคงมีอายุมากแล้วแต่ก็ทำงานในร้านเองทุกอย่าง กรณีนี้เราไม่เรียกว่า One operation เพราะแม้ว่าเจ้าของร้านจะทำงานหนัก แต่ว่าก็สามารถที่จะกำหนดเวลาที่ตัวเองอยากจะทำงานได้เช่นกัน อยากเปิดร้านกี่โมง ปิดร้านกี่โมงหรือเหนื่อยหรืออยากจะพักก็สามารถหยุดได้ และลูกค้าเข้ามาเท่าไหร่ตัวเองก็จะได้เงินมากเท่านั้น เป็นเงินกำไรของตัวเองไม่ได้มีเรื่องค่าแรงรายชั่วโมงเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนพนักงานรับจ้างตามร้านอาหาร


ผมว่าที่เมืองไทยเองก็มีคล้ายๆ แบบนี้อยู่เยอะนะครับ และไม่ได้เรียกว่า One operation คือร้านรถเข็นที่ขายของทั่วไปร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของร้านทำเอง เพื่อนๆ เคยเห็นร้านขายบะหมี่ตามหน้าปากซอยไหมครับ ส่วนใหญ่เจ้าของร้านจะทำเองทั้งหมดใช่ไหม ผมชอบร้านบะหมี่ร้านหนึ่งมาก ชอบทานและชอบดูความกระตือรือร้นของเจ้าของร้าน  ร้านนี้ทำบะหมี่เองอร่อยมาก หมูแดงก็ย่างเองแน่ๆ หอมกลิ่นหมูย่างอยู่เลย  ผัก ซุป อร่อยทั้งหมด  เจ้าของร้านกับทำเองทั้งหมดตั้งแต่การเตรียมของเตรียมร้าน ทำก๋วยเตี๋ยวบะหมี่เสิร์ฟ เก็บจานล้าง จานคิดเงิน  ดูเหมือนเหนื่อยนะครับแต่ว่าเป็นร้านของตัวเองเหนื่อยแค่ไหนก็คุ้มและสามารถทุ่มเทได้เต็มที่  ซึ่งมันต่างกับที่ญี่ปุ่นคนที่ทำงานในร้านเป็นพนักงานรับจ้าง อาจจะเป็นพนักงาน part time ด้วยซ้ำ ลูกค้าเยอะแค่ไหนขายได้เยอะแค่ไหนก็ไม่สามารถเพิ่มค่าแรงได้  พนักงานบางคนอาจจะขอภาวนาให้ไม่มีลูกค้าเข้าร้านเลยด้วยซ้ำจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมาก
 
พูดถึงที่มาที่ไปของระบบงานแบบ One operation นั้นเกิดขึ้นจากร้านกิวด้ง หรือร้านข้าวหน้าเนื้อแห่งหนึ่งครับ


คือต้องกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของบริษัทกิวด้งแห่งนี้ก่อนนะครับซึ่งน่าจะมีสาขาที่เมืองไทยด้วย  ก่อนหน้านี้ตอนที่เจ้าของบริษัทยังอยู่ในช่วงของการเป็นนักศึกษา เค้าก็เป็นคนญี่ปุ่นที่หัวดีมากคนหนึ่งที่สามารถที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวได้ แต่ว่าเรียนไม่ทันจบก็ออกมาก่อน  ก็พยามหางานทำแต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีสงครามเวียดนามและเขาก็น่าจะมีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับสงครามด้วย  คนญี่ปุ่นเองก็ค่อนข้างอยู่ในสภาพที่ยากลำบากมาก สังคมอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพงเนื่องจากสงคราม เขาได้ทำงานที่ท่าเรือแห่งหนึ่งซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างจะถูกกดขี่มาก สิ่งแวดล้อมบริเวณท่าเรือก็ไม่ค่อยดีนัก มีพวกเด็กเสีย อันพาลเยอะเหมือนกัน และบริษัทที่เขาทำงานนี้อาจจะเป็นบริษัทของยากูซ่าด้วย  ช่วงนั้นเขาถูกกดดันอย่างมากทำให้จิตใจย่ำแย่และมีแนวคิดต่อต้านสังคมอยู่มากพอสมควรเพราะไม่อย่างนั้นคงจะไม่สามารถคิดระบบการทำงานที่เหนื่อยสำหรับพนักงานได้ขนาดนี้ หลังจากที่ทำงานได้สักระยะหนึ่งเขาก็มีความคิดว่าอยากจะเปิดร้านที่ทำอาหารขายให้กับคนที่มีรายได้ต่ำ จึงออกมาเปิดร้านข้าวหน้าเนื้อของตัวเองและพยายามทำงานทุกอย่างคุมให้ร้านของเค้ามีทิศทางและระบบแบบแผนอย่างเต็มกำลัง มีการจับเวลาการทำงานทุกอย่างให้ไว ให้เป็นตัวเลขที่มองเห็นได้


อีกด้านหนึ่งของโลก ที่ฝั่งตะวันตกมีการนำระบบของการทำงานแบบหนึ่งคนหนึ่งกระบวนการเข้ามาใช้ในงานโรงงานอุตสาหกรรม  คือ  ลักษณะเดียวกับการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบันนี้ที่มีการประกอบแต่ละกระบวนการโดยคนเดียวทำแค่กระบวนการเดียวและส่งต่อกระบวนการต่อไปเรื่อยๆ คนที่ทำกระบวนการนั้นๆ ก็จะถนัดแต่งานในจุดนั้นๆ ทำงานท่าเดิม แบบเดิมจนบางคนเก็บเอาไปฝัน เหมือนหุ่นยนต์และไม่ค่อยได้พูดจากัน ต้องทำงานเช่นเดิมไปเรื่อยๆ จนหมดเวลาทำงานในแต่ละวัน   แต่ละกระบวนก็การมีการจับเวลาและต้องทำงานให้ทันเวลา ทำให้โรงงานนั้นก็มีกำไรมาก โรงงานรถยนต์บริษัทญี่ปุ่นเองก็นำระบบแบบนี้เข้ามาใช้และสร้างผลกำไรขึ้นมากเช่นกัน 
 
ตอนนั้นมีภาพยนตร์เงียบของชาร์ลี แชปลิน ที่เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความคิดที่มีต่อสังคมและมนุษย์โดยเฉพาะความคิดที่มีต่อสังคมในระบบทุนนิยม สะท้อนภาพชีวิตของคนอเมริกันในยุคต้นของระบบทุนนิยม เช่นเรื่อง Modern Times แสดงถึงชีวิตของคนในสังคมอุตสาหกรรมที่มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระเบียบเหมือนเครื่องยนต์กลไก หนังเปรียบเทียบให้เห็นว่ามนุษย์ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และระบบการทำงานของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น และเป็นการล้อเลียนที่ทำให้คนดูรู้สึกสะอึกและพูดถึงกันมากในการล้อเลียนสังคม ว่าสมัยนั้นคนทำงานหนักแต่ห่างเหินจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่มีใครต้องการให้เป็นเช่นนี้


ย้อนกลับไปเรื่องร้านกิวด้ง หลังจากที่ร้านอาหารของเขาเติบโตและมีสาขาเพิ่มมากขึ้นแต่ด้วยความที่เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นแย่ลงและแรงงานก็น้อยลงด้วยทำให้เขาประชุมในที่ทำงานในบริษัทเพื่อที่จะหาวิธีลดต้นทุนให้ได้มากกว่าเดิมและลองปรับเวลาดูว่าคนๆ เดียวจะสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างทันเวลาไหม เช่น จับเวลาการล้างจาน การหั่นผัก  การทำอาหาร  การเสิร์ฟอาหาร แต่ละกระบวนการจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่  เมื่อสรุปออกมาแล้วก็สามารถที่จะยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดสามารถจะทำได้โดยคนคนเดียว จึงเริ่มที่จะมีการนำระบบ One operation มาใช้ที่ร้านและค่อยๆ ขยายวงกว้างต่อมาในญี่ปุ่น   ในร้านอื่นๆ ก็เริ่มทำตาม แต่ว่าอาจจะทำในช่วงเวลาที่มีลูกค้าน้อย เช่น ช่วงเวลาดึกๆ หลังเที่ยงคืนถึงตีสองหรือว่าในย่านที่คนไม่ค่อยพลุกพล่านนัก
 
ระบบ One operation ก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาเหมือนกันนะครับ คือ


○เมื่อร้านค้าที่มีพนักงานคนเดียว อยู่คนเดียวดึกๆ ก็เป็นเป้าหมายของผู้ร้าย นักปล้นหรือโจรเหมือนกัน เพราะว่าร้านข้าวหน้าเนื้อแนวนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเหมือนร้านในประเทศไทย   ไม่ใช่ร้านที่อยู่ในย่านชุมชน หรือมีแสงสว่างมากพอ หรือร้านที่มีคนเข้าออกมากๆ เหมือนร้านสะดวกซื้อแต่เป็นร้านอาหารที่อาจจะตั้งอยู่โดดเดี่ยว บางสาขาก็อาจจะตั้งอยู่ห่างไกล และส่วนใหญ่จะเป็นเหมือนบ้านที่อยู่ข้างห่างไกลออกไป   พอถึงช่วงเวลาดึกๆ เที่ยงคืนตีหนึ่งตีสองเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีลูกค้ามาใช้บริการมากนักและทั้งร้านมีพนักงานคนเดียวจึงเสี่ยงที่จะถูกปล้น เคยมีข่าวมาแล้วด้วย
 
○สังคมญี่ปุ่นเองก็เป็นต้นเหตุทำให้เกิดระบบ One operation ขึ้นมาเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ย่าน Toyosu ที่เป็นย่านที่มีอพาร์ตเมนต์ขึ้นใหม่แม้ว่าจะอยู่ไม่ไกลจากโตเกียวนักแต่ว่าการเดินทางก็ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่เพราะว่ามีรถไฟผ่านแค่สายเดียว  เมื่อสัก 10 ปีก่อนคนก็น้อยอยู่แล้วแต่ว่าช่วง 2015 มานี้ได้ข่าวว่าคนทำงานน้อยมาก  ร้านอาหารหรือว่าลูกค้าแทบจะไม่ค่อยจะมี แม้ว่าจะให้ค่าแรงพนักงานถึงชั่วโมงละ 1,500 เยน (ค่าแรงตามร้านปกติ 900-1,200 เยน/ชั่วโมง )  ก็ไม่ค่อยจะมีคนอยากทำ ดังนั้นเมื่อไม่ค่อยมีลูกค้าร้าน ร้านต่างๆ จึงต้องนำระบบ One operation เข้ามาใช้เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเป็นการลดเรื่องของแรงงานที่ไม่เพียงพอ


○ข้อต่อไปคือ เรื่องของคุณค่าของบุคคล ซึ่งการที่พนักงานคนหนึ่งจะต้องมาทำงานในระบบ One operation นั้นอาจจะทำให้เหนื่อยเกินไปและทำให้คนรอบข้างไม่ค่อยตระหนักถึงความมีคุณค่าของระบบงานนัก ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่นัก บางคนได้ค่าแรงเท่ากับร้านทั่วไปที่ไม่ได้ทำระบบนี้ แต่ว่าตัวเองต้องทำงานเหนื่อย  เหนื่อยมาก ทำงาน 8 ชั่วโมงบ้าง 10 ชั่วโมงต่อวันหรือเยอะกว่านี้แล้วเหนื่อยมาก  จะกลับไปบ้านก็ไม่มีแรงจะทำอย่างอื่น  ไม่มีเวลาจะหาแฟนหรือสร้างครอบครัว    ถึงแม้ว่าจะเพิ่มค่าจ้างแรงงานให้แต่ก็ไม่มีใครอยากทำ  จึงทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้การที่ให้คนทำงานด้วยความเหนื่อยยากเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ลดคุณค่าบางอย่างในตัวเองและทำให้คนในสังคมญี่ปุ่นเหนื่อยยากเกินไป ไม่มีครอบครัวไม่มีลูก  จำนวนประชากรน้อยลง และก็หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ต่อไป
 
นี่มันเป็นการเปรียบเทียบระหว่างการให้พนักงานทำงานแบบหนึ่งคนหนึ่งกระบวนการให้ทันเวลาที่กำหนด ที่คนบ่นว่าเหนื่อยๆ  และการให้พนักงานหนึ่งคนทำทุกกระบวนการในเวลาที่มี เพื่อนๆ คิดว่าแบบไหนเหนื่อยกว่ากัน  คนทำงานแบบหนึ่งคนหนึ่งกระบวนการนั้นว่าเหนื่อยยากแล้ว  แต่มาเจอแบบ One operation นี่คิดว่าแย่ยิ่งกว่าหรือเปล่า วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น