คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP
เริ่มบาสเก็ตบอล เอ็นบีเอ (NBA) เกือบ 1 เดือน แฟนๆ ที่ติดตามกันอย่างจริงจัง คงจะได้ยินคำศัพท์ใหม่ของวงการ คือ “Load-management” โดยมีจุดกำเนิดจากบิ๊กแมตช์ระหว่าง มิลวอคกี บัคส์ กับ แอลเอ คลิปเปอร์ส สัปดาห์ที่แล้ว หากเปรียบเทียบกับกีฬาฟุตบอล มันก็คือคำว่า “Rotation (โรเตชัน)” ที่มีมายาวนาน
คำว่า “โรเตชัน” บนวงการลูกหนัง เท่าที่จำความได้ น่าจะมีจุดกำเนิดมาจาก เชลซี ยักษ์ใหญ่แห่ง พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ สมัย จิอันลูกา วิอัลลี นั่งเก้าอี้กุนซือ เพื่อบริหารทีมให้เหล่าซูเปอร์สตาร์ที่มีอยู่เต็มทีม ได้รับโอกาสโชว์ฝีเท้าใกล้เคียงกัน ป้องกันปัญหาคนนั้นคนนี้ไม่มีความสุข เพราะถูกมองข้าม หรือ ลิเวอร์พูล ยุค ราฟาเอล เบนิเตซ ก็เคยใช้วิธีหมุนเวียนนักเตะเช่นกัน
สำหรับฟุตบอลอังกฤษ คงไม่น่าแปลกใจ เพราะสโมสรใหญ่ๆ จะต้องเจออย่างน้อยๆ ลีกสูงสุด , ฟุตบอลทั้ง ลีก คัพ กับ เอฟเอ คัพ และถ้วยยุโรป ต่อ 1 ฤดูกาล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้จัดการทีมต้องแบ่งๆ ให้นักเตะลงสนาม ป้องกันอาการอ่อนล้า หรืออาการบาดเจ็บ
ด้านกีฬาบาสเก็ตบอล ก็มียอมรับไอเดียแบบนี้เช่นกัน โดยเฉพาะหากแฟรนไชส์ระดับลุ้นแชมป์ พักตัวหลักช่วงเข้าใกล้เพลย์ออฟ แต่ไม่ใช่ช่วงต้นฤดูกาลปกติ ดังเช่น ด็อค ริเวอร์ส เฮดโค้ช คลิปเปอร์ส ดร็อป คาไว เลียวนาร์ด ฟอร์เวิร์ดแม่ทัพ ทั้งที่รู้ว่าต้องเผชิญหน้า ยานนิส อันเตโตคุมโป ดีกรีผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) แห่ง มิลวอคกี
แน่นอนว่าตามมุมมองของแฟนๆ ทั่วโลก และซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขัน ที่สนาม สเตเปิล เซ็นเตอร์ ย่อมผิดหวังที่ไม่ได้ดูการดวลระหว่าง คาไว กับ ยานนิส และต้องยอมรับแนวคิดของโค้ชว่า ไม่ควรปล่อยให้ซูเปอร์สตาร์ต้องรับภาระหนักเกินไป และส่งผลกระทบด้านการตลาด เช่น สถานีโทรทัศน์ตีโพยตีพาย อุตส่าห์ทุ่มเงินก้อนโตซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดเกมระดับ 5 ดาว แต่ดันมาพักผู้เล่นเสียดื้อๆ จนต้องร้องเรียน อดัม ซิลเวอร์ ประธาน NBA
ไมเคิล จอร์แดน การ์ดระดับตำนาน ชิคาโก บูลล์ส และเจ้าของทีม ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์ แสดงความเห็นทำนองว่า คุณเป็นผู้เล่นอาชีพ ถูกจ้างมาเพื่อลงเล่น 82 เกม ช่วง เรกูลาร์ ซีซัน ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองสิ แต่ตามสายตาสตาฟฟ์โค้ช , ผู้จัดการทั่วไป และ เจ้าของทีม อาจแย้งว่า เราจ้างซูเปอร์สตาร์คนหนึ่ง มูลค่าเกินกว่า 100 ล้านเหรียญ เกิดบาดเจ็บหนัก เท่ากับว่า ต้องเสียค่าเหนื่อยก้อนโตฟรีๆ
สำหรับฝ่ายบริหารลีก จะลดเกมฤดูกาลปกติจากเดิม 82 เกม อาจกลายเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง เนื่องจากเม็ดเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดต้องลดลงด้วย แล้วจะกระเทือนถึง ซาลารี แค็ป หรือ เพดานเงินเดือน พอจะออกกฎบังคับว่าต้องส่งรายชื่อผู้เล่นที่ดีสุด เดี๋ยวก็โดนสวนกลับว่า ก้าวก่ายหน้าที่โค้ชเกินเหตุ
ลองเทียบกรณีศึกษาของ โตรอนโต แร็พเตอร์ส ใช้งาน คาไว แค่ 60 จาก 82 เกมช่วงฤดูกาลปกติ แต่ผลตอบแทนคือ อดีตผู้เล่น ซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส สามารถกรำศึกตลอดเพลย์ออฟ 14 เกม กระทั่งคว้าแชมป์สมัยแรกของแฟรนไชส์ และMVP รอบชิงชนะเลิศ แล้วมีเหตุผลใดที่ คลิปเปอร์ส จะต้องปฏิเสธแนวคิด “Load management”
มองภาพรวม ก็ต้องกลายเป็นคนดูต้องเข้าใจและยอมรับ แฟนๆ คลิปเปอร์ส ยังนึกภาพวันฉลองแชมป์ พร้อมกับ คาไว ชูถ้วย MVP รอบชิงฯ สมัยที่ 3 ปลอบใจกันได้ แต่ผู้ชมทั่วๆ ไป ก็ถือเสียว่าเป็นความซวย เพราะเรื่องจัด 5 ตัวจริง คือ การตัดสินใจของเฮดโค้ชล้วนๆ ส่วนคนระดับประธาน NBA ก็ไม่รู้หรอกว่า จะแก้ไขอะไรได้ นอกเสียจากปรับเงิน