xs
xsm
sm
md
lg

อ่าน “โคนัน” ต้องรู้จัก “เอโดงาวะ รัมโปะ” ผู้สร้างกระแสรหัสคดีคนสำคัญของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

เอโดงาวะ รัมโปะ (1894-1965) (ซ้าย) และ ตัวละครเอโดงาวะ โคนัน (ขวา)
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เมื่อเอ่ยถึงวรรณกรรมรหัสคดีหรือสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่น ถ้าไม่กล่าวถึงเอโดงาวะ รัมโปะย่อมไม่สมบูรณ์ ปัจจุบันชื่อของ “ฮิงาชิโนะ เคโงะ” ครองตลาดแนวนี้ของญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นชื่อที่ครองใจคนญี่ปุ่นมาเนิ่นนานทุกสมัยย่อมได้แก่ “เอโดงาวะ รัมโปะ” และกล่าวได้เลยว่านักเขียนแนวรหัสคดีของญี่ปุ่นทุกคนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยอ่านผลงาน หรือไม่ก็ดูหนัง/ละครที่สร้างจากผลงานของรัมโปะแน่นอน

ชื่อรัมโปะคือเครื่องหมายรับประกันความลี้ลับกับจินตนาการพิลึกพิลั่น ความแหวกแนวหรือความหฤโหดของพฤติกรรมตัวละครสร้างชื่อรัมโปะให้เป็นนักเขียนอมตะของญี่ปุ่น และหากใครรู้จักตัวละครนักสืบจิ๋ว “เอโดงาวะ โคนัน” ในการ์ตูนยอดนิยมที่ไขคดีมาเป็นพันแล้ว คงทราบดีว่าชื่อ “เอโดงาวะ” ของโคนันตัวเอกได้มาจากเอโดงาวะ รัมโปะนี่เอง

เอโดงาวะ รัมโปะ(江戸川乱歩;Edogawa Ranpo; 1894-1965) คือ นามปากกาของทาโร ฮิราอิ นามปากกานี้ได้มาจากการถ่ายเสียงชื่อนักเขียนอเมริกัน Edgar Allan Poe (เอ็ดการ์ แอลลัน โพ) มาเป็นสำเนียงญี่ปุ่นเพราะเจ้าตัวชอบอ่านผลงานของโพ รัมโปะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พัฒนาวรรณกรรมแนวสืบสวนของญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว และเป็นที่น่ายินดีที่ผลงานของรัมโปะแพร่หลายมากขึ้นสำหรับนักอ่านชาวไทยผ่านทาง “ญี่ปุ่นสามมิติ-มุมวรรณกรรม
Edgar Allan Poe (1809-1849)
รัมโปะเกิดที่จังหวัดมิเอะ เคยย้ายไปอยู่เมืองนาโงยะ และเข้าเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะในกรุงโตเกียว ระหว่างที่เป็นนักศึกษาก็สนใจอ่านบทประพันธ์แนวลึกลับและรหัสคดีอยู่แล้วรวมทั้งเรื่องเชอร์ล็อก โฮมส์ด้วย ผลงานเปิดตัวของรัมโปะคือเรื่องสั้น “เหรียญทองแดงสองเซ็น” เมื่อปี 1923 ลงในนิตยสารที่ตีพิมพ์เรื่องสืบสวนจากต่างประเทศเป็นหลัก

อันที่จริง ก่อนหน้ารัมโปะก็มีนักเขียนแนวรหัสคดีของญี่ปุ่นอยู่แล้ว รวมทั้งทานิซากิ จุนอิจิโร (1886-1965) นักเขียนคนสำคัญที่สร้างผลงานหลากหลายแนว รวมทั้งการแปลวรรณกรรมโบราณ “เก็นจิโมโนงาตาริ” เป็นภาษาปัจจุบัน และยังเป็นนักเขียนที่มีแนวโน้มสูงว่าจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ผลงานของรัมโปะเรื่องแรกเป็นที่สนใจของนักวิจารณ์เพราะโดดเด่นด้านการคลี่คลายความลี้ลับของเหตุการณ์ด้วยเหตุผลเป็นขั้นเป็นตอนน่าติดตามอย่างที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นบ่อยนัก หลังจากเรื่องแรก รัมโปะก็มีผลงานต่อเนื่อง หลายเรื่องกลายเป็นงานคลาสสิกที่นักวรรณกรรมทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออกมักหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง เช่น “เก้าอี้มนุษย์” (1925) ,(https://mgronline.com/japan/detail/9590000106143) , “ฆาตกรรมปริศนาบนเนิน D” (1925) (https://mgronline.com/japan/detail/9590000113702)
ทานิซากิ จุนอิจิโร (1886-1965)

ผลงานของรัมโปะมีทั้งเรื่องสั้น เรื่องยาว ความเรียง และบทวิจารณ์ และนอกจากจะมีเนื้อหาสำหรับนักอ่านทั่วไปแล้ว ยังมีผลงานอีกไม่น้อยที่เจาะกลุ่มนักอ่านรุ่นเยาว์ด้วย รวมผลงานทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าร้อยเรื่อง และผ่านการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หรือละครก็มาก เนื้อเรื่องส่วนใหญ่มีองค์ประกอบด้านความลี้ลับและการสืบสวนเป็นสำคัญ แต่บางเรื่องก็เข้าข่ายสยองขวัญ ลักษณะเด่นของรัมโปะในงานประพันธ์คือการบรรยายพฤติกรรมตัวละครหรือฉากฆาตกรรมอย่างน่าสยดสยอง ในบางเรื่องรัมโปะเขียนให้ฆาตกรกระทำการอย่างอุกอาจและโหดร้าย เช่น ฆ่าตัดหัวแล้วนำหัวไปลอยน้ำ กรีดหน้าจนเละ กักขังเหยื่อในห้องมืดฆ่าอย่างโหดร้าย สำหรับนักอ่านที่ไม่ชอบเลือด ผลงานหลายเรื่องของรัมโปะอาจจะไม่ถูกจริตนัก

ด้วยลักษณะเด่นเช่นนี้ ในยุคที่รัมโปะโด่งดังอยู่นั้นก็มีกระแสวิจารณ์เช่นกันว่านวนิยายแนวสืบสวนเน้นพล็อตที่พลิกแพลงและหักมุมมากกว่าความหวือหวาของฉากหรือการกระทำของตัวละคร อันเป็นประเด็นวิวาทะว่าด้วยแนวทางในวรรณกรรมญี่ปุ่นที่รัมโปะโต้กับ โคงะ ซาบูโร คู่แข่งคนสำคัญแห่งยุค โดยรัมโปะถูกจัดให้อยู่ในประเภท “รหัสคดีแนวหลุดโลก” ที่เน้นความวิปริตพิสดารเพื่อกระตุ้นบรรยากาศ ส่วนฝ่ายหลังนิยม “รหัสคดีแท้” ที่เน้นอาชญวิธีและการคลี่คลายอันแยบยล แต่คงด้วยจำนวนผลงานที่มีมากมายและพลังแห่งความแหวกแนวนั่นเอง งานของรัมโปะจึงยังคงมีคนอ่านอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

สืบเนื่องจากแนวทางการสร้างสรรค์ดังกล่าว แม้ว่าชื่อของรัมโปะได้รับความนิยมตลอดมา แต่นักอ่านในสมัยนี้คงอดไม่ได้ที่จะคิดว่าพล็อตส่วนใหญ่ของรัมโปะไม่ซับซ้อนนัก และแรงจูงใจของฆาตกรในการก่อเหตุก็ไม่ชัดเจนในหลายเรื่องหรือไม่ก็ตื้นเกินไป อีกทั้งวิธีการแก้ปัญหาของนักสืบก็ซ้ำกันในหลายกรณี สำหรับประเด็นเหล่านี้ เจ้าตัวเคยยอมรับว่าเมื่อจำเป็นต้องแต่งหลาย ๆ เรื่องในเวลาเดียวกันเพื่อตีพิมพ์ในหลายแหล่ง จึงไม่มีเวลาวางพล็อตอย่างรัดกุม นึกอะไรได้ก็เขียน ๆ ไป บทจะจบก็จบแบบที่ทำให้คนอ่านคาใจ และในฐานะนักเขียนขายดีในยุคที่ต้องเขียนไปพิมพ์ไป บางครั้งก็ผิดพลาดได้เช่นกัน พอคนรุ่นหลังนำมาอ่านเป็นเล่ม (หากบรรณาธิการเคารพต้นฉบับแบบที่ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ โดยไม่แก้ไขเมื่อรวมเล่ม) ก็จะพบข้อบกพร่องเหล่านั้นเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงคุณูปการของรัมโปะที่ทำให้รหัสคดีเฟื่องฟูขึ้นมาในญี่ปุ่นแล้ว สิ่งเหล่านั้นย่อมถือว่าเป็นเรื่องปลีกย่อยที่นักอ่านพร้อมจะมองข้าม

หนึ่งในสีสันแห่งวงการที่รัมโปะสร้างขึ้นมาคือตัวละครอมตะ คนแรกคือ อาเกจิ โคโงโร ซึ่งเป็นนักสืบเอกชนที่ปลอมตัวเก่งและให้ความร่วมมือกับตำรวจในการสืบคดียาก ๆ ปรากฏตัวในผลงานหลายสิบเรื่อง โดยเผยตัวครั้งแรกในเรื่อง “ฆาตกรรมปริศนาบนเนิน D” เมื่อปี 1925 และอีกหนึ่งตัวละครคือเจ้าหนูนักสืบโคบายาชิ โยชิโอะ ซึ่งเป็นผู้ช่วยของอาเกจิและเป็นตัวละครสำคัญในวรรณกรรมเยาวชนชุดเจ้าหนูนักสืบที่คนญี่ปุ่นจำได้แม่น
วรรณกรรมเยาวชนของรัมโปะ
รูปลักษณ์ของอาเกจิ (ตามคำบรรยาย) คือ เป็นนักสืบที่ดูเท่ด้วยรูปร่างสูงโปร่ง หล่อ แต่งตัวดี (แต่ถ้าใช้ค่านิยมสมัยนี้ประเมินคงต้องบอกว่า ‘น่าเสียดายที่สูบบุหรี่ ไม่งั้นคงเท่กว่านี้’) มีไหวพริบ หลังจากปรากฏตัวโลดแล่นได้พักหนึ่งก็แต่งงานกับผู้หญิงซึ่ง ‘ถูกมองว่า’ เป็นลูกสาวของฆาตกร แล้วภรรยาสาวก็กลายเป็นผู้ช่วยของอาเกจิไปด้วย

ด้วยภาพพจน์ที่มีเสน่ห์บวกกับปฏิภาณไหวพริบ อาเกจิจึงเป็นตัวละครนักสืบของญี่ปุ่นที่มีคนจดจำได้มากที่สุดคนหนึ่งและมีชื่อวนเวียนปรากฏในสื่อต่าง ๆ ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ทั่วไป ภาพยนตร์การ์ตูน หรือแม้แต่ในเกม และล่าสุดในเดือนมีนาคมปี 2562 ก็ยังเวียนกลับมาแสดงฝีมือในละครที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของรัมโปะให้เข้ากับยุคออนไลน์มากขึ้นอีก โดยได้ฮิเดโตชิ นิชิจิมะนักแสดงนำชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นรับบทเป็นอาเกจิ
ฮิเดโตชิ นิชิจิมะ (ซ้าย) ในบทนักสืบอาเกจิ
ว่ากันว่าถ้าจะอ่านงานชั้นดีของรัมโปะ ควรจะอ่านเรื่องสั้นเพราะกระชับและน่าประทับใจกว่าเรื่องยาว สำหรับจุดนี้ในฐานะผู้สอนวรรณกรรม ผมค่อนข้างเห็นด้วย อย่างเรื่อง “เกาะอี้มนุษย์” นั่นถือว่าใช่เลย อ่านทีเดียวจำได้ไม่ลืมและหลอนไปอีกนาน แต่จะว่ารัมโปะไม่มีเรื่องราวชั้นดีเลยก็ไม่ถูกนัก นักวิจารณ์ทั้งหลายลงความเห็นว่า “เกาะปีศาจฆาตกรรม” (1930) น่าจะเป็นนวนิยายขนาดยาวที่ดีที่สุดของรัมโปะ เรื่องนี้ไม่มีนักสืบอาเกจิ แต่พล็อตและบรรยากาศตลอดจนการผจญภัยในเรื่องสามารถตรึงความสนใจของคนอ่านได้ดี อีกทั้งยังมีแง่มุมของสิ่งที่คนสมัยนี้เรียกว่า “นิยายวาย” ประกอบด้วย ทำให้อดทึ่งไม่ได้ว่ารัมโปะเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้าและสามารถนำองค์ประกอบของอะไรที่แปลกใหม่มาบรรจุในงานของตัวเองได้ดี จนไม่ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้แต่งมาเกือบร้อยปีแล้ว
 “เกาะปีศาจฆาตกรรม” ฉบับภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย
เมื่อหยิบยกเรื่องของรัมโปะขึ้นมาแนะนำก็อยากจะตอกย้ำอีกครั้งว่า วรรณกรรมไทยมีนวนิยายแนวชิงรักหักสวาทมากมายซึ่งจุดนี้เราไม่แพ้ใครในโลก แต่ถ้าเป็นแนวรหัสคดีแล้วละก็ ของไทยยังห่างไกลจากกระแสโลกมากนักทั้ง ๆ ที่คนไทยชอบอ่านแนวนี้กันมาก นี่อาจจะถึงเวลาหันมามองเรื่องการพัฒนานักเขียนด้านนี้กันแล้ว และถ้าเริ่มอย่างจริงจังเมื่อไร ลองหยิบงานของรัมโปะขึ้นมาอ่านหลาย ๆ เล่มก็จะเห็นว่ารัมโปะของญี่ปุ่นไม่ได้เก่งตั้งแต่เรื่องแรก แต่พัฒนาฝีมือขึ้นมาเรื่อย ๆ ขณะที่เปิดรับและยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ‘เรียนรู้’ ทักษะการประพันธ์จากวรรณกรรมตะวันตกและนำมาใช้กับงานของตัวเอง

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น