xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นยินดี ไทยเปิดรับอาหารทะเลจาก “ฟุกุชิมะ” เป็นชาติแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ผ่อนคลายคำสั่งห้ามอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะ หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

ปลาสดๆ น้ำหนักกว่า 110 กก. ถูกส่งตรงจากท่าเรือเมืองโซมะ มายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม เพื่อใช้ทำเป็นอาหารในภัตตาคารญี่ปุ่น 12 ร้านในกรุงเทพ สร้างความปลาบปลื้มให้ชาวประมงญี่ปุ่นที่สามารถส่งออกอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่ทำไมกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011

หัวหน้าสหกรณ์ประมงเมืองโซมะ ระบุว่า ปลาที่ส่งออกมายังประเทศไทยได้รับการตรวจสอบอบ่างเข้มงวดว่าไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสี โดยท่าเรือโซมะอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมากกว่า 50 กิโลเมตร

หลังเกิดเหตุรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ การทำประมงในพื้นที่ถูกระงับลงอย่างสิ้นเชิง อาหารทะเลจากพื้นที่ฟุกุชิมะถูกสั่งห้ามนำเข้าจากประเทศต่างๆ ชาวประมงในพื้นที่เพิ่งจะทดลองกลับมาทำการประมงในปี 2012 โดยมีระยะห่างจากพื้นที่ประสบภัยอย่างน้อย 20 กิโลเมตร และตั้งแต่ปี 2015 อาหารทะเลในพื้นที่ไม่ถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของรังสี แต่หลายประเทศก็ยังคงคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารจากฟุกุชิมะเหมือนเดิม ทำให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำในพื้นที่มีเพียงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหว

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามอย่างต่อเนื่องนานกว่า 3 ปี เพื่อให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกมาตรการกีดกันสินค้าจากพื้นที่ประสบภัย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ไต้หวันซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่นก็ยังคงสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากฟุกุชิมะ

ขณะที่ญี่ปุ่นได้ร้องเรียนต่อองค์กรการค้าโลก หรือ WTO ว่าเกาหลีใต้กีดกันการค้าอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทุกชนิจากจังหวัดฟุกุชิมะ, มิยะงิ, อิวะเตะ, อะโอโมริ, อิยาระกิ, โทชิงิ, กุนมะ และชิบะ ซึ่ง WTO ระบุว่าการสั่งห้ามแบบครอบจักวาลเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ สหรัฐ จีน และสิงคโปร์ ได้ผ่อนคลายการนำเข้าอาหารบางส่วนจากญี่ปุ่น แต่ประเทศไทยเป็นชาติแรกที่อนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลจากพื้นที่ประสบภัยในญี่ปุ่นได้ โดยเป็นความริเริ่มของบริษัทการค้าที่เคยนำเข้าลูกพีชที่ปลูกในพื้นที่ฟุกุชิมะมาจำหน่ายในประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น