xs
xsm
sm
md
lg

อยากไปเรียนญี่ปุ่น แล้วมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นสอนยังไง?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ญี่ปุ่นเป็นประเทศในโลกตะวันออกที่ประเทศอื่นชื่นชมว่าประชากรมีคุณภาพสูงไม่แพ้โลกตะวันตก ปัจจัยสำคัญมาจากสภาพแวดล้อมทางการศึกษา ซึ่งก็ทำให้คนต่างชาติจำนวนมากอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่นด้วย โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ประกอบกับช่วงนี้มหาวิทยาลัยทยอยปิดภาคเรียนและหลายแห่งจัดกิจกรรมที่เรียกว่า “เปิดมหาวิทยาลัย” ให้ประชาชนคนนอกได้รู้จักมหาวิทยาลัยมากขึ้น จึงอยากจะนำบางแง่มุมในการศึกษาระดับสูงของญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟัง

เมื่อกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ตามทัศนะของผมคือ ปลูกฝังทักษะมากกว่าการอัดความรู้ และ นักศึกษาได้ใช้ชีวิตมากกว่าได้เรียนหนังสือ ในฐานะสถาบันการศึกษา แน่นอนที่สุดว่าต้องถ่ายทอดความรู้ ซึ่งก็คล้ายๆ กับที่อื่นทั่วโลก ญี่ปุ่นจัดหลักสูตร 4 ปีเป็นหลัก ทั้งสายวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ แต่สำหรับสายวิทยาศาสตร์ นักศึกษามีแนวโน้มสูงที่จะเรียนต่อปริญญาโท ในระดับปริญญาตรี ช่วง 2 ปีแรกจะเป็นการเรียนวิชาพื้นฐานหลายวิชา ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาขาหลักของตัวเอง และส่วนที่เป็นสหวิชาสำหรับชีวิตประจำวัน

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยหลายที่ในโลกคือ นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ว่าจะอยู่คณะใดก็ตาม จะต้องเรียนวิชาภาษาต่างประเทศอันดับ 2 เป็นวิชาบังคับเลือกประมาณ 4 วิชา ภาษาหลักๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน เกาหลี บางมหาวิทยาลัยมีภาษาไทยด้วย เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้ผู้เรียนได้สัมผัสวัฒนธรรมอื่นนอกเหนือจากของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเรียนแล้ว ใครจะนำไปต่อยอดได้แค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยมหาวิทยาลัยก็สร้างประตูไว้ให้ ใครจะเปิดแล้วก้าวเข้าไปหรือเดินหนี ก็แล้วแต่ โดยรวมแล้วญี่ปุ่นตื่นตัวด้านการสอนภาษาต่างประเทศมาก

ลักษณะที่ถือได้ว่าต่างจากของไทย คือ เนื้อหาที่อาจารย์มหาวิทยาลัยสอนนั้นค่อนข้างน้อย จากประสบการณ์ของตัวเองที่ไปเรียนปริญญาโทในญี่ปุ่นพบว่า หลายอย่างในหลายวิชาที่อาจารย์สอนในห้องคือสิ่งที่เรียนรู้มาแล้วตั้งแต่ปริญญาตรีที่เมืองไทย วิชาของปริญญาตรี ผมก็เคยไปนั่งฟัง สภาพก็ไม่ต่างกันเท่าไร อาจารย์พูดแป๊บๆ เนื้อหาก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เดี๋ยวก็หมดเวลาแล้ว

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ในสายสังคมศาสตร์ หนึ่งรายวิชาก็จะเรียนแค่สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1.5 ชั่วโมง เทอมละ 15 ครั้งตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยถือเป็น 1 หรือ 2 หน่วยกิตแล้วแต่ธรรมชาติของวิชา การสอบปลายภาคของแต่ละวิชาก็แค่ประมาณ 1 ชั่วโมงหรือเต็มที่ก็ 1.5 ชั่วโมง ซึ่งต่างจากตอนผมเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก จึงรู้สึกว่าเรียนแล้วไม่ค่อยได้อะไร ทั้งยังสงสัยมาตลอดว่าทำไมเราต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงญี่ปุ่นเพื่อทำอะไรที่ธรรมดาขนาดนี้

แต่ต่อมาจึงได้รู้ว่า ตัวเองชินกับระบบการศึกษาไทยมากเกินไป จึงไม่รู้ว่านี่คือลักษณะการสอนของคนญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้ม ปล่อยให้ผู้เรียนค้นคว้าเอง และนี่คือทักษะที่นักศึกษาได้รับมากที่สุดและสำคัญที่สุดในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น สิ่งที่อาจารย์พูดในห้องถือว่าเป็นเพียงขั้นต่ำที่จำเป็นต้องรู้ ส่วนอื่นก็อาจจะสำคัญ แต่ถ้าถามว่า “จำเป็นไหม” ก็อาจจะไม่จำเป็น ดังนั้น การจำแบบหว่านแหจึงเป็นเรื่องเสียเวลาและเสียทรัพยากร อาจารย์ก็จะพูดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ใครอยากรู้มากกว่านั้นก็ถามข้อสงสัย หรือค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วนำเสนอมาเป็นรายงานทั้งในรูปแบบกระดาษ หรือการนำเสนอหน้าชั้น

ในระบบการศึกษาของญี่ปุ่นมี 2 คำที่ใช้บ่อย ๆ เกี่ยวกับการสอน คือ “สอน” (教える;oshieru) กับ “ชี้แนะ” (指導する;shidō suru) ซึ่งคล้ายกันและใช้ปะปนกันอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คำว่า “สอน” คือ บอกหมดทุกขั้นตอน ส่วน “ชี้แนะ” คือ ชี้ให้ดูหรือแนะให้เห็น แล้วที่เหลือก็ไปคิดเอง หาเอง ทำเอง ซึ่งเป็นคำที่ใช้บ่อยในมหาวิทยาลัย คำว่า “อาจารย์ที่ปรึกษา” ก็เรียกว่า “อาจารย์ผู้ชี้แนะ” (指導教員;shidō kyō-in)

คนไทยที่ไปเรียนปริญญาโทที่ญี่ปุ่นจะรู้สึกอยู่เสมอว่าอาจารย์ไม่เห็นสอนอะไร ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะในระดับนั้นอาจารย์ไม่ได้มีหน้าที่สอน แต่มีหน้าที่ชี้กับแนะ ถ้าไม่เอาอะไรไปถาม ก็จะไม่ค่อยได้อะไรกลับมาเหมือนกัน หรือในระดับปริญญาตรีก็คล้ายกัน ระบบญี่ปุ่นจัดการเรียนการสอนแบบป้อนความรู้พอควรในช่วง 2 ปีแรก พอขึ้นปี 3 จุดสำคัญคือการปลูกฝังทักษะ ด้วยการกำหนดให้นักศึกษาต้องเข้าเรียนวิชาสัมมนาตามความสนใจของตัวเอง โดยมีอาจารย์เจ้าของสัมมนาเป็นที่ปรึกษา และจะอยู่ในสัมมนานั้นไปจนเรียนจบโดยต้องเขียนปริญญานิพนธ์ 1 ฉบับอันเป็นเงื่อนไขเพื่อจบการศึกษาตามหลักสูตร บางคณะอาจไม่กำหนดให้เขียนปริญญานิพนธ์ แต่ก็จะต้องทำผลงานหรืออะไรทำนองนั้นเพื่อจบการศึกษา

การเข้าสัมมนาเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีปี 3 นักศึกษาจะได้อ่านงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือได้อ่านหนังสือที่ยากๆ แล้วนำมาถกอภิปรายในวิชานี้ การอ่านบทความวิจัยแรกๆ นั้น ผู้อ่านจะติดๆ ขัดๆ ในการทำความเข้าใจเพราะเจอคำศัพท์ที่ไม่เคยเห็น แต่เมื่อจะต้องนำมาพูดต่อกลุ่มสัมมนา จะต้องอธิบายให้กระจ่างทั้งหมด ทักษะการค้นคว้าจะหยั่งรากนับแต่นี้ไป ขณะที่เตรียมตัวนำเสนอนั้น พอติดจุดนี้ อาจารย์ก็จะบอกให้ไปอ่านหนังสือเล่มนั้น พอติดอีกจุด อาจารย์ก็จะบอกให้ไปอ่านอีกเล่ม เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ และความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ก็พัฒนาใกล้ชิดกันมากขึ้น อาจารย์ที่ปรึกษาคือเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาชี้แนะจริงๆ ไม่ใช่แค่อาจารย์ผู้เซ็นชื่อในเอกสาร

สืบเนื่องจากตรงนี้ นี่คือจุดเริ่มต้นของการวิจัย ซึ่งเป็นทักษะที่นักศึกษาไทยขาดมาก เพราะเคยชินกับการเรียนแบบรับบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวมทั้งตัวผมเมื่อสมัยก่อนด้วย ซึ่งไม่เคยเข้าใจเลยว่าการเรียนหนังสือกับการวิจัยมันต่างกันยังไง และต้องยอมรับว่าตัวเองบรรลุภาวะการเรียนรู้ช้ากว่าคนญี่ปุ่นไปถึงสองสามปี พอไปเรียนที่ญี่ปุ่นถึงได้ตระหนักตามคนญี่ปุ่นว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง (เพราะมันเป็นไปไม่ได้) แต่ต้องรู้ให้ลึกในเรื่องที่เราสนใจ และถ้าสงสัยว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงได้สร้างนวัตกรรมอะไรต่ออะไรมากมายขึ้นมาได้ บรรทัดนี้คือคำตอบ

สำหรับคนไทย เราก็พูดติดปากกันมานานว่าอันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล ทว่าดูเหมือนสภาพแวดล้อมในการศึกษาระดับสูงของเราไม่ได้เอื้อไปทางนั้น ระบบความคิดของคนไทยจึงไม่ใช่การคิดเชิงรุกจนแตกฉานโดดเด่น แต่เป็นการรอรับวิทยาการจากมุมโน้นมุมนี้ของโลกมากกว่า เพราะเราไม่ได้เริ่มต้นปลูกฝังการค้นคว้าเชิงลึกหรือการวิจัยตั้งแต่อายุน้อยๆ อันเป็นจุดแข็งของสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกา ซึ่งใครๆ มองว่าดี (แต่พอถามว่าดีตรงไหน คนที่ตอบได้ทันทีกลับมีไม่มาก)

ในมุมมองของนักศึกษานั้น มหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่นสอบเข้ายากก็จริง แต่เมื่อสอบได้แล้ว จะเข้าสู่บรรยากาศเรียนๆ เล่นๆ เป็นการเรียนรู้ชีวิตผ่านกิจกรรมชมรม ซึ่งมีกฎกติกาคล้ายองค์กรภายนอกที่สอนให้รู้จักการแสดงความคิดเห็น การใช้ภาษา และการบริหารบุคคล ส่วนค่านิยมด้านการเรียนนั้น นักศึกษาไม่สนใจเกรดเท่าไรนัก คนที่ทุ่มเทให้แก่กิจกรรมชมรมมากกว่าการเรียนก็มีไม่น้อย และสิ่งที่สนใจคือหน่วยกิตที่จำเป็นต้องสะสมให้ครบเพื่อจบการศึกษาเท่านั้น

สาเหตุแห่งความไม่สนใจมาจากการที่บริษัทที่รับนักศึกษาเข้าทำงานแทบจะไม่ดูส่วนนั้นเลย จะพิจารณาแค่ว่าเรียนจบจากที่ไหนและทัศนคติกับผลการทำข้อสอบของบริษัทเป็นอย่างไร และการเรียนไม่จบภายใน 4 ปีก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายมากมายในระดับที่เกิดขึ้นในสังคมไทย นักศึกษาบางคนวางแผนเรียน 5 ปีด้วยซ้ำ โดยเอาเวลา 1 ปีไปตระเวนเที่ยวรอบโลกหรือทำสิ่งที่ตัวเองอยาก

อีกหนึ่งค่านิยมคือ การไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย หรือออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันก็ไม่ใช่ตราบาปในชีวิต นักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคนก็เลิกเรียนกลางคันแม้สอบเข้ามหาวิทยาลัยดังอย่างเช่นมหาวิทยาลัยโตเกียวหรือวาเซดะได้ และนักศึกษาอีกหลายคนก็มองว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนน่าเบื่อ พลอยทำให้ไม่อยากเข้าเรียน อยู่บ้านอ่านหนังสือเอง หรือเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ตัวเองชอบอาจจะคุ้มกว่า ซึ่งต่างจากคนไทยมาก เพราะคนไทยกำหนดแทบจะทุกเรื่องโดยอิงระดับการศึกษา

สำหรับคนต่างชาติที่คิดจะไปเรียนที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนไทยซึ่งชินกับการเรียนแบบไทยๆ หากทำความเข้าใจลักษณะการเรียนการสอนของญี่ปุ่นไปก่อนก็คงจะอึดอัดน้อยลง แน่นอนว่าเมื่อไปเรียนแล้ว ความรู้ก็คงได้ แต่บางครั้งความรู้ก็ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา ส่วนทักษะการค้นคว้าวิจัยนี่สิ จะกลายเป็นนิสัยหรือเครื่องมือติดตัวผู้เรียนให้ได้รู้เรื่องใหม่ไปตลอดชีวิต

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น