ปัตตานี - ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา 3-5 พฤษภาคม 2560 ชูประเด็นนำเกาหลีศึกษาเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษารองรับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0
วันนี้ (4 พ.ค.) รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ระหว่างวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ให้แก่นักวิชาการ คณาจารย์ผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทย พร้อมเปิดประเด็นนำเกาหลีศึกษาเข้าสู่ระดับอาชีวศึกษา รองรับแรงงานสายอาชีพตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0
โดยที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มีการเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษา ให้แก่นักวิชาการ คณาจารย์ผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทย เพื่อระดมความคิดเห็นสร้างเครือข่ายความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย และส่งเสริมการศึกษาภาษาเกาหลีในระดับอาชีวศึกษา โดยมีเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับ ผศ.ดร.ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดการสัมมนา และคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวรายงาน
ประกอบด้วยการบรรยายเวทีเสวนาทางวิชาการ การประชุมโต๊ะกลม การนำเสนอประเด็นปัญหา และการเจรจาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มูลนิธิเกาหลี และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าด้วยการหาแนวทางส่งเสริมการศึกษาภาษาเกาหลี เข้าสู่ระดับอาชีวศึกษา รองรับแรงงานสายอาชีพตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีครูผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทย ครูชาวเกาหลี ผู้แทนนักเรียนมัธยมศึกษาภาคละ 1 คน 5 ภาค ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วมสัมมนา
การสัมมนาในครั้งนี้ประกอบด้วย การประชุมผู้บริหารในหัวข้อ ข้อเสนอแนะในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษา การหาแนวทางการส่งเสริมการศึกษาภาษาเกาหลีในระดับอาชีวศึกษา การประชุมกลุ่มผู้เรียนและผู้สอนภาษาเกาหลี ในหัวข้อสถานการณ์ปัจจุบันทางการศึกษาภาษาเกาหลีในระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทย การเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ สาธารณเกาหลีกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม โดย รศ.ดร.ดำรง ฐานดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผศ.ดร.วิเชียร อินทะสี มหาวิทยาลัยนเรศวร และอาจารย์วีรชัย พันธ์สืบ
การบรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายของสาธารณรัฐเกาหลีต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดย Ph.D.Lee Chong-Guk สาธารณรัฐเกาหลี ศาสนาพุทธและลัทธิขงจื้อที่ปรากฏในวิถีของชาวเกาหลี โดย ศ.ดร.ไพฑูรย์ พัฒน์ใหญ่ยิ่ง ข้อเสนอแนะในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษา โดย คุณเงินยวง นุดตะเคียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ความเป็นมาและแนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทย-เกาหลี เพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย โดย พ.อ.ธิบดี อัมพุนันทน์ กรมข่าวทหารบก ประสบการณ์งานด้านการต่างประเทศของรัฐสภาไทย โดย คุณชลดา กันคล้อย ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ การพัฒนาทางการค้าระหว่างไทย-เกาหลีในอนาคต โดยผู้แทนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ลักษณะทางวัฒนธรรมเกาหลีที่ปรากฏในละครอิงประวัติศาสตร์ โดย อาจารย์สุนันทา วิไลศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เปิดเวทีผู้เข้าร่วมสัมมนานำเสนอ 7 ประเด็น ได้แก่ อนาคตของการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไข ในการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในปัจจุบัน บทบาทของหน่วยงานต่างๆ ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลี ผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีหลังจากมีการใช้ข้อสอบวิชาภาษาเกาหลีในการสวัดความรู้เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย การสร้างแรงจูงใจและเพิ่มประสิทธิภาพให้ครูผู้สอนภาษาเกาหลี ความต้องการของสถานศึกษาที่มีต่อครูผู้สอนชาวเกาหลี ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาการขยายสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในภูมิภาคต่างๆ
รศ.ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยังกล่าวอีกว่า การศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 2529 ได้ขยายสู่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา จนถึงปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนจำนวนมากขึ้น ด้วยบทบาทของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้ริเริ่มการเรียนการสอนภาษาเกาหลีทุกระดับในประเทศไทย ส่งผลให้มีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม จนทำให้ได้รับการบรรจุเป็นภาษาต่างประเทศเพื่อการสอบคัดเลือกของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านเกาหลีศึกษา รวม 8 ปีที่ผ่านมา นอกจากเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านภาษาเกาหลี และเกาหลีศึกษาแล้ว ยังเป็นการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อเปิดมิติใหม่สู่แนวทางส่งเสริมจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในระดับอาชีวศึกษา เพราะเล็งเห็นว่าแนวโน้มทางการศึกษาไทยกำลังปฏิรูปเพื่อพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0
ดังนั้น การศึกษาในสายอาชีวศึกษามีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยมีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ประกอบกับตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานสายอาชีพเฉพาะ เพื่อสร้างแรงงานที่มีฝีมือซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ การจัดการศึกษาภาษาเกาหลีในสายอาชีวศึกษาจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นแรงงานที่มีฝีมือได้ โดยอาศัยภาษาเกาหลีเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ และพัฒนาตนเองทางเทคโนโลยี ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีมีความก้าวหน้าสูง
ผศ.ดร.ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานในพิธีเปิดการสัมมนา กล่าวถึงการรองรับนโยบายยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยนำยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 มาใช้เพื่อพัฒนา และนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทำให้บทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีที่จะมีต่อประเทศไทยสำคัญยิ่งขึ้น เป็นผลจากการที่สาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมในลำดับต้นๆ ของเอเชีย และในระดับโลก
การพัฒนาประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงเป็นโอกาสอันดีต่อการเรียนรู้ การเตรียมความพร้อม และการยกระดับความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ไปสู่ประเทศเศรษฐกิจใหม่ทัดเทียมกับประเทศอื่น ดังนั้น การเรียนรู้ภาษาเกาหลี และองค์ความรู้เกี่ยวกับเกาหลีศึกษาจึงเป็นเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้า วิจัย และสร้างสรรค์การพัฒนา ตลอดจนความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน และองค์กรของทั้งสองประเทศให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น และมีประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคลของไทยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทั้งภาษา และเกาหลีศึกษานั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
การเปิดเวทีวิชาการด้านเกาหลีศึกษาในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้ และได้รับทราบความก้าวหน้าของสาธารณรัฐเกาหลี และความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศไทย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเกี่ยวกับปัญหา และแนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลี หรือเกาหลีศึกษาในสถาบันการศึกษา ทั้งสายสามัญ และสายวิชาชีพ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการปรับปรุงการเรียนการสอน และครูผู้สอนในอนาคต รวมทั้งยังผลสืบเนื่องไปสู่การพัฒนาประเทศไทย ทั้งในระยะใกล้ และระยะไกลตามเป้าหมายที่ได้วางยุทธศาสตร์ไว้