ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ชื่อสถานที่ของญี่ปุ่นคุ้นหูคนไทยมากขึ้นในช่วง 10 ปีนี้เพราะการท่องเที่ยวและการสื่อสารที่คึกคักกว่าเมื่อก่อน จากชื่อเดิมๆ ที่รู้จักมานาน เช่น โตเกียว เกียวโต ก็มีชื่ออื่นมาให้ได้ยินกันบ่อยขึ้น ส่วนใหญ่ถ้าไปเที่ยวเองโดยไม่มีไกด์ ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไรว่าทำไมสถานที่ที่เราไปจึงมีชื่อเรียกแบบนั้น แต่ถ้าลองได้รู้ที่มา การท่องเที่ยวก็มักจะสนุกขึ้นและความทรงจำก็แจ่มชัดขึ้น คราวนี้ลองมาดูกันว่า ชื่อญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่ติดหูคนไทยมีความหมายว่าอย่างไรบ้าง
ชื่อสถานที่ที่คุ้นหูที่สุดคงได้แก่ เมืองหลวง “โตเกียว” กับเมืองหลวงเก่า “เกียวโต” ชื่อโตเกียวเขียนด้วยอักษรคันจิจะได้ว่า 東京 (Tōkyō) คนญี่ปุ่นออกเสียงว่า “โทเกียว” ตัวอักษร 東 (higashi หรือ tō) แปลว่า “ตะวันออก” และ 京(kyō)คือ “เมืองหลวง” เมืองนี้เดิมมีชื่อว่า “เอะโดะ” เขียน 江戸 (Edo) แปลว่า “ประตูน้ำ”, “ปากน้ำ” (江 = แม่น้ำ, 戸 = ประตู, ทางเข้า) และแน่นอนว่าเอะโดะมีแม่น้ำและอยู่ติดทะเล ต่อมาในปี พ.ศ. 2411 เปลี่ยนชื่อเป็น “โตเกียว” แปลว่า “เมืองหลวงทางตะวันออก” เป็นการย้ายจากเมืองหลวงเดิมซึ่งมีชื่อว่าเกียวโต แต่ “ขนมโตเกียว” ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกรุงโตเกียว และถ้าถามคนญี่ปุ่นว่า “รู้จักขนมโตเกียวไหม” ก็จะได้คำตอบว่า “ไม่รู้”
สำหรับ “เกียวโต” เขียน 京都 (Kyōto) คนญี่ปุ่นออกเสียงว่า “เคียวโตะ” แต่คนไทยออกเสียงว่า “เกียวโต” บางครั้งจึงทำให้คนไทยที่ยังใหม่ต่อเรื่องราวของญี่ปุ่นเกิดความสับสนระหว่าง “โตเกียว” กับ “เกียวโต” ซึ่งเป็นคนละเมืองกัน นครเกียวโตสถาปนาเมื่อ พ.ศ.1337 โดยจักรพรรดิคัมมุ เป็นเมืองหลวงของประเทศมา 1,074 ปีกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นโตเกียว เดิมไม่ได้ถูกเรียกว่า “เกียวโต” แต่เรียกว่า “เฮอังเกียว” (平安京;heiankyō) แปลว่า “พระนครอันสงบสุขสถาพร” (平 = เรียบ, ราบ ; 安 = สงบ) กล่าวกันว่าชื่อเรียกขานเปลี่ยนมาเป็นเกียวโตประมาณต้นพุทธศตวรรษ 1600 เมืองเก่าแก่แห่งนี้คือที่ตั้งของ “ประตูผี” หรือ “ราโชมอน” (“ระโชมง”; 羅生門; rashōmon) อันเป็นฉากในบทประพันธ์ที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ญี่ปุ่น ตามแผนผังโบราณ ประตูผีที่ว่านี้คือประตูทิศใต้ตรงกึ่งกลาง ซึ่งก็คือประตูพระนครที่เปิดสู่ถนนซุซะกุ
京(kyō)หมายถึง “เมืองหลวง” มีนัยยะว่าเป็นสถานที่ที่พระจักรพรรดิประทับ และ都 (to หรือ miyako) ก็หมายถึง “เมืองหลวง” หรือ “เมืองใหญ่” โดยมีนัยยะว่าเป็นสถานที่ที่ผู้คนอาศัยอยู่เป็นชุมชน “เกียวโต” จึงน่าจะแปลตามตัวอักษรได้ว่า “เมืองพระนคร” ต่อมาเมื่อถึงยุคปฏิวัติเมจิ พ.ศ. 2411 ตระกูลจักรพรรดิทรงย้ายที่ประทับจากพระนครเกียวโตไปที่เอะโดะ เมืองเอะโดะจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โตเกียว”—เมืองหลวงทางตะวันออก และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เกียวโตถูกเรียกว่า “ไซเกียว”—เมืองหลวงทางตะวันตก (西京;Saikyō)
สถานที่หนึ่งซึ่งคนไทยนิยมไปเที่ยวกันมากในขณะนี้คือ “ฮอกไกโด” คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ฮกไกโด” (北海道;Hokkaidō) หมายถึง “เส้นทางทะเลเหนือ” (北 = เหนือ, 海 = ทะเล, 道 = ถนน) ชื่อนี้ตั้งโดยนักสำรวจนามว่าทะเกะชิโร มะสึอุระ (松浦武四郎;Matsu-ura, Takeshirō) ผ่านการเสนอความคิดเห็นในช่วงต้นสมัยเมจิว่าด้วยชื่อของสถานที่แห่งนี้ 6 ชื่อ ในจำนวนนั้นมีชื่อ “ฮกไก” ซึ่งเขียนว่า 北加伊 (Hokkai) อยู่ด้วย พร้อมทั้งอธิบายว่า “ไก”—加伊คือคำที่คนบ้านป่าเมืองเถื่อนใช้เรียกตัวเอง (เป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างดูถูกคนพื้นเมืองผู้อยู่อาศัยมาก่อนที่คนญี่ปุ่นจากแผ่นดินใหญ่จะบุกขึ้นไปครองพื้นที่) ต่อมา ตัวอักษร “ไก”—加伊 ก็เปลี่ยนมาเป็น “ไก”—海 (ทะเล) ขณะเดียวกัน ในภาษาญี่ปุ่นมี “โทไกโด”—เส้นทางทะเลตะวันออก, ไซไกโด —เส้นทางทะเลตะวันตก และ “นังไกโด”—เส้นทางทะเลใต้ ดังนั้น การมี “เส้นทางทะเลเหนือ” ย่อมเข้ากับลักษณะที่มีอยู่แล้วและไม่แปลกแต่อย่างใด ฮอกไกโดจึงได้ชื่อมาด้วยประการฉะนี้
อีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่คนไทยไปบ่อยคือ “โอซาก้า” คนญี่ปุ่นออกเสียงว่า “โอซะกะ” ปัจจุบันเขียน 大阪 สมัยก่อนเขียน大坂 ความหมายตามตัวอักษรคือ “เนินใหญ่” (大 = ใหญ่, 阪/坂 = เนิน) โปรดสังเกตความแตกต่างด้านการเขียนระหว่าง 阪 กับ 坂 ซึ่งมีความหมายว่า “เนิน” ด้วยกันทั้งคู่ แต่เขียนต่างกัน มีข้อสันนิษฐานว่าอักษรตัวหลังถูกยกเลิกในชื่อนี้ เพราะรัฐบาลสมัยเมจิมองว่า坂คล้ายกับอักษรสองตัวประกอบกันคือ士反 ซึ่งตีความได้ว่าเป็น “กบฏซะมุไร” และเพื่อหลีกเลี่ยงความหมายนั้น จึงใช้อักษรอีกตัวหนึ่งแทน
เมื่อว่ากันตามชื่อ เชื่อว่าเมืองนี้ได้ชื่อมาจากภูมิประเทศที่เป็นเนินตรงนั้นตรงนี้ แต่กระนั้นก็ตาม ทราบแล้วก็อย่าพยายามไขว่คว้าหาเนินใหญ่ เพราะคำว่า “โอ” นั้น เชื่อกันว่าจริงๆ แล้วเป็นแค่เสียงสำหรับเติมหน้าคำญี่ปุ่นโดยไม่ได้มีความหมายว่า “ใหญ่” ตามตัวอักษร ในบางยุค จาก “เนินใหญ่” ก็เขียนเป็น “เนินเล็ก” (小坂) บ้าง “เนินท้าย” (尾坂) บ้าง ซึ่งทำให้อนุมานได้ว่าถ้าหมายถึงเนินใหญ่จริง ก็ไม่น่าจะเขียนชื่อได้หลากหลายขนาดนั้น สรุปว่าโอซาก้าคือเมืองเนิน...จบ
อีกชื่อหนึ่งซึ่งมีที่มาน่าสนใจทีเดียว คือ “ภูเขาฟุจิ” คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ฟุจิ-ซัง” (富士山; Fuji-san) และถือว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของญี่ปุ่น เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เคยห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นจนกระทั่งถึงสมัยเมจิ ความหมายตามตัวอักษรในปัจจุบันคือ “ภูเขาที่เต็มไปด้วยนักรบ” (富 = ความมั่งคั่ง, 士 = นักรบ, 山 = ภูเขา) แต่ชื่อภูเขามีมาก่อนที่จะมีการนำตัวอักษรชุดล่าสุดมาประกบ ความเชื่อหนึ่งคือ ชื่อภูเขามาจากความหมายที่ว่า 不二山—ภูเขาที่ไม่เป็นสอง (不 = ไม่, 二 = สอง, 山 = ภูเขา) เพราะภูเขาลูกนี้สูงที่สุด โดดเด่นที่สุดในญี่ปุ่น
นอกจากนี้ก็มีอีกหลายคำอธิบายเชิงความเชื่อ แต่ที่แพร่หลายที่สุดมาจาก ตำนานคนตัดไผ่ หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ ตำนานเจ้าหญิงคะงุยะ เรื่องมีอยู่ว่าชายตัดไม้ไปเจอเด็กหญิงในปล้องไม้ไผ่ จึงนำกลับมาเลี้ยงดูและตั้งชื่อให้ว่าคะงุยะฮิเมะ เมื่อเติบใหญ่ก็เป็นหญิงงาม เป็นที่ร่ำลือไปทั่ว พอจักรพรรดิทรงทราบเรื่อง ก็เสด็จมาทอดพระเนตร ทรงตกหลุกรักคะงุยะฮิเมะและขอแต่งงาน แต่คะงุยะฮิเมะปฏิเสธโดยทูลว่าเข้าวังของพระองค์ไม่ได้เพราะตนมาจากที่แสนไกล และเมื่อใดที่คะงุยะฮิเมะเห็นพระจันทร์เต็มดวงก็จะมีน้ำตาคลอ และในที่สุดก็เปิดเผยว่าตัวนางไม่ใช่คนบนโลกนี้ แต่มาจากจันทรประเทศ และจะต้องกลับไปที่นั่น
เมื่อใกล้ถึงวันที่จะต้องกลับดวงจันทร์ จักรพรรดิก็ส่งทหารมาล้อมไว้เพื่อไม่ให้คนของจันทรประเทศพาตัวคะงุยะฮิเมะไป แต่ก็ไม่สำเร็จ แล้วคะงุยะฮิเมะก็เขียนจดหมายร่ำลาพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูตน และฝากจดหมายกับยาอายุวัฒนะให้ทหารนำไปถวายจักรพรรดิด้วย พระองค์ทรงได้รับยาและทรงถามทหารว่า “ภูเขาลูกใดสูงใกล้สวรรค์ที่สุด” พระองค์เสด็จเยือนภูเขาแห่งนั้น และเผาจดหมายเพื่อให้ควันนำพาความคิดถึงของพระองค์ลอยขึ้นไปถึงคะงุยะฮิเมะ และให้เผาผอบยาอายุวัฒนะด้วยเพราะไม่ประสงค์จะมีชีวิตชั่วนิรันดร์โดยไม่มีคะงุยะฮิเมะ จากคำว่ายา “อายุวัฒนะ” ที่เผาบนยอดเขาแห่งนั้น หรือ “ฟุโร” (不老;furō)—ไม่แก่, “ฟุชิ” (不死;fushi)—ไม่ตาย จึงกลายเป็นชื่อภูเขา “ฟุจิ” (ฟุชิ) และสื่อนัยว่าภูเขาฟุจิคือภูเขาอมตะนั่นเอง
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th