xs
xsm
sm
md
lg

คริสต์มาสในญี่ปุ่น : จากอดีตสู่ปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


หากไม่ทราบว่าคนญี่ปุ่นนับถือศาสนาพุทธกับชินโตมากที่สุด ผู้ที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมอาจเข้าใจผิดคิดว่าคนประเทศนี้นับถือคริสต์กันเยอะ เพราะเต็มไปด้วยบรรยากาศคริสต์มาสแทบจะทุกที่ เกิดความคึกคักสดใส ไปเดินที่ไหนก็จะเห็นไฟประดับวิบวับ ตามห้างสรรพสินค้าก็แปะป้าย Merry Christmas กันทั่ว แม้แต่ร้านร้อยเยนก็มีถุงเท้าแดง ป้ายแดง หมวกแดง ที่มาแย่งพื้นที่ของสินค้าประจำไปไม่น้อย

แต่เปล่าเลย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แสดงความเป็นคริสตศาสนิกชนแต่อย่างใด เป็นไปเพราะเหตุผลทางธุรกิจมากกว่า ด้วยญี่ปุ่นมีคนที่นับถือคริสต์แค่ราว 1 ล้าน 9 แสนคน เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด 127 ล้าน (2558) คิดเป็นสัดส่วนได้ประมาณ 1.5% ซึ่งถือว่าน้อยมาก นี่จึงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า คนญี่ปุ่นมีความสามารถในการขายของและมองทุกอย่างเป็นช่องทางหาเงินได้ และช่วงคริสต์มาสก็ได้กลายเป็น ‘ของทำเงิน’ สำหรับคนญี่ปุ่นมาแล้วหลายสิบปี
สินค้าคริสต์มาสในร้านร้อยเยน
แน่นอนว่าคริสต์มาสเข้ามาพร้อมๆ กับศาสนาคริสต์ที่มาถึงญี่ปุ่นเมื่อกลางศตวรรษที่ 16 ตอนนั้นคณะค้าขายของโปรตุเกสลงเรือเดินทางมาถึงญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี 1543 (พ.ศ.2086) หลังจากนั้นอีก 6 ปีมิชชันนารีนามว่าฟรังซิส ซาเวียร์ ก็มาถึงญี่ปุ่นและเริ่มเผยแผ่ศาสนาคริสต์ มีบันทึกว่าประมาณปี 1560 ที่นครเกียวโต ชาวคริสต์ประมาณ 100 คนรวมตัวกันจัดงานฉลองวันพระสูติของพระคริสต์ ต่อมาก็เริ่มมีผู้นับถือคริสต์มากขึ้น ประเมินว่าราวปี 1590 (พ.ศ.2133) มีถึง 2 แสนคน

แต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 รัฐบาลโชกุนสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์เด็ดขาด เพราะมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ เกิดการปราบปรามอย่างรุนแรง ผู้ศรัทธาถูกฆ่าตายไปก็มาก และหนึ่งในวิธีทดสอบเพื่อจับผู้ฝ่าฝืนมาลงโทษคือการใช้ “ฟุมิเอะ” (踏み絵;fumie) ซึ่งก็คือ “แผ่นภาพ” (เอะ) ที่แกะสลักเป็นรูปพระเยซูหรือพระแม่มาเรียและให้ผู้ที่ต้องสงสัยว่ายังนับถือศาสนาคริสต์อยู่ “เหยียบ” (ฟุมิ) ภาพนั้น
ฟุมิเอะ
ศาสนาคริสต์ถูกห้ามอยู่เช่นนั้น แต่ก็มีผู้ที่ลักลอบนับถือเรื่อยมาแม้ถูกคุกคามไม่หยุดหย่อน จุดนี้ก็ต้องชื่นชมความใจเด็ดของคนญี่ปุ่นที่ไม่ยอมแพ้ ต่อให้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ยอม จนกระทั่งประชาชนได้รับอิสระในการนับถือศาสนาอีกครั้งเมื่อปี 1873 ซึ่งอยู่ในสมัยเมจิ (明治;Meiji; 1868-1912) แม้มีคนนับถือไม่มากนัก แต่ก็มีคริสตศาสนิกชนบางคนที่เด่นดังในวงสังคมญี่ปุ่น อย่างเช่น ชูซะกุ เอ็นโด (遠藤周作;Shūsaku Endō) นักเขียนชื่อดัง ซึ่งเขียนนวนิยายเกี่ยวกับออกญาเสนาภิมุขของไทยไว้ด้วย หรืออดีตนายกรัฐมนตรีมะซะโยะชิ โอฮิระ (大平正芳;Ōhira, Masayoshi) ก็เป็นชาวคริสต์

ผู้ที่สนใจประเด็นความยากลำบากและการถูกขู่คุกคามของชาวคริสต์ในญี่ปุ่นเมื่อสมัยโบราณ ติดตามเรื่องราวในฉบับภาพเคลื่อนไหวได้ เพราะผู้กำกับชาวอเมริกันชื่อดัง มาร์ติน สกอร์เซซี นำบทประพันธ์เรื่อง “ความเงียบ” (沈黙;Chinmoku) ของญี่ปุ่นมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์แล้ว นวนิยายเรื่องนี้เป็นผลงานของนักเขียนชาวคริสต์ ชูซะกุ เอ็นโดนั่นเอง

หลังจากศาสนาคริสต์ได้รับอนุญาตแล้ว บรรยากาศคริสต์มาสในญี่ปุ่นก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาโดยเริ่มจากย่านกินซ่า ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งหรูหราและเป็นพื้นที่ชั้นนำมาเนิ่นนาน ในช่วงต้นๆ ทศวรรษ 1900 ตอนนั้น “ร้านเมจิ” (明治屋;Meijiya) ซึ่งอยู่ในย่านกินซ่า นำต้นคริสต์มาสออกมาตั้งประดับร้านเป็นครั้งแรก สมัยนั้นคงถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ จึงกลายเป็นที่กล่าวขวัญอย่างกว้างขวาง ต่อมาก็เริ่มมีร้านทำขนมเค้กคริสต์มาสออกมาขาย และในสมัยไทโช (大正;Taishō; 1912-1926) โรงแรมเทโกะกุ (Imperial Hotel) ซึ่งเป็นโรงแรมชั้นเลิศอันเก่าแก่ของญี่ปุ่นก็เริ่มจัดปาร์ตี้คริสต์มาสให้แก่แขกทั่วไป การจัดกิจกรรมและการตกแต่งสถานที่ขยายตัวออกไปสู่ย่านดังของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นอะซะกุซะ หรือชิบุยะ

ทว่าด้วยเหตุที่คนญี่ปุ่นไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ความผูกพันลุ่มลึกกับวันที่ 25 ธันวาคมจึงยังไม่แนบแน่นเหมือนคนในโลกตะวันตก และว่ากันว่าจุดแปรผันอันแท้จริงที่ย้ำเตือนคนญี่ปุ่นว่า ‘เมื่อถึงคริสต์มาสแล้วต้องจัดงาน’ เกิดขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1920 กล่าวคือ พระจักรพรรดิไทโชสวรรคตวันที่ 25 ธันวาคม 1926 (พ.ศ. 2469) และพอเข้าสู่สมัยโชวะ (昭和;Shōwa; 1926-1989) ตั้งแต่นั้นมา วันดังกล่าวได้กลายเป็นวันหยุดทั่วประเทศเพื่อรำลึกถึงการสวรรคต ซึ่งบังเอิญว่าพ้องกับวันคริสต์มาส ความสำคัญของวันจึงได้รับการตอกย้ำ และเนื่องด้วยเป็นวันหยุด ผู้คนจึงออกไปข้างนอกและจับจ่ายซื้อของ กลายเป็นที่มาของโอกาสทางธุรกิจสำหรับร้านค้า จนกระทั่งพระจักรพรรดิโชวะสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม 1989 (พ.ศ. 2532) และเข้าสู่สมัยปัจจุบันคือเฮเซ (平成;Heisei) วันที่ 25 ธันวาคมในฐานะวันหยุดเดิมจึงถูกยกเลิกไป แต่ขนบคริสต์มาสญี่ปุ่นก็ยังอยู่มาจนถึงบัดนี้

และคงเพราะคริสต์มาสญี่ปุ่นมีสีสันเพลินใจ คนญี่ปุ่นจึงเลือกที่จะใช้เวลากับแฟน แทนที่จะใช้เวลากับครอบครัวเหมือนวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะคืนวันคริสต์มาสอีฟ การปฏิบัติเช่นนี้คล้ายๆ จะกลายเป็นสามัญสำนึกของคนญี่ปุ่นไปแล้วด้วย เพราะขนาดละครโทรทัศน์ก็ยังนำเสนอฉากพระนางออกไปเดตกันในคืนคริสต์มาสอีฟ กรณีหนักๆ หน่อย ผู้ชายก็ถึงขนาดโทร.บอกภรรยาว่าติดงาน กลับบ้านไม่ได้ อยู่กับครอบครัวไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วกำลังอยู่กับกิ๊กในคืนคริสต์มาสอีฟ ในคืนนี้ ร้านอาหารหรูๆ บรรยากาศดีๆ จะถูกจองเต็ม ดังนั้น ถ้าใครคิดจะไปทานอาหารในร้านข้างนอก หากไม่โทร.ถามเสียก่อน อาจไม่มีที่ให้นั่ง
ภาพเอพี
เมื่อมีบรรยากาศแล้ว ก็แน่นอนว่าจะขาดเพลงประกอบเสียไม่ได้ ระยะนี้ไปร้านค้าไหน ๆ ในญี่ปุ่น จึงมักจะได้ยินเพลงประจำฤดูกาลด้วย ถ้าไม่นับเพลงคลาสสิกสั้น ๆ อย่าง Jingle Bells หรือ Silent Night แล้ว เพลงคริสต์มาสของญี่ปุ่นไม่ว่าจะสำรวจกี่ปีๆ ก็มักจะมี 3 เพลงต่อไปนี้รวมอยู่ด้วย

1) “คริสต์มาสอีฟ” (1983) โดย ทะสึโร ยะมะชิตะ (山下達郎;Yamashita, Tatsurō)



2) Last Christmas (1984) โดย Wham!



3) All I want for Christmas is you (1994) โดย Mariah Carey



สำหรับเรื่องอาหาร ถ้าใครไม่ออกไปกินนอกบ้าน ก็มักจะกินสองสิ่งนี้ สิ่งแรกคือไก่ พอนึกๆ ไป ก็อดขำไม่ได้ เพราะขณะที่คนในโลกตะวันตกมักทานไก่งวง คนญี่ปุ่นก็ประยุกต์เสียหน่อย หันมากินไก่เคเอฟซีแทน ใครมีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่น จะลองถามดูก็ได้

และอีกสิ่ง ใช่แล้ว! ต้องเค้กคริสต์มาส แต่จริงๆ แล้ว เค้กคือแผนทางธุรกิจของร้านขนมเครือข่าย “ฟุจิยะ” (不二家;Fujiya) ที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนมากินเค้กของตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1922 และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะเค้กที่แต่งหน้าด้วยสตรอว์เบอร์รี และด้วยเหตุแห่งเค้กนี้ ถึงกับมีคำกระทบกระเทียบผู้หญิงญี่ปุ่นว่าเป็นดั่งเค้กคริสต์มาส ถ้าอายุเกิน 24 แล้วไม่มีใครมาขอแต่งงาน ก็เตรียมขึ้นคานเสียเถิด และเมื่อถึง 25 นั่นคือโอกาสสุดท้าย พอขึ้นวันต่อไป จะต้องใช้วิธีลดแลกแจกแถมไปเรื่อยๆ เพราะมันเลยหน้าเทศกาลไปแล้ว

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

ยล “โบสถ์คริสต์” ตระการตา สถาปัตย์งามสง่า ด้วยศรัทธาแห่งคริสตชน
ยล “โบสถ์คริสต์” ตระการตา สถาปัตย์งามสง่า ด้วยศรัทธาแห่งคริสตชน
“เทศกาลคริสต์มาส” ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ธ.ค.ของทุกปี เป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นการระลึกถึงการประสูติของพระเยซูเจ้า ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ ถือได้ว่าเป็นงานใหญ่ของคริสตศาสนิกชน ซึ่งในเมืองไทยบ้านเราก็มีกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์กันเป็นจำนวนไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่ามีโบสถ์คริสต์ที่สวยงามตั้งอยู่ในเมืองไทยในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งสามารถไปเที่ยวชมได้ เพราะโบสถ์แต่ละที่นั้นล้วนมีความงดงามที่น่าชมแตกต่างกันไป มีที่ไหนที่น่าสนใจบ้างนั้น ตามไปทัศนากันได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น