xs
xsm
sm
md
lg

ยล “โบสถ์คริสต์” ตระการตา สถาปัตย์งามสง่า ด้วยศรัทธาแห่งคริสตชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล” ที่ จ.จันทบุรี
“เทศกาลคริสต์มาส” ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ธ.ค.ของทุกปี เป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นการระลึกถึงการประสูติของพระเยซูเจ้า ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ ถือได้ว่าเป็นงานใหญ่ของคริสตศาสนิกชน ซึ่งในเมืองไทยบ้านเราก็มีกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์กันเป็นจำนวนไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่ามีโบสถ์คริสต์ที่สวยงามตั้งอยู่ในเมืองไทยในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งสามารถไปเที่ยวชมได้ เพราะโบสถ์แต่ละที่นั้นล้วนมีความงดงามที่น่าชมแตกต่างกันไป มีที่ไหนที่น่าสนใจบ้างนั้น ตามไปทัศนากันได้เลย

ที่แรกที่ขอแนะนำ คือ “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล” จังหวัดจันทบุรี เป็นโบสถ์คริสต์ที่ถูกยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ เนื่องจากโบสถ์แห่งนี้เป็นโบสถ์ที่มีความเก่าแก่และงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย ภายในยังคงรักษาของเก่าเอาไว้ได้อย่างดี ตามประวัติศาสตร์ของโบสถ์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อราว 300 ปีก่อน เมื่อชาวคาทอลิกที่ลี้ภัยมาจากเวียดนามทางเรือ ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองจันท์ และได้ร่วมมือกับทัพพระเจ้าตากสินในการกู้ชาติกู้แผ่นดินเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่สอง ชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์นี้ได้สร้างชุมชนของตนขึ้น โดยได้สร้างอาสนวิหารหลังแรกขึ้นเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเมื่อปี พ.ศ.2253 ใช้ชื่อว่า "วัดน้อย" ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี
โถงด้านใน “อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล”
เมื่อยุคสมัยผ่านไปอาสนวิหารก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยได้มีการซ่อมแซมและสร้างใหม่ขึ้นอีกหลายครั้ง รวมทั้งได้ย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี จนเมื่อปี พ.ศ.2452 ชุมชนชาวคริสต์ก็ได้สร้างอาสนวิหารหลังใหม่ขึ้นและได้มีพิธีเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร

สำหรับตัวโบสถ์ภายนอกประดับลวดลายฉลุรอบตัวโบสถ์ มีหน้าต่างโค้งแหลม ด้านหน้าโบสถ์มีหอคอยสูงตั้งตระหง่านกระหนาบตัวอาคารทั้ง 2 ข้างโดยหอคอยด้านขวามือ (หากมองจากด้านหน้าเข้าไป) เป็นหอนาฬิกาและยอดโดมปลายแหลม ส่วนทางเข้าตรงกลางเป็นหลังคาจั่วมีช่องแสงและลวดลายประดับสวยงาม (ยอดโดมปลายแหลมอาสนวิหารฯ เคยถูกถอดออกในปี พ.ศ.2483 เพื่อไม่ให้เป็นเป้าหมายในการโจมตีทางอากาศ และได้นำยอดโดมมาใส่อีกครั้งในปี พ.ศ.2552 เนื่องในโอกาสฉลองอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล 100 ปี)
ความสวยงามของ “อาสนวิหารแม่พระบังเกิด”
โบสถ์แห่งนี้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อยู่มาก ภายในอาสนวิหารฯ ประดับด้วยกระจกสี ที่เรียกว่า สเตนกลาส เป็นรูปภาพนักบุญต่างๆ ในคริสต์ศาสนา รูปปั้นต่างๆ และกระเบื้องที่ปูพื้นโบสถ์ก็คงเป็นกระเบื้องเก่าดั้งเดิมที่ส่งลงเรือมาจากประเทศฝรั่งเศส รวมถึงระฆังก็เป็นของเก่าด้วยเช่นกัน มีองค์พระแม่ประดับพลอยกว่า 200,000 เม็ด โดยองค์แม่พระและฐานหล่อขึ้นด้วยเงินบริสุทธิ์ ประดับองค์ด้วยทองคำและพลอยชนิดต่างๆ เช่น พลอยสีขาว บลูแซฟไฟร์ และมรกต องค์พระแม่ยืนเหยียบอยู่บนตัวงู อันเป็นตัวแทนของซาตานและความชั่วร้าย ส่วนดวงตาของงูนั้นก็แดงก่ำด้วยเม็ดทับทิมที่ประดับไว้ ดูโดดเด่นและงดงาม
บรรยกาศด้านใน “อาสนวิหารแม่พระบังเกิด”
ต่อด้วยโบสถ์คริสต์แห่งที่สองคือ “อาสนวิหารแม่พระบังเกิด” หรือ “โบสถ์บางนกแขวก” ตั้งอยู่ที่ตำบลบางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม โบสถ์คริสต์แห่งนี้สร้างขึ้นในสมัย ร.5 โดยบาทหลวงเปาโลซัลมอน มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส

โบสถ์แห่งนี้มีความงดงามด้วยสถาปัตยกรรมกอธิค มียอดแหลมพุ่งเสียดแทงขึ้นไปบนท้องฟ้า ภายในประดับด้วยภาพเขียนบนกระจกสีจากฝรั่งเศส วาดเป็นเรื่องราวของพระเยซูและประวัติพระแม่มารีอา งดงามน่าชมเป็นอย่างยิ่ง
โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ จ.ยโสธร
แล้วมาชมกันต่อที่ "โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้" ตั้อยู่ที่อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร โบสถ์แห่งนี้มีประวัติที่น่าสนใจ คือเมื่อปี พ.ศ.2451 หรือเกือบ 100 ปีที่แล้ว บ้านหนองซ่งแย้(ที่อยู่ของแย้) อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร เป็นหมู่บ้านเล็กๆกลางดงทึบ มีครอบครัวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ 5 ครอบครัวที่มาจากต่างทิศต่างถิ่นมาอยู่รวมกันที่นี

แต่ว่าพวกเขาประสบกับชะตากรรมเดิมๆ คือถูกผู้คนในหมู่บ้านที่อยู่มาก่อนกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ พร้อมๆ กับทำร้าย และระดมขับไล่ออกจากหมู่บ้าน กลุ่ม 5 ครอบครัวเมื่ออับจนหนทาง ก็เดินทางไปหาบาทหลวงฝรั่งเศสเดชาแนลและออมโบรซีโอ ที่บ้านเซซ่ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร มาทำการขับไล่ผีปอบที่สิงอยู่กับตนและครอบครัว ซึ่งบาทหลวงทั้งคู่ต่างไม่ปฏิเสธ ร่วมเดินทางมาช่วยเหลือชาวบ้านที่บ้านหนองซ่งแย้

หลังจากนั้นครอบครัวทั้ง 5 ก็เข้ารีตเป็นคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิก โดยต่อมามีคนอพยพมาอยู่เป็น ประชาคมชาวคริสต์มากขึ้น และเมื่อมีชาวคริสต์มาอยู่เป็นประชาคมมากขึ้น บาทหลวงทั้ง 2 จึงสร้างวัดหนองซ่งแย้ขึ้นมาในปี พ.ศ.2452 โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาลาตินว่า "วัดอัครเทวดามิคาแอล" ซึ่งเป็นชื่อของนักบุญองค์สำคัญ มีบาทหลวงเดชาแนลเป็นอธิการโบสถ์คนแรก
ภายใน โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้
บาทหลวงบุญเลิศ พรหมเสนา อธิการโบสถ์องค์ปัจจุบัน ได้เผยถึงบันทึกของการสร้างโบสถ์หลังนี้ว่า มีชาวบ้านที่ร่วมแรงร่วมใจมาสร้างโบสถ์วัดซ่งแย้ราวๆ 1,500 คน โดย แบ่งเป็น 15 กลุ่ม แต่ละกลุ่มรับงานไปทำเป็นแผนกต่างๆ อาทิ กลุ่มจัดหาเสา กลุ่มจัดหาไม้กระดาน กลุ่มจัดหาแป้นไม้มาทำหลังคา

ตัวโบสถ์รูปทรงที่สร้างขึ้นมีลักษณะแบบศิลปะไทย กว้าง 16 เมตร ยาว 57 เมตร จัดเป็นโบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้แผ่นไม้เป็นแป้นมุงหลังคา 80,000 แผ่น ใช้เสาขนาดต่าง ๆ กันถึง 360 ต้นส่วนใหญ่เป็นเสาไม้เต็ง เสาในแถวกลางมีขนาดใหญ่ยาวที่สุดมี 260 ต้น สูงจากพื้นดินกว่า 10 เมตร พื้นแผ่นกระดานเป็นไม้แดงและไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ม้านั่งไม้จุคนได้กว่าพันคน ระฆังโบสถ์มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 2 ฟุต อยู่หอระฆังสูงที่สร้างแบบหอระฆังตามวัดไทยทั่วไป แต่แปลกตรงที่แยกต่างหากจากโบสถ์
“โบสถ์คริสต์นักบุญอันนา”  จ.นครพนม
แต่เดิมวัดซ่งแย้เป็นเพียงกระต๊อบเล็กๆ ฝาขัดแตะ แต่ต่อมาวัดแห่งนี้ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ โดยโบสถ์คริสต์รุ่นปัจจุบันเป็นโบสถ์หลังที่ 3 ที่มีความน่าสนใจหลายอย่าง ไล่ไปตั้งแต่เริ่มลงมือก่อสร้างในปี พ.ศ. 2490 โดยชาวบ้านแถวนั้นได้ร่วมแรงร่วมใจกันตัดไม้ที่อยู่ในป่าละแวกหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก ไม้จิก ชักลากลำเลียงออกมาจากป่า โดยมีหัวหน้าช่างจากจังหวัดอุบลราชธานีมาเป็นผู้คุมงาน
ด้านหน้า “โบสถ์คริสต์นักบุญอันนา”
จากนั้นมากันที่จังหวัดนครพนม มาเยือนโบสถ์คริสต์ที่ "วัดนักบุญอันนา" (หนองแสง) ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ด้านทิศเหนือ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2469 โดยคุณพ่อเอทัวร์ นำลาภ อดีตอธิการโบสถ์ ลักษณะอาคารมีหอคอยคู่ยอดแหลม โดยโบสถ์หลังนี้เป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนิกชนท้องถิ่น ในช่วงสงครามเวียดนามโบสถ์นักบุญอันนาได้รับความเสียหายจากระเบิด และได้รับการบูรณะซ่อมแซมในภายหลัง โดยในช่วงวันคริสต์มาส ชาวคริสต์แต่ละชุมชนจะประดิษฐ์ดาวขนาดใหญ่รูปแบบต่างๆ แล้วแห่มารวมกันไว้ที่นี่
แห่ดาวที่ท่าแร่ จ.สกลนคร
โบสถ์ต่อมาที่ชวนมาเที่ยวชม คือ “โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล” ตั้งอยู่ที่บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร โดย "หมู่บ้านท่าแร่" แห่งนี้ถือว่าเป็นชุมชนคาทอลิคเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี และถือว่าเป็นชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนนับถือศาสนาคริสต์ และในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของทุกปี จะมีการจัด “แห่ดาวเทศกาลคริสต์มาส” โดยเกือบทั้งพื้นที่ของชุมชนจะเต็มไปด้วยดาวประดิษฐ์รูปแบบต่าง ๆ ฝีมือของผู้เฒ่าผู้แก่บ้านท่าแร่ที่จะนำไม้ไผ่มาเหลา ก่อนจะผูกมัดทับไขว้กันเป็นโครงไม้รูปดาวแล้วติดกระดาษแก้วหลากสีนำมาประดับวัด บ้านเรือน รวมไปถึงขบวนรถแห่ดาวซึ่งถือเป็นไฮไลท์ เพื่อสืบสานความเชื่อความศรัทธาอย่างมีสีสันตามแบบวิถีชุมชนชาวอีสาน ซึ่งการแห่ดาวจะมาสิ้นสุดลงที่โบสถ์แห่งนี้
โบสถ์รูปทรงเรือ ที่โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล
“โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล” เป็นโบสถ์ขนาดใหญ่สีขาวรูปทรงคล้ายเรือ สร้างไว้เพื่อระลึกถึงการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของคริสตชนในหมู่บ้านท่าแร่นี้ ซึ่งโบสถ์แห่งนี้มีสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสผสมเวียดนามอายุร่วม 100 ปี อันโดดเด่นของชาวท่าแร่ เข้ากับผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมตารางหมากรุกคล้ายกับบ้านเมืองในแถบประเทศตะวันตก 
“วัดสองคอน” กับงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
ปิดท้ายขอพามาที่ "วัดสองคอน" มีชื่อเต็มว่า "สักการะสถานแห่งมรณะสักขี วัดสองคอน" หรือในชื่อเดิมว่า วัดพระแม่ไถ่ทาส ตั้งอยู่ที่บ้านสองคอน ต.ป่งขาม อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่คริสตชน 7 คน ที่พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2532 พระสันตปาปาจอห์นปอลที่ 2 ได้ประกาศให้ทั้งเจ็ดคนเป็น "บุญราศีมรณสักขี" ที่หมายถึงคริสตชนผู้ประกอบกรรมดีและพลีชีพเพื่อประกาศยืนยันความเชื่อในพระเจ้าไม่ยอมละทิ้งศาสนา

“วัดสองคอน” มีชื่อเสียงมากในเรื่องความงดงามแปลกตาของตัวอาคาร ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีความสวยงาม และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2539 ออกแบบโดย ดร. อัชชพล ดุสิตนานนท์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ เป็นงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์
บรรยากาศภายใน “วัดสองคอน”
วัดแห่งนี้พื้นที่จำนวน 64 ไร่ จัดสรรออกเป็นส่วนต่างๆ มีถนนตัดผ่ากลาง ทางด้านตะวันตกสร้างเป็นอาคารสำนักงาน บ้านพัก และสุสานหรือป่าศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ฝังอัฐิของบุญราศีทั้ง 7 ส่วนด้านทิศตะวันออกที่ติดกับแม่น้ำโขงก็สร้างเป็นโบสถ์คอนกรีตเสริมเหล็กโถงสี่เหลี่ยมชั้นเดียว ผนังของวัดและส่วนไว้พระธาตุเป็นกระจกใส บริเวณด้านหน้าเป็นส่วนประกอบพิธี ส่วนด้านหลังเป็นที่เก็บอัฐิของบุญราศีทั้ง 7 ซึ่งมีการทำเป็นหุ่นขี้ผึ้งจำลองของบุญราศีทั้ง 7 ไว้ให้สักการบูชา มีไม้กางเขน 7 แห่งด้านหน้า แทนบุญราศีทั้ง 7


สำหรับกำแพงโบสถ์สร้างโอบล้อมโบสถ์เป็นครึ่งวงกลม มีผนังโค้งประดับภาพนูนต่ำ เล่าเรื่องราวประวัติบุญราศีแห่งวัดสองคอน ส่วนด้านหลังเปิดโล่งเป็นสนามเพื่อเอาไว้ชมทิวทัศน์อันสวยงามของแม่น้ำโขง โดยโบสถ์หลังนี้ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี พ.ศ. 2538

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโบสถ์คริสต์สวยๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองไทยตามแต่ละจังหวัด ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวชมและสัมผัสกับความงดงามกันได้ด้วยตัวเอง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น