ศาลอุทธรณ์กรุงโตเกียวมีคำพิพากษาเนรเทศเด็กหนุ่มชาวไทยที่เกิดและเติบโตในญี่ปุ่น ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้แม่ของเขาได้ยอมรับข้อเสนอของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อหวังให้สิทธิ์ลูกชายได้อยู่ในประเทศญี่ปุ่นต่อไป
อุทินัน วัน จำใจยอมรับชะตาชีวิตหลังจากศาลอุทธรณ์กรุงโตเกียวมีคำพิพากษาเมื่อวานนี้ (6ธ.ค.) ให้เขาเดินทางออกนอกประเทศญี่ปุ่นเนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายพำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอย่างไม่ถูกต้องนานเกือบ 20 ปี
ศาลอุทธรณ์ได้ยกคำร้องของศาลชั้นต้นที่ระบุตามข้อเสนอของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นให้นางรนแสน พาภักดี แม่ของเด็กหนุ่มกลับไปยังประเทศไทยหลังจากพำนักอย่างผิดกฎหมายในญี่ปุ่น โดยระบุว่าลูกชายสามารถยื่นขออยู่ในญี่ปุ่นต่อไปได้ สองแม่ลูกได้พลัดพรากจากกันตั้งแต่เดือนกันยายน แต่คดีความก็ยังต้องดำเนินต่อไป
อุทินัน วัย 16 ปีเกิดและเติบโตในญี่ปุ่น โดยไม่เคยเดินทางมาประเทศไทย เขาสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างไม่มีปัญหา ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นให้เหตุผลว่า อุทินันซึ่งกำลังเรียนชั้นมัธยมอยู่และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมญี่ปุ่นได้จึงควรให้โอกาสพำนักในญี่ปุ่นเป็นพิเศษ หากแต่ผู้เป็นแม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศตามกฎหมาย
หากแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยันการเนรเทศตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยระบุว่า “ถึงแม้เด็กหนุ่มจะอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่เขาพูดภาษาไทยและยังมีอายุน้อย จึงสามารถปรับตัวได้หากกลับไปยังประเทศบ้านเกิด”
การอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ใช้เวลาเพียงแค่ราว 10 วินาทีท่ามกลางความตกตะลึงของผู้ที่มาร่วมให้กำลังใจเด็กหนุ่มชาวไทย ซึ่งแสดงความผิดหวังโดยบอกว่า “ผมต้องการอยู่ในญี่ปุ่น ผมรอคอยคำพิพากษานี้มานานจึงรู้สึกเสียใจและเจ็บปวดที่ศาลตัดสินใจเช่นนี้”
ทนายความชาวญี่ปุ่นของเด็กหนุ่ม ระบุว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าแม่ของเด็กได้ยอมเดินทางออกนอกประเทศญี่ปุ่นแล้ว เพื่อแลกสิทธิ์ให้ลูกอยู่ต่อ แต่กลับพิพากษาตามเอกสารและตัวบทกฎหมายเท่านั้น ทนายความจะปรึกษากับอุทินันถึงเรื่องการยื่นฎีกาต่อไป
กรณีนี้แม่ลูกชาวไทยนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองและพำนักในญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งสะท้อนถึงนโยบายที่เข้มงวดกับการจำกัดคนเข้าเมืองและรับผู้อพยพ ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานก็ตาม
องค์กรต่างๆในญี่ปุ่นหรือแม้กระทั่งอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นเองก็เคยเสนอให้ปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองและผู้อพยพ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่เปิดกว้างจากรัฐบาลญี่ปุ่น.