เชียงราย-วิทยาลัยเทคนิคเชียงรายพัฒนาเครื่องเกี่ยวข้าว ช่วยลดต้นทุน ทั้งแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน ส่วนชาวนารุดถามผู้ว่าฯ ขอให้แจงรายละเอียดโครงการจำนำข้าวของรัฐ
วันนี้ (16 พ.ย.) นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานเปิดงานวันช่วยเหลือชาวนาอันเนื่องมาจากราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ณ แปลงเรียนรู้สาธิตการเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องตัดหญ้า บ้านค่ายเจริญ ม.5 ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย โดยนายสุเทพ ทิพย์รัตน์ เกษตร จ.เชียงราย พ.อ.สัชฌาการ คุณยศยิ่ง รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 นายสมคิด จีนจรรยา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย พร้อมประชาชนชาว อ.เวียงชัย เข้าร่วมโดยพิธีจัดให้มีการสาธิตผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวคุณภาพดีทั้งที่เก็บเกี่ยวตามปกติและบรรจุภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
นอกจากนี้ มีการสาธิตการใช้เครื่องเกี่ยวข้าวที่ดัดแปลงมาจากเครื่องตัดหญ้าซึ่งพัฒนาโดยวิทยาลัยเทคนิคเชียงรายโดยการทำโครงเหล็กและแผงเหล็กห่อหุ้มใบมีดที่ใช้ตัด เพื่อให้สามารถตัดต้นข้าวให้ล้มลงไปในทิศทางเดียวกันและทำให้เป็นกองเล็กๆ เหมาะกับการตากข้าวให้แห้งและมีคุณภาพดี โดยในครั้งนี้ทางวิทยาลัยได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวมอบให้กับเทศบาล ต.เวียงเหนือ ประมาณ 10 เครื่องเพื่อให้ชาวนานำไปใช้โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเกี่ยวข้าวสาธิตและเปรียบเทียบอัตราความเร็วและต้นทุนกับการเกี่ยวด้วยเคียวตามปกติด้วย
นายบุญส่งกล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากเรื่องราคาข้าวแล้วชาวนายังประสบปัญหาต้นทุนสูงจากการจ้างแรงงานและเชียงรายก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้เครื่องเกี่ยวข้าวที่พัฒนาโดยวิทยาลัยเทคนิคเชียงรายดังกล่าวสามารถแบ่งเบาต้นทุนชาวนาได้มาก โดยมีอัตราเฉลี่ยเกี่ยวข้าวได้วันละ 3 ไร่ต่อ 1 เครื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บเกี่ยวด้วยเคียวจะต้องจ้างถึง 9 คนคน ละ 300 บาทต้องเสียค่าจ้างถึง 2,700 บาท แต่เมื่อใช้เครื่องชนิดนี้จะเสียเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นชาวนาที่สนใจสามารถไปขอรับที่เทศบาล ต.เวียงเหนือ หรือติดต่อที่วิทยาลัยเพื่อต่อยอดการใช้เครื่องดังกล่าวได้
ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย กล่าวว่า เครื่องมือชนิดนี้ตามปกติชาวบ้านใช้สำหรับตัดหญ้าและต่อมามีการพัฒนาใบมีดทรงกลมขึ้นมาอีก ด้วยเหตุนี้ทางนักศึกษาวิชาเอกพื้นฐานทั่วไปและวิชาเทคนิคการเชื่อมจึงได้คิดค้นโครงเหล็ก โดยออกแบบให้เหมาะกับแรงเหวี่ยงและปรับองศาให้สามารถเกี่ยวข้าวแล้วล้มไปในทิศทางเดียวกันได้โดยสะดวก ใช้ต้นทุนประมาณ 300 บาท แต่หากไปหาซื้อตามท้องตลาดจะมีราคาสูงถึงประมาณ 1,500 บาท ทำให้ทางวิทยาลัยได้ร่วมกับทางจังหวัดพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือชาวนาโดยผู้สนใจสามารถไปติดต่อเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ของตนได้ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า วันเดียวกันที่จวนผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้มีกลุ่มชาวนาไปสอบถามการช่วยเหลือชาวนาตามโครงการประกันข้าวปีที่ยุ้งฉางของรัฐบาล เพราะยังสับสนในมาตรการซึ่งนายบุญส่งได้แจ้งให้ทราบว่านอกจากจะมีการรับประกันราคาข้าวตามราคาที่รัฐบาลกำหนดแล้วยังมีการจ่ายค่าเก็บเกี่ยวปรับปรุงคุณภาพข้าวให้อีกตันละ 1,500 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวดๆ ละ 1,000 บาท และ 500 บาทตามลำดับ จากนั้นมีการช่วยพัฒนาคุณภาพข้าวให้อีกตันละ 1,000 บาท
ส่วนมาตรการช่วยเหลือของจังหวัดได้มีการจัดตลาดนัดรับซื้อข้าวอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดตั้งเป้าขอให้ข้าราชการทั้งจังหวัดรับซื้อข้าวสารไปคนละ 15 กิโลกรัม คิดเป็นน้ำหนักข้าวประมาณ 100 ตัน รวมทั้งให้สถานที่ราชการ สหกรณ์ต่างๆ รับตากข้าวให้ชาวบ้านฟรีโดยไม่คิดค่าตาก และได้รับความร่วมมือจากโรงสีสิริอินเตอร์เนชั่นแนล รับซื้อข้าวในราคาที่มากกว่าท้องตลาดตันละ 400 บาทด้วย ทำให้ชาวนาพอใจและแยกย้ายกันกลับ