กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเตรียมเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะอย่างสิ้นเชิง หลังถูกวิจารณ์มานานว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่หย่อนยานเรื่องการควบคุมการสูบบุหรี่มากที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่สูง และการหาซื้อบุหรี่ทำได้ง่ายทั้งในร้านสะดวกซื้อและตู้จำหน่ายอัตโนมัติ นอกจากนี้พื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ก็ยังค่อนข้างจำกัด องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม หรือ G-7 ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสุดท้ายในเรื่องมาตรการควบคุมยาสูบ 3 เรื่องใหญ่ คือ นโยบายพื้นที่ปลอดบุหรี่, การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ผ่านสื่อมวลชน และการห้ามโฆษณายาสูบ
เพื่อมุ่งหน้าสู่วาระที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเตรียมเสนอมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น โดยห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะทั้งหมด แทนที่ระเบียบปัจจุบันที่ให้จัดแยกพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่และห้ามสูบบุหรี่
มาตรการใหม่นี้มุ่งที่จะปกป้อง “ผู้สูบบุหรี่มือสอง” หรือ ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ในพื้นที่รอบตัว ซึ่งมีผลการศึกษาองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้สูบบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงต่อโรคร้าย เช่น มะเร็งปอด, หลอดเลือดอุดตัน, โรคหัวใจ และโรคหอบหืด
องค์การอนามัยโลก ระบุว่า มี 49ประเทศที่ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมถึง ถนนหนทาง, สถานพยาบาล,สถาบันการศึกษา, ร้านอาหาร,สวนสาธาณะ และระบบคมนาคมขนส่งต่างๆ
ในญี่ปุ่นทุกวันนี้ การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะแพร่หลายมาก ถนนบางสายห้ามสูบบุหรี่แต่ก็ไม่มีผู้ปฏิบัติตามมากนัก ,ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่มีพื้นที่สูบบุหรี่แยกเฉพาะ
ขณะที่สถานีรถไฟหรือแม้แต่ภายในรถไฟซินคันเซนก็มีห้องสูบบุหรี่ จะมีก็เพียงภายในรถบัสและเครื่องบินเท่านั้นก็ห้ามสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด
ผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น พบว่า ผู้ชายญี่ปุ่นสูบบุหรี่ในสัดส่วน30% ซึ่งถึงแม้จะลดลงอย่างมากจากในช่วงทศวรรษ1960 ที่ผู้ชายญี่ปุ่นมากถึง83% เป็นสิงห์อมควัน แต่ก็ยังถือว่าญี่ปุ่นมีผู้สูบบุหรี่มากอยู่ดี ขณะที่สาวญี่ปุ่นที่สูบบุหรี่มีกว่า10% และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย
บุหรี่ในญี่ปุ่นจำหน่ายราคาซองละ 210-460 เยน ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษี 64.4% สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลมากกว่า 2ล้านล้านเยนต่อปี โดยถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกกฎตั้งแต่ปี 2008 ให้ผู้ที่จะซื้อบุหรี่จากตู้อัตโนมัติต้องลงทะเบียนผ่านบัตรผู้สูบบุหรี่ หรือ TASPO แต่การซื้อบุหรี่ทางร้านสะดวกซื้อต่างๆ ยังทำได้ง่ายดายราวกับซื้อขนม.