ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ 375 องค์กร ประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ “ขอให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เร่งผ่านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่” ช่วยลดความสูญเสีย อึ้ง!!! บุหรี่คร่าชีวิตคนไทยมากกว่า 5 หมื่นคนต่อปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 75,000 ล้านบาท หรือ 0.78% ของGDP
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวในพิธีปิดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า บุหรี่เป็นสินค้าที่มีอำนาจเสพติดสูงมาก และคร่าชีวิตลูกค้าของตนเอง โดยในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ มากกว่า 50,000 คน และก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่ากว่า 75,000 ล้านบาท หรือเท่ากับ 0.78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ดังนั้น เพื่อลดความสูญเสียจากบุหรี่ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับปรุง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 เพื่อให้ทันสถานการณ์ โดยบทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ทุกมาตราได้อนุวัติการตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันให้ทั้ง 180 ประเทศภาคี ต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่มีประชาชนทั่วประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุน มากกว่า 15 ล้านคน
“พวกเรา ในฐานะผู้แทนจากเครือข่ายควบคุมยาสูบทั่วประเทศจาก 375 องค์กร ขอประกาศปฏิญญาร่วมกัน เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ ดังนี้ 1. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เร่งรัดพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่โดยเร็ว และยังคงสาระสำคัญของกฎหมายไว้อย่างครบถ้วน 2. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่ายินยอมให้บริษัทบุหรี่แทรกแซงในขั้นตอนต่าง ๆ ของการออกกฎหมายให้ล่าช้า หรือทำให้กฎหมายอ่อนลง โดยพวกเราจะร่วมกันติดตามความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้คนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากการสูบบุหรี่น้อยลง” นพ.วันชาติ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่