xs
xsm
sm
md
lg

พระราชประสงค์ของพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

ภาพเอพี
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ในโลกนี้ประเทศที่มีสถาบันพระเจ้าแผ่นดิน มีน้อยกว่าเมื่อร้อยปีที่แล้ว และในจำนวนที่ว่าน้อยนั้น หากจะว่ากันตามรูปศัพท์และไม่เจาะจงเรื่องความหมายเชิงลึก ย่อมกล่าวได้ว่า ประเทศที่มีสถาบันจักรพรรดิในปัจจุบัน คือ ญี่ปุ่น เท่านั้น ซึ่งญี่ปุ่นใช้คำว่า “เท็นโน” (天皇;Tennō) แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งสวรรค์” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า emperor (http://www.manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9580000139347)

พงศาวดาร “นิฮงโชะกิ” กับ “โคะจิก” บันทึกว่าจักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่น คือ พระจักรพรรดิจิมมุ (神武天皇; Jinmu Tennō) โดยสืบเชื้อสายมาจากเทพ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันตัวตนของพระจักรพรรดิองค์นี้ได้ไปจนถึงจักรพรรดิองค์ที่ 9 และเริ่มยืนยันได้คือองค์ที่ 10 ซึ่งก็คือพระจักรพรรดิซุจิง (崇神天皇; Sujin Tennō) โดยสันนิษฐานว่าครองราชย์ตั้งแต่คริสต์ศตรรษที่ 3 ถึงต้นศตวรรษที่ 4 และสืบสายต่อ ๆ มาจนถึงรุ่นที่ 125 ในขณะนี้
พระจักรพรรดิจิมมุ
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ภาคภูมิใจในสถาบันนี้ (แม้จะมีบางส่วนที่ไม่ยินดียินร้ายอยู่บ้างก็ตาม โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นสถาบันจักรพรรดิที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ดังนั้น หากเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ขึ้น ทั้งคนญี่ปุ่นและคนทั่วโลกจึงจับตามอง และแน่นอนว่า สิ่งที่โลกกำลังสนใจอยู่ในขณะนี้ คือ “ข่าวลือ” เรื่องการสละราชบัลลังก์ของพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้มีพระชนมายุ 82 พรรษาแล้ว

ในช่วงเดือนสองเดือนมานี้ มีข่าวลือออกมาว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงสละราชสมบัติ ในเบื้องต้นนั้นสำนักพระราชวังออกมาปฏิเสธข่าว แต่คนวงในก็ยังลือกันต่อไปว่า “ข่าวนั้นมีมูล” จนกระทั่งเกิดการตอกย้ำชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อมีรายงานข่าวอย่างเป็นทางการอีกว่า พระจักรพรรดิจะมีพระราชกระแสกับประชาชนว่าด้วย “ความรู้สึก” ของพระองค์ (ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า お気持ち[O-kimochi]) ในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ เวลา 15.00 น. ตามเวลาในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการบันทึกเทปไว้ก่อน ประชาชนและสำนักข่าวทุกแห่งต่างใจจดใจจ่อรอฟัง

และแล้วเมื่อเวลานั้นมาถึง วิดีทัศน์ก็ได้รับการนำออกเผยแพร่ พระองค์ตรัสประโยคแรกว่า “ผ่านเจ็ดสิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญมาแล้ว และอีก 2 ปีก็จะเข้าสู่ปีเฮเซที่ 30 [พ.ศ. 2561]”

ต่อจากนั้นก็ตรัสถึงความรู้สึกส่วนพระองค์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระพลานามัยและความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นปีที่ 28 (เฮเซ 28 หรือปี 2559) ว่า “ข้าพเจ้าเองก็มีอายุเกิน 80 ปีแล้ว และรู้สึกได้ว่ามีข้อจำกัด [เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้าเอง] ในหลากหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาพ และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็ได้พิจารณามองย้อนกลับไปสู่ย่างก้าวของตนเองในฐานะจักรพรรดิ พร้อมกับมองไปข้างหน้าถึงการก้าวเดินต่อไปและการทำงาน”

ต่อจากช่วงนี้ พระองค์ตรัสอย่างเป็นรูปธรรมถึงการผ่าตัด 2 ครั้งของพระองค์ และช่วงเวลาในระยะหลัง ๆ ขณะที่ทรงชราภาพขึ้นมากแล้ว พระราชสถานะในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศตามรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น พระราชกรณียกิจ การร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพสกนิกรในยามต่าง ๆ ตลอดจนความรู้สึกส่วนพระองค์ และท้ายสุดตรัสว่า  “เราหวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเข้าใจจากพสกนิกร”



ข้อความผ่านวิดีทัศน์นี้ยาว 10 นาที 58 วินาที อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำใดที่ระบุตรง ๆ ว่า ข้าพเจ้าจะสละราชบัลลังก์ ผู้ฟังคงต้องตีความเอง ซึ่งผมตีความว่า 1) ขอให้ประชาชนเข้าใจว่า พระองค์มิได้ทรงละเลยพระราชภารกิจ แต่ด้วยวัยและพระพลานามัย การทรงงานเช่นเดิมนั้นอาจทำได้ยาก หากต่อแต่นี้ไปพระองค์ไม่สามารถดำเนินพระราชกรณียกิจเช่นเดิมได้อีก ขอให้ประชาชนเข้าใจจุดนั้น 2) ประโยคแรกของพระองค์ที่บ่งเป็นนัยว่า “อีก 2 ปี”... นั้น อาจสื่อนัยว่าพระองค์จะทรงอยู่ ณ จุดนี้อีก 2 ปี แล้วจากนั้นก็...จุด...จุด...จุด และ 3) ในฐานะพระจักรพรรดิ [ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง] พระองค์มิอาจตรัสอะไรได้ แต่ด้วยสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป [เช่น วัย] ขอให้ประชาชน [รัฐสภา?] ร่วมกันคิดว่าจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร [โดยเฉพาะในเรื่องการสืบราชสมบัติ ซึ่งมีความคลุมเครืออยู่หลายจุด - โฆษิต]

เมื่อได้ฟังเช่นนี้ ประชาชนญี่ปุ่นคงเริ่มตระหนักมากขึ้นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง พระจักรพรรดิเองก็ทรงตระหนักดีว่าการประกาศสิ่งใดอย่างปัจจุบันทันด่วนนั้นย่อมไม่ดี ในครั้งนี้จึงเป็นการประกาศ “ความรู้สึก” ส่วนพระองค์ที่สื่อนัย (แค่นัย) สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมใจให้ช็อกน้อยลงสำหรับประชาชน

ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าถึงแม้สถาบันจักรพรรดิถูกเปลี่ยนสถานะไปอย่างมากหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อเมริกาซึ่งเป็นผู้นำการพิชิตญี่ปุ่นในสมัยนั้นตระหนักว่าไม่ควรล้มสถาบันนี้ลง ทว่า สถานะเดิมตามขนบญี่ปุ่นที่ถือว่าจักรพรรดิเป็นเทพเจ้าก็เปลี่ยนมาเป็นคนธรรมดา ที่เดินดิน มีความรู้สึก มีเกิดแก่เจ็บตาย และใกล้ชิดประชาชนมากขึ้นในฐานะ “มนุษย์”
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันมีคนญี่ปุ่นบางส่วนไม่ค่อยแยแสการมีอยู่ของสถาบันนี้ แต่ในภาพรวมแล้ว สถาบันก็เป็นหน้าเป็นตาของญี่ปุ่นเชิงการทูต เป็นแหล่งรวบรวมและสืบทอดวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง ดนตรี และความเป็นญี่ปุ่นที่สั่งสมมาเป็นพันปี เมื่อมองในจุดนี้ ย่อมกล่าวได้ว่าการตัดสินใจของอเมริกาในการคงไว้ซึ่งสถาบันนี้ถูกต้อง และพระจักรพรรดิญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังคงครองใจประชาชนในฐานะ “มิ่งขวัญ” ประจำใจ ไม่ใช่ในฐานะ “หัวหน้า” เหมือนช่วงก่อนสงคราม

สถานะ “มิ่งขวัญ” นี้สื่อนัยว่าเป็นการชนะใจผู้คนด้วยการใช้ “พระคุณ” มากกว่า “พระเดช” พระจักรพรรดิจึงอยู่ในสภาพ “อุทิศ” พระองค์กว่ามากที่จะทรงอยู่เฉย ๆ นั่งสนุกลุกสบาย ถ้าว่ากันด้วยราชาศัพท์คือจะต้องดำเนิน “พระราชกรณียกิจ” แต่ในภาษาบ้าน ๆ คือ พระองค์ต้องทำงาน และการทำงานนี้ไม่มีเกษียณ! จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เมื่อ “มนุษย์” คนหนึ่งต้องทำงานตลอดเวลา ครั้นสูงวัยขึ้น พละกำลังถดถอย ก็ชอบด้วยเหตุผลที่จะได้พักผ่อนมากขึ้น

สำหรับพระราชประวัติโดยสังเขปของ “คินโจเท็นโน” (今上天皇; kinjō tennō)หรือ “พระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน” (ญี่ปุ่นมีขนบการไม่เอ่ยพระนามของพระจักรพรรดิเมื่อกล่าวถึงพระองค์) มีดังนี้คือ พระองค์มีพระนามว่า “อะกิฮิโตะ” เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ 2476 (ค.ศ. 1933) ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิรุ่นที่ 125 แห่งญี่ปุ่น (จำนวนพระองค์มีไม่ถึง 125 พระองค์ เพราะบางพระองค์ถือว่าเป็นการครองราชย์สองรุ่น) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2532 (ค.ศ. 1989) ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 55 พรรษา และทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมีนวิทยา (ศาสตร์ที่เกี่ยวกับปลา)

หากว่ากันด้วยการทรงงานของสมเด็จพระจักรพรรดิ การรายงานข่าวของสื่อโทรทัศน์และวิทยุญี่ปุ่นไม่มีข่าวพระราชสำนักเป็นประจำดังเช่นของไทย เมื่อภาพเกี่ยวกับพระจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์มีไม่ถี่นัก บางครั้งประชาชนก็สงสัยว่าทรงงานอะไรกันบ้างหรือ? หนักขนาดนั้นเชียวหรือ? ซึ่งในความเป็นจริง แม้บางเรื่องไม่เป็นข่าว แต่ด้วยรายงานของสำนักพระราชวัง ก็จะเห็นว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีพระราชภารกิจมากมาย

ตามรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น พระจักรพรรดิคือสัญลักษณ์ของประเทศ คำว่า “สัญลักษณ์” นี้คลุมเครือ ระบุให้ชัดเจนลงไป ก็คือ พระองค์ต้องทรงงานในฐานะตัวแทนประเทศทั้งภายในและภายนอกประเทศ หลักการว่าด้วยพระราชกรณียกิจมีระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นว่า พระจักรพรรดิจะทรงดำเนินพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรและเพื่อภารกิจของประเทศผ่านทางพระราชดำริและพระบรมราชโองการ เมื่อนำมาตีความอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับกรณีของไทย เช่น ลงพระปรมาภิไธยในเอกสาร (เช่น กฎหมาย) ที่คณะรัฐมนตรีส่งมาซึ่งมีปีละอย่างน้อยประมาณ 1,000 รายการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รับการถวายสารตราตั้งเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศซึ่งมีค่อนข้างถี่ มีพระบรมราชโองการเปิดประชุมรัฐสภา หรือพระราชกรณียกิจเชิงสังคมที่ต้องทรงไปเป็นประธานในงานต่าง ๆ อีกมากมาย

พระราชภารกิจเหล่านี้ แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับตารางเวลาส่วนพระองค์ด้วย แต่ส่วนหลัก ๆ ขึ้นอยู่กับ “ผู้อำนวยการสร้าง” และ “ผู้จัดการส่วนตัว” ซึ่งก็คือรัฐสภาของญี่ปุ่นกับสำนักพระราชวัง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา หน้าที่และความเคลื่อนไหว ตลอดจนรายได้ของพระจักรพรรดิ จะมีผู้วางแผนให้ ซึ่งก็คือรัฐสภาญี่ปุ่นหรืออาจเปรียบได้กับผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อกำหนดแล้วก็จะส่งต่อไปที่สำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการอย่างใกล้ชิด ด้วยภารกิจมากมาย พระองค์จึงทรงมีวันหยุดน้อยกว่าคนทั่วไปเสียอีก ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ทรงมีวันหยุดประมาณ 80 วันต่อปี (สำนักพระราชวัง) หรือถ้าเจาะจงปี เช่น ปี 2015 ทรงมีวันหยุดเพียง 77 วัน ขณะที่คนทำงานทั่ว ๆ ไปที่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ (คิดแบบไม่นับวันหยุดนักขัตฤกษ์) ก็ได้หยุดถึง 100 วันเศษแล้ว
ภาพเอพี
สำหรับตัวอย่างเรื่องการ “ถูก” วางแผนให้ ซึ่งเป็นประเด็นค่อนข้างอ่อนไหว คือ รายรับของพระจักรพรรดิและราชสำนัก ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พระราชทรัพย์ตลอดจนการบริหารธุรกิจทั้งหลายที่จะก่อให้เกิดรายได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร การลงทุน ล้วนดำเนินการโดยพระองค์หรือหน่วยงานของพระองค์เองโดยตรง แต่หลังสงคราม สิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำหนดรัฐสภา และมีบทบัญญัติชัดเจนอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตราที่ 88 ด้วย กล่าวคือ “...ค่าใช้จ่ายสำหรับราชสำนักนั้น จะต้องมีการอภิปรายและกำหนดงบประมาณตามบัญชีโดยรัฐสภา”

เมื่อพิจารณาอย่างเป็นรูปธรรม งบประมาณสำหรับงานที่เกี่ยวกับราชสำนักแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่ใช้กับสำนักพระราชวัง และส่วนที่ใช้กับราชสำนักโดยตรง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ ตัวอย่างรายละเอียดงบประมาณประจำปี 2559 (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 - มีนาคม 2560) มีดังนี้

1) สำนักพระราชวัง : 10,939,790,000 เยน
2) ราชสำนัก แบ่งเป็น 3 หมวดคือ
2.1) ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ของพระจักรพรรดิ (内廷費;naitei-hi) เช่น กิจวัตรประจำวันของพระองค์ 324,000,000 เยน
2.2) ค่าใช้จ่ายเพื่อภารกิจสาธารณะหรืองานราชการ (宮廷費; kyūtei-hi) เช่น การต้อนรับพระราชอาคันตุกะ การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ 5,545,580,000 เยน
2.3) ค่าใช้จ่ายสำหรับเชื้อพระวงศ์ (皇族費; kōzoku-hi) ซึ่งได้แก่ ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ของสมาชิกอื่น ๆ นอกเหนือจากพระจักรพรรดิ 229,970,000 เยน

ถ้าจะแปลงเป็นเงินบาทขณะนี้ ลองเอา 3 หารดูก็จะทราบ โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่กล้าระบุว่าน้อยหรือมาก แต่มีข้อคิดอยู่ว่า ทั้งหมดนี้มาจากภาษีของประชาชน และเมื่อคำนวณออกมาแล้ว จะพบว่าประชาชน 1 คน มีส่วนในการจ่ายงบประมาณนี้ราว 200 - 300 เยนต่อปี

การเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินย่อมอยู่ในที่สูง แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจไม่ได้มีอิสรภาพเต็มที่ ยิ่งในกรณีของพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นหลังสงครามด้วยแล้ว พระองค์ย่อมทรงตระหนักดีว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป ไม่สามารถใช้พระราชวินิจฉัยได้อย่างอิสระดังเช่นในยุคก่อนสงคราม อำนาจการตัดสินใจใด ๆ นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับประชาชน (หรืออันที่จริงคือรัฐสภา) แม้แต่เรื่องกินเรื่องอยู่ ฉะนั้น เมื่อถึงวัยนี้ สมเด็จพระองค์จึงทรงบอกให้ประชาชนมองย้อนดูและเข้าใจสิ่งที่ พระองค์ทรงปรารถนาจริง ๆ

ดังนั้น แม้ประชาชนจะตกใจเมื่อมีขาวลือเรื่องการสละราชสมบัติ โดยเฉพาะนี่จะเป็น “เซเซ็นไทอิ” (生前退位;Seizen-taii) หรือ “การสละราชสมบัติขณะที่ยังมีพระชนมาชีพอยู่” ซึ่งนาน ๆ ทีจะมีสักครั้ง แต่ พระราชประสงค์ของพระองค์ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนญี่ปุ่นน้อมรับด้วยความเข้าใจ และเวลานั้นจะมาถึงอย่างเป็นทางการเมื่อไร คงจะได้ทราบกันในเร็ววัน

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุก ๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น