xs
xsm
sm
md
lg

ซามูไรย้ายงานเกี่ยวข้องอะไรกับคนญี่ปุ่นไม่ย้ายงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้วครับ ก่อนอื่นผมอยากขอบคุณที่มีเพื่อน ๆ หลายคนคอยให้กำลังใจ ช่วยนำเสนอความคิดเห็น มุมมองที่น่าสนใจ และติดตามอ่านเป็นเพื่อนกันตลอดมา มีคำถามจากเพื่อน ๆ หลายคนผมก็ได้ติดตามอ่านเสมอมาเช่นกันนะครับ วันนี้ขอยกตัวอย่างคอมเมนต์จากคุณ Quad-i ครับ

คุณ Quad-i บอกว่า : "ผมชอบอ่านคอลัมน์มารุโนะอุจิมาก ๆ ติดตามตลอดทุกตอนเลยครับ เป็นไปได้ไหมครับ Mr Leon ที่จะช่วยสรุปประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นแบบคร่าว ๆ ยกตัวอย่างเช่น อาจจะแบ่งยุคเอโดะสัปดาห์นึง ยุคเมจิสัปดาห์นึง ขอบคุณที่พิจารณาครับ!!"

ขอบคุณมากครับ คำถามของคุณ Quad-i ตรงใจผมมาก อาทิตย์ที่แล้วผมบอกว่าผมไม่ค่อยชอบเรียนวิชาที่เกี่ยวกับภาษา แต่วิชาและเรื่องที่ผมชอบจริง ๆ แล้วคือ “ประวัติศาสตร์” แต่การที่จะนำเรื่องประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาพูดมาเล่าสู่กันฟังเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยากมากเลยครับ นอกจากเรื่องความเข้าใจในวัฒนธรรมแล้ว อาจต้องเข้าใจในมุมมองพฤติกรรมของคนญี่ปุ่น ซึ่งยาวและสื่อสารยากจังครับ ตัวผมเองก็เช่นกัน ถ้าจะให้เข้าใจประวัติศาสตร์ไทยแบบที่คนไทยเข้าใจ ผมก็อาจจะเข้าไม่ถึง แต่หลักคร่าว ๆ ที่อยากอธิบายให้พอเป็นที่เข้าใจง่าย ๆ เบื้องต้น คือ ถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์ไทยตามยุคสมัยของเมืองหลวงในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เริ่มจาก “สุโขทัย - อยุธยา - ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ หรือ กรุงเทพมหานคร” ใช่ไหมครับ ญี่ปุ่นก็มีการแบ่งประวัติศาสตร์เป็นยุคสมัยตามเมืองหลวงเช่นกัน คือ “นารา - เกียวโต - คามากุระ - เกียวโต (อีกรอบ) - เอโดะ ภายหลังเปลี่ยนเป็นโตเกียว” วัฒนธรรมต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับยุคสมัยนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปมาตามยุค

ยุคที่เริ่มมีการปกครองโดยโชกุน (Top of Samurai) (ซามูไร : พูดให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ คนที่คอยให้ความคุ้มครองแก่ราชวงศ์ชั้นสูง จักรพรรดิ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Bodyguard นั่นเอง) ยุคที่โชกุนบริหารรัฐบาล คือ ยุคคามากุระ และยุคเกียวโตรอบที่สอง คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเมืองหลวง วัฒนธรรมบางอย่างก็เปลี่ยนไปด้วย ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะมาก ถ้าเพื่อน ๆ สนใจผมจะค่อย ๆ เล่าแทรกไปเรื่อย ๆ ในโอกาสต่อไปนะครับ

สมัยซามูไรเขามีส่วนต่อแนวคิดวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นปัจจุบันอยู่ค่อนข้างมากทีเดียว เกี่ยวอย่างไรผมจะเล่าต่อครับ

ครั้งที่แล้วผมเล่าเรื่องบริษัทญี่ปุ่นที่เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นมามากมาย หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 จากเดิมที่เริ่มสร้างบริษัทอาจจะมีพนักงานแค่ 10 คน แต่สามารถพัฒนาจนกลายเป็น Global Company พอบริษัทเริ่มเติบโตและขยายตัวขึ้น มีคนทำงานมากขึ้น ผ่านระยะเวลาไปเรื่อย ๆ รุ่นต่อรุ่น จุดมุ่งหมายดั้งเดิมของคนยุคบุกเบิก กับคนรุ่นใหม่ก็มีช่องว่างมากขึ้น

คนญี่ปุ่นเมื่อได้เข้าทำงานที่ไหนแล้ว มักจะทำงานที่เดิมไปจนเกษียณอายุ มักจะไม่ค่อยย้ายงานกันมากนัก ช่วงที่ผมเข้าทำงานใหม่ ๆ ก็จะมีรุ่นพี่ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ที่ทำงานที่นี่มาตั้งแต่จบใหม่ ๆ หรือบางคนทำมาตั้งแต่อายุ 18 จนเกือบจะ 50 ปี ก็ไม่เคยเปลี่ยนหรือย้ายงานไปไหน เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมคนทำงานที่ญี่ปุ่นครับ นอกจากนั้น คนญี่ปุ่นยังมีความคิดไม่ค่อยไว้ใจคนที่เคยเปลี่ยนงานมากกว่า 2 ครั้งอีกด้วย ซึ่งความคิดนี้เพื่อนผมที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลบอกมาครับ ค่อนข้างต่างจากเมืองไทยใช่ไหมครับแบบนี้ และแนวคิดไม่ไว้ใจนี้เองก็มีมานานตั้งแต่ยุคซามูไรครับ

มีบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์เหมือนกันครับว่า ซามูไรที่เปลี่ยนงานบ่อยที่สุด เปลี่ยนไป 7 ครั้ง คือ 藤堂高虎 (Tōdō Takatora) เขาเปลี่ยนหัวหน้าเปลี่ยนสำนักไปเรื่อย ๆ เพื่อเลื่อนตำแหน่ง หรือฐานะตนเอง จากแรก ๆ อาจจะเป็นซามูไรที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ หรือยังไม่เก่งมาก ไม่รวยมาก แต่เมื่อย้ายสำนักไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้เขา Up level ตัวเองไปเรื่อย ๆ จนอาจจะได้เป็นซามูไรคนสำคัญของหัวหน้าใหญ่ที่มีตำแหน่งสูงก็เป็นไปได้
 藤堂高虎 (Tōdō  Takatora)
แต่หลังจากนั้น การเปลี่ยนงานของซามูไรทำได้ยากขึ้น เมื่อการสู้รบระหว่างสำนักน้อยลง เกิดสันติภาพมากขึ้น การเปลี่ยนสำนักไปเรื่อย ๆ ของซามูไรก็ทำได้ยาก และเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างหนึ่ง คือ หัวหน้าเก่าจะร่อนจดหมายแจ้งเจ้าสำนักต่าง ๆ ประมาณว่า อย่าได้รับซามูไรคนนั้น ๆ เข้าทำงาน หรือเรียกว่า 奉公構(Houkou-kamai, Houkou-kamae) เป็นการส่งจดหมายห้ามให้เจ้าสำนักอื่น ๆ รับคนจากสำนักตน เป็นต้น และซามูไรที่ชื่อ 藤堂高虎 (Tōdō Takatora) เมื่อเขามีผู้น้อยในสำนัก และเกิดทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นเหตุให้ผู้น้อยในสำนักเขาต้องการลาออก เขาเองก็ร่อนจดหมาย 奉公構(Houkou-kamai, Houkou-kamae) ให้เจ้าสำนักอื่น ๆ ด้วย เช่นนี้เองเป็นหนึ่งในที่มาที่ไปของสังคมแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงงานที่ยากขึ้น ๆ และควรจะทำงานที่เดิม จงรักภักดีกับถิ่นเดิม แนวความคิดแบบนี้สืบเนืองมาถึงปัจจุบัน ว่า การเปลี่ยนงานหลายสำนักเป็นสิ่งที่ไม่ได้ดูดีนัก ยากุซ่ากรุ๊ปเองก็ยังคงแนวคิดกลุ่มใครกลุ่มมัน ทำงานที่สำนักเดิมอย่างจงรักภักดี แบบนี้ก็ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน

บริษัทญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันก็ใช้แนวคิดเช่นนี้สืบทอดกันต่อมา ความจงรักภักดีที่จะอยู่ร่วมกันไปตลอด บางคนแม้จะหัวไม่ดี ทำงานไม่ได้เลย แต่เข้ากับเพื่อนในกลุ่มงานได้ อยู่กันมานาน ก็ไม่มีใครว่าอะไร ไม่มีการเอาออก ก็อยู่กันไปเรื่อย ๆ ตัวคนญี่ปุ่นเองก็ไม่อยากย้ายงานบ่อย ๆ เพราะอะไรนะเหรอครับ ก็เพราะแนวคิดทางวัฒนธรรมอันยาวนานที่ฝังความคิดความจงรักภักดีมาอย่างที่เล่าไป และถึงตัวเองมีประสบการณ์มากในสายงานตัวเองแค่ไหน ถ้าต้องย้ายงานเขาจะไม่สามารถไปสมัครงานในบริษัทคู่แข่งกันได้เนื่องด้วยเพราะสปิริตส่วนตนของคนญี่ปุ่น ครั้นจะไปสมัครในสายงานอื่นตัวเองก็อายุมากไปเสียแล้ว แถมไม่มีประสบการณ์เลย ขณะที่ความเก่งกาจในสายงานเดิมไม่สามารถเอาไปใช้ได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทานะกะ ทำงานที่บริษัทรถยนต์ H มานานกว่า 20 ปี เขาอยากย้ายงาน เขาจะไม่สามารถย้ายไปค่ายรถยนต์ T หรือ N หรือค่ายรถยนต์อื่น ๆ ได้เลย เหมือนเป็นเหมือนสัญญาใจระหว่างบริษัทที่จะไม่ไปทำงานที่บริษัทคู่แข่งทางการค้า แต่คุณทานะกะสามารถลองไปสมัครงานที่บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรุงอาหารได้ ทว่า บริษัทเหล่านี้ก็คนละสายงานกับที่เขามีประสบการณ์มาก่อน จึงพูดได้ว่า “ถึงมีประสบการณ์แค่ไหนก็ใช้ไม่ค่อยได้” คนญี่ปุ่นจึงไม่นิยมย้ายงานกันนั่นเองครับ

น่าจะมีเพื่อน ๆ หลายคนที่เคยร่วมงานและทำงานในบริษัทญี่ปุ่นใช่ไหมครับ เป็นอย่างไรบ้างครับ เพื่อน ๆ บางคนอาจเครียดกับความคิดของคนญี่ปุ่นใช่ไหมครับ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอะไรร้ายแรง เขาก็ไม่เอาเราออกนะครับ อยู่ทำงานกันไปเรื่อย ๆ (´ω`●) วันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น