xs
xsm
sm
md
lg

ลีลาศฆาตกรรม จากแฟ้มสืบสวนคดีฆาตกรรมอำพรางยุคปฏิรูปเมจิ(ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทประพันธ์ของ Ango Sakaguchi (1906-1955)
แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์

1

อิซุมิยะมะ โทระโนะซุเกะ นักดาบแห่งย่านคะงุระซะกะ** เดินลอดประตูรั้วไม้กระดานทาสีดำเข้าไปในบริเวณคฤหาสน์ไคชูที่ฮิงะวะ แม้ว่าจะอยู่ในสมัยปฏิรูปเมจิเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมาได้ 18-19 ปีแล้ว แต่ชายคนนี้ยังไม่เลิกนิสัยบ้า ๆ คือพอเมาเหล้าได้ที่แล้วเป็นต้องวิ่งไล่เลียแก้มสาวใช้

สมัยเด็กโทระโนะซุเกะเคยเรียนฟันดาบกับคะสึไคชูซึ่งยังยากจนอยู่เพราะความสามารถหลาย ๆ ด้านของเขายังไม่เข้าตารัฐบาลโชกุน จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการสอนฟันดาบและศิลปะวิทยาการตะวันตก แต่พอเรียนอยู่ได้สองสามปีรัฐบาลก็เรียกตัวไคชูให้เข้ารับราชการทำให้ต้องยุ่งอยู่กับงานจนไม่มีเวลาสอนจึงฝากเขาไว้กับเทชชู ยะมะโอะกะ โทระโนะซุเกะเรียนวิชาฟันดาบกับยะมะโอะกะมาตั้งแต่อายุประมาณเดียวกับเด็กปอสี่ปอห้าสมัยนี้ ตอนนี้เขามีสำนักดาบอยู่ที่คะงุระซะกะแต่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงโด่งดังนัก

โทระโนะซุเกะทรุดตัวลงนั่งบนเก้าอี้หวายที่ห้องโถงของคฤหาสน์ของคะสึไคชู เอามือกุมหัวอยู่ในท่าครุ่นคิดซึ่งเป็นท่าที่เขาทำจนติดเป็นนิสัยเวลาแบกเรื่องหนักใจมาที่คฤหาสน์แห่งนี้ และนั่นเองที่ทำให้ขาของเก้าอี้หวายโยกคลอนจนแทบจะหักเพราะความเป็นคนร่างล่ำสันใหญ่โตของเขา
ตรอกซอยในย่านคะงุระซะกะที่ยังคงบรรยากาสสมัยเอโดะ
ชายร่างใหญ่นั่งอยู่ในท่านั้นประมาณสี่ห้านาทีก็ผุดลุกขึ้น สาวใช้ผลุบกลับไปเมื่อโคะอิโตะหญิงรับใช้ประจำตัวของไคชูออกมาต้อนรับและเดินนำเขาผ่านห้องชุดรับแขกที่ตั้งเก้าอี้และโต๊ะแบบฝรั่งตามแบบแผนของคฤหาสน์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ บนข้างฝาแขวนภาพวาดสีน้ำมันรูปน้ำตกผลงานของคิโยะโอะ คะวะมุระ ห้องเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกันนั้นเดิมเป็นห้องทำงานของไคชูที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เนื่องจากใช้เป็นที่ปรึกษาหารือความลับและถกปรัชญากันของนักปฏิรูปคนสำคัญ ทั้งสองเดินไปตามเฉลียงยาวอีกประมาณสิบกว่าเมตรก็ถึงห้องชุดที่ตอนนี้เจ้าของคฤหาสน์ใช้เป็นห้องทำงาน มีห้องชงชาและห้องเก็บของด้วย

วันนี้โชคดีที่ไม่มีแขก ไคชูดูมีสง่าราศีเรืองรองไปทั้งตัว แต่ท่าทีการนั่งขัดสมาธิและคำพูดที่ออกจากปากช่างไม่สมกับบุคลิกเอาเสียเลย

“เจ้าโทะระรึ เป็นไง ช่วงนี้สำนักดาบงานยุ่งละซีเอ็ง”

“ก็พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องครอบครัวเจ็ดคนรวมพ่อแม่ด้วยน่ะขอรับใต้เท้า”
“เออ ได้ข่าวว่าเกิดคดีขี้เมาไล่ฟันคนเดินถนนแถวคะงุระซะกะ เขาลือกันว่าหน้าตาเหมือนเอ็งแน่ะ จะว่ายังไง”

“กระผมเปล่านะ”

“อ๋อ คนที่จะถูกเอ็งงับต้นคอและเลียแก้มน่ะจะต้องเป็นพวกมาดามเท่านั้นใช่ไหมและตอนสองทุ่มก็ไม่มีมาดามที่ไหนผ่านมาทางคะงุระซะกะเสียด้วย แล้วพวกสาว ๆ กับเมีย ๆ แถวคะงุระซะกะนั่นก็ดูเหมือนจะภาวนากันว่าไหน ๆ จะต้องถูกเลียแก้มแล้วละก็ขอให้ชินจูโรเป็นคนเลียเถิด ข่าวว่ายายหมอนวดโอะกินโกรธมาก ด่าว่าไอ้โทะระต้องไปกัดต้นคอพญายมจึงจะเหมาะ”

“กระผมพอจะจำได้นิดหน่อยว่าเหงื่อแตกเต็มหน้า แต่ไม่ได้ทำอะไรร้ายกาจขนาดนั้นหรอกขอรับ ความจริงที่กระผมมาหาใต้เท้าวันนี้ก็เพราะอยากมาขอยืมสติปัญญาของใต้เท้าในเรื่องที่เกี่ยวกับท่านชินจูโร ยูกินั่นแหละครับ”

“เกิดคดีอะไรรึ”

“เกิดเรื่องใหญ่จริง ๆ ขอรับ ทางการสั่งระงับการลงข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ นักสืบราชการลับวิ่งกันวุ่นทั่วหัวระแหง รัฐบาลถึงกับจัดประชุมคณะรัฐมนตรีโดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นองค์ประธานโดยด่วนเลยละขอรับ”

ตามปกติโทระโนะซุเกะมักเล่าเหตุการณ์ให้ฟังเป็นเรื่องใหญ่เกินจริงเสมอ แต่การจัดประชุมสุดยอดที่มีสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นองค์ประธานนั้นทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่เกิดคาด ไคชูถามด้วยความประหลาดใจเต็มที

“เกิดสงครามขึ้นที่ไหนรึ”

“เหตุเกิดเมื่อราวสองทุ่มเมื่อคืนวานขอรับ นายโกะเฮ คะโน นักธุรกิจใหญ่ถูกฆาตกรรม ในงานเต้นรำแฟนซี คนที่ ไปงานคืนนั้นมีแต่คนใหญ่ ๆ โต ๆ อย่างพวกรัฐมนตรี ทูตและกงศุลใหญ่ประเทศต่าง ๆ นายเท็นโระกุ สึชิมะ กับนาย มะซะฮิโกะ คันดะ ก็ไปด้วยนะขอรับ”

ขนาดไคชูยังถึงกับเม้มปากอึ้งไปแม้จะพยายามวางท่าให้เป็นปกติขณะนิ่งคิด แม้บุคคลสำคัญระดับมันสมองของชาติ นักดาบฝีมือเฉียบขาด นักคิดหัวไวปานลูกธนูออกจากแหล่ง และมีสายตาที่มองเจาะลึกล้ำราวกับกล้องจุลทรรศน์ อย่างเขายังมองว่า นั่นเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ

ความลับที่เหนือความลับทั้งปวงคือรัฐบาลตอนนั้นวางแผนธุรกิจที่มีปัญหายุ่งยากแผนหนึ่งท้าทายประชาคมสหประชาชาติ ญี่ปุ่นสมัยนั้นไม่มีกิจการอะไรสักอย่างเดียวที่จะเรียกได้ว่าอุตสาหกรรม แม้กระทั่งโรงงานผลิตเหล็กปีละพันตันก็ยังไม่มี ส่วนทางด้านการรถไฟนั้นเล่าถึงจะเปิดให้บริการมาสิบปีแล้วแต่ก็ยังต้องนำเข้าหัวรถจักรจากเมืองนอกกันอยู่ ญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ที่บ่งบอกถึงความเป็นอารยธรรมประเทศยุคใหม่ได้เองเลยสักอย่างเดียว การที่จะเข้ากลุ่มอารยประเทศได้นั้นจำเป็นต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยต้องมีโรงงงานผลิตเหล็กขนาดใหญ่เป็นอย่างแรก แต่ทว่าขาดเงินทุน เศรษฐีนายทุนรายใหญ่ ๆ ของญี่ปุ่นต่างเอาเงินไปลงทุนทำธุรกิจที่ได้ผลกำไรเร็วและเป็นกอบเป็นกำอย่างการค้าขายกับต่างประเทศและการเดินเรือกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการจัดเตรียมอุปกรณ์และสถานปฏิบัติงาน อีกทั้งยังต้องสรรหาเทคโนโลยีทันสมัยและทำการค้านคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นแรมเดือนแรมปี

รัฐบาลตอนนั้นเป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องนี้มากจึงได้เริ่มวางแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อนำญี่ปุ่นเข้ากลุ่มอารยประเทศให้ได้โดยตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตเหล็กขนาดใหญ่เป็นอันดับแรก แต่เนื่องจากไม่มีเงินทุนจึงคิดที่จะกู้ยืมเงิน 5 ล้านปอนด์จากประเทศ X เงิน 5 ล้านปอนด์ซึ่งเท่ากับประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินจำนวนมหาศาลเทียบเท่า 3 แสนล้านเยนในตลาดแลกเปลี่ยนปัจจุบัน (หมายเหตุ...Ango Sakaguchi เขียนเรื่องชุดนี้ขึ้นในปี 1950 หลังสงครามเลิกไม่นาน)

แต่มีบางประเทศไม่พอใจกับการที่ญี่ปุ่นจะพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะประเทศ Z เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบให้ตลาดของตนเกิดความปั่นป่วนขึ้นในภายหลัง

ดังนั้น นายกรัฐมนตรี (เรียกว่าอัครเสนาบดีมาจนถึงเดือนธันวาคม ปีค.ศ.1885 ซึ่งเป็นช่วงก่อนหลังการเกิดเหตุการณ์ตามท้องเรื่อง การใช้ชื่อตำแหน่งราชการหรือชื่ออื่น ๆ ตามความเป็นจริงในประวัติศาสตร์อาจทำให้ความลับแตกได้ จึงขอหลีกเลี่ยงการใช้คำเหล่านั้นตามความจำเป็น พอที่ผู้อ่านจะไม่ระแคะระคาย) จึงคิดว่า โรงงานผลิตเหล็กขนาดใหญ่นั้นหากประกอบการในฐานะกิจการของรัฐ จะต้องถูกวิพากษ์วิจารย์จากนานาชาติแน่ จะทำเป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชนก็ไม่เหมาะอีก มีวิธีเดียวคือให้เอกชนเป็นคนทำ โชคดีที่นายโกะเฮ คะโนพ่อค้าคนสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเมืองแสดงความเห็นชอบกับที่แผนการนี้ รัฐบาลจึงได้มอบหมายโครงการนี้ให้เขาทำเป็นกิจการส่วนบุคคล

ทว่านั่นเป็นเพียงลักษณะภายนอก เพราะในความเป็นจริงนั้นรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบการขอกู้ยืมเงิน 5 ล้านปอนด์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบตั้งแต่การค้ำประกันเงินกู้เป็นต้นมาและประกอบการอย่างเต็มรูปแบบของการเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเทศ X ซึ่งเป็นศัตรูกับประเทศ Z ไม่แสดงท่าทีคัดค้านตราบใดที่โครงการนี้จะสร้างความปั่นป่วนให้แก่ตลาดด้านตะวันออกของประเทศ Z ดังนั้นญี่ปุ่นกับประเทศ X จึงเริ่มเจรจาต่องรองกันลับ ๆ

ประเทศ X ต้องคิดหนัก เพราะ 3 ล้านปอนด์นั้นเป็นเงินจำนวนมหาศาล และแม้ว่า Z จะเป็นประเทศศัตรูแต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กำลังละเอียดอ่อนมากในช่วงนั้น ทำให้ไม่อยากทำอะไรโง่ ๆ เพื่อผลประโยชน์แค่ไม่กี่สตางค์แต่ต้องผิดใจกับประเทศอื่น ๆ ดังนั้น ประเทศ X จึงระมัดระวังไม่ยอมอนุมัติกู้เงิน 3 ล้านปอนด์ให้ง่าย ๆ

ขณะที่ยังตกลงกันไม่ได้จนเวลาผ่านไปครึ่งปีนั่นเอง ประเทศ Z ก็มองออกอย่างทะลุปรุโปร่งถึงเรื่องที่สองประเทศกำลังการเจรจาต่อรองกันอยู่อย่างลับ ๆ

ประเทศ Z จึงวางแผนตลบหลังศัตรูแต่ไม่ใช่ด้วยการตักเตือนญี่ปุ่นหรือประท้วงประเทศ X ตอนนั้นญี่ปุ่นซื้อกระดาษ น้ำมัน เส้นด้าย (รายการสินค้านี้กุขึ้นมา เพราะถ้าระบุไปตามจริงความลับอาจแตกได้เช่นเดียวกับชื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือชื่ออื่น ๆ ที่ชี้แจงไว้ข้างต้น) จากประเทศ X ซึ่งได้กำไรจากจากการส่งออกสินค้าเหล่านั้นอย่างมหาศาล ตรงนี้เองที่ Z ใช้เป็นจุดโจมตีตลบหลัง X คือวางแผนสนับสนุนให้ญี่ปุ่นจัดตั้งโรงงานผลิตกระดาษ น้ำมัน และเส้นด้าย พร้อมทั้งช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ให้ส่งวัตถุดิบให้ญี่ปุ่นในราคาถูกด้วย

คนที่ประเทศ Z นำแผนการลับมาปรึกษาด้วยนั้นก็คือ เท็นโระกุ สึชิมะ ศัตรูทางการเมืองของนายกโยะชิกิ คะมิอิซุมิ และลือกันว่าเป็นตัวเก็งที่จะได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลคนต่อไป เท็นโระกุเป็นบุคคลระดับผู้นำของแคว้นที่มีพลังเข้มแข็งมากและเป็นปรปักษ์กับแคว้นของโยะชิกิ ทูตฟรังเก็นของประเทศ Z (ต้องเลือกใช้ชื่อหลอก ๆ พยายามไม่ให้จับสำเนียงได้ว่าเป็นภาษาอะไร) เชิญเท็นโระกุมาพบกันลับ ๆ ยื่นข้อเสนอว่าเราจะให้นายยืมเงิน 5 ล้านปอนด์ ไปทำธุรกิจผลิตกระดาษ น้ำมัน และเส้นด้าย ขนาดใหญ่ โดยทางเราจะช่วยเหลือด้านวัตถุดิบและตลาดจำหน่ายในต่างประเทศอย่างเต็มที่ แต่การที่นักการเมืองอย่างนายมาทำธุรกิจแบบนี้มันจะมีอะไรบางอย่างที่ผิดจรรยาบรรณทางสังคมนานาชาติ ดังนั้นนายจึงต้องฉาบหน้าด้วยการทำให้เห็นว่านั่นเป็นกิจการของนายมะซะฮิโกะ คันดะ นักธุรกิจคนสำคัญ สำหรับการค้ำประกันเงินกู้นั้นเอาไว้ตอนนายได้เป็นนายกแล้วเราค่อยมาทำสัญญากู้ยืมกันเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งหมดนั้นคือข้อเสนอของทูตฟรังเก็น

เท็นโระกุดีใจมาก ก็คู่สนทนานำข้อเสนอที่ตนเองกำลังจะเอ่ยปากขออยู่พอดีมายื่นให้ถึงมืออย่างนั้นจะไม่ให้ดีใจได้อย่างไร เรารีบเรียกมะซะฮิโกะ คันดะมาฟังเรื่องราวทันที คันดะเป็นนักธุรกิจที่รับทำงานของรัฐคู่แข่งของโกะเฮ คะโนและอยู่กันคนละขั้วการเมือง คือเขาถือหางด้านเท็นโระกุ สึชิมะ ขณะที่คะโนรวมหัวกับนายกโยะชิกิ คะมิอิซุมิ พอเท็นโระกุนำเรื่องนี้มาปรึกษาคันดะยิ่งดีใจมากไปกว่าเจ้าตัวเสียอีก

อยู่มาไม่นานข้อตกลงลับของแต่ละฝ่ายที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กันนั้นก็เริ่มรั่วไหลเข้าไปถึงหูของบรรดานักการเมืองโดยไม่รู้ว่าจากฝ่ายไหน และแม้แต่ไคชูก็ยังรู้ไปด้วย

ในเมื่อ X กับ Z เป็นปฏิปักษ์กันเช่นนี้ พอฝ่ายหนึ่งหาเรื่องทะเลาะมีหรือที่อีกฝ่ายจะลดราวาศอก ที่รัฐบาลญี่ปุ่นคิดว่าประเทศ X จะอนุมัติเงินกู้ 5 ล้านปอนด์ให้ง่าย ๆ ตามคำขอนั้นพอเอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ใช่ X ปล่อยให้เรื่องรางคาราคาซังอยู่อย่างนั้นโดยไม่ให้คำตอบ จนทำให้มีการสันนิษฐานถึงสาเหตุกันไปต่าง ๆ นา ๆ วงสังคมซุบซิบกันว่า ทูตจาเมรอสของประเทศ X เกิดมีใจชอบพอโอะริเอะ ลูกสาวของโกะเฮ คะโน (ตอนนั้นอายุ 18 ปี) ขึ้นมาจึงไปบอกนายกโยะชิกิ คะมิอิซุมิเป็นนัย ๆ โยะชิกิกับโกะเฮจึงไปพูดจาหว่านล้อมโอะริเอะจนเหงื่อไหลไคลย้อยไปตาม ๆ กัน จนในสุดแทบจะต้องก้มลงกราบ แต่โอะริเอะบอก “มาพูดมะรืนนี้แล้วกัน” ด้วยกิริยาท่าทีไม่สมกับเป็นกุลสตรีที่จบจากกักคุชูอินเลยสักนิด
ถนนคะงุระซะกะ
เหตุผลที่แท้จริงดูเหมือนจะอยู่ที่ภาวะทางการเมืองภายในของ X ที่เหนื่อยล้าและอ่อนแรงที่จะตอบโต้กับ Z เต็มที แต่วงสังคมสมัยนั้นกลับโทษว่าเป็นเพราะโอะริเอะไม่ยอมตกลงปลงใจกับท่านทูตแล้วก็ลือกันไปอย่างสนุกปาก

เรื่องลับเฉพาะมีอยู่ว่า ผู้ใหญ่ทั้งสองคือโยะชิกิกับโกะเฮเห็นพ้องกันว่าการจะเกลี้ยกล่อมหญิงสาวให้ยอมตามใจตนนั้น บางครั้งก็ต้องอาศัยเทคนิคทางการทูตเข้าช่วยคือพยายามเข้าถึงด้วยเรื่องเบา ๆ แบบมโนสาเร่ วันหนึ่งท่านนายกจึงแสดงทีเด็ดด้วยการหยิบไม้ขีดไฟก้านหนึ่งออกมาอวดแล้วบอกว่าเป็นของแปลกจากเมืองนอกที่ท่านทูตจาเมรอสให้มา ไม้ขีดแบบนี้ขีดกับอะไรไฟก็ติดพรึ่มขึ้นมาทั้งนั้นไม่ต้องขีดข้างกล่องแบบของญี่ปุ่น ว่าแล้วก็ส่งก้านหนึ่งให้โอะริเอะ แล้วเอาอีกก้านหนึ่งขีดกับพื้นรองเท้าของตัวเองให้ดูว่าไฟติดพรึ่บขึ้นมาจริง ๆ

“ต๊าย แปลกจังเลย แต่เดี๋ยวนะคะ คุณลุงขา” โอะริเอะทำตาวาว ลุกขึ้นจากเก้าอี้ ปราดเข้าไปประชิดตัวท่านนายก จับหัวล้านของท่านผู้ใหญ่ที่กำลังตกตะลึงอยู่ไว้มั่นด้วยมือข้างหนึ่ง แล้วขีดไม้ขีดลงไปเต็มแรง แต่ไฟไม่ติดดังหวัง

“ว้า คุณลุงโกหกหนู” โอะริเอะร้องแล้วปาไม้ขีดทิ้ง โยะชิกิผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ล่ำลือกันไปทั่วว่านายกสายฟ้าผ่าคงต้องใช้ความอดทนสุดขีดจึงสามารถยิ้มร่าออกมาได้โดยไม่มีควันกรุ่นออกมาจากรอยขีดเป็นเส้นตรงพาดกลางกระหม่อม

ลือกันว่าการเจรจาต่อรองต้องหยุดชะงักลงตรงนั้นทั้ง ๆ ที่สำเร็จไปเก้าสิบเก้าเปอร์เซนต์แล้ว เพราะเกิดเหตุโกะเฮ คะโนถูกฆาตกรรม และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือถูกลอบฆ่าในงานลีลาศที่จัดขึ้นในคฤหาสน์ส่วนตัวของเขาเอง

การที่คนสำคัญอย่างโกะเฮ คะโนจัดงานลีลาศขึ้นในบ้านส่วนตัวนั้นอาจมองได้ว่ามีจุดประสงค์หลักอยู่ที่การเจรจาเงินกู้ซึ่งยังค้างคาอยู่ก็เป็นได้ เพราะตั้งแต่มีข่าวว่าทูตฟรังเก็นของประเทศ Z พูดคุยกับเท็นโระกุและคันดะ โกะเฮ คะโนดูกระวนกระวายอย่างเห็นได้ชัด วงสังคมซุบซิบกันว่าพ่อค้าใหญ่ผู้นี้แอบไปที่ห้องลูกสาวทุกคืน คุกเข่า อ้อนวอน จนแทบจะกราบ แต่คำตอบที่ได้ก็ยังคงเหมือนเดิม

“ฉันน่ะไม่ชอบไอ้งานลีลาศแบบมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างนี้เลยจริง ๆ” ไคชูพูดเชิงให้ร้ายงานสังคมลีลาศแต่ฟังแล้วเหมือนพยายามกลบเกลื่อนความกังวลที่ว่าปริศนาฆาตกรรมซ่อนเงื่อนรายนี้ดูเหมือนจะลึกลับสับสนเกินกว่าจะคลี่คลายได้ง่าย ๆ

“เรื่องมันแปลกตรงที่ว่าคนที่มาร่วมงานล้วนแต่มีเบื้องหลังกันทั้งนั้น จะว่าไปมันก็ไม่แปลกสักเท่าไหร่ที่เขาจะมาพบกันพร้อมหน้าแบบนั้น แต่ไอ้ที่มาพบกันในงานลีลาศในบ้านส่วนตัวของนายโกะเฮ คะโนน่ะซี มันทำให้เป็นเรื่องลึกลับซ่อนเงื่อน ฉันจะไม่วินิจฉัยรูปคดีละเพราะยังเร็วไป เดี๋ยวพ่อนักสืบเอกชินจูโรจะหัวเราะเอาได้ ไหนเอ็งลองเล่าเรื่องเท่าที่รู้ให้ข้าฟังทีรึ ใช้สมองขี้เลื่อยของเอ็งเรียบเรียงให้มันถูกขั้นตอนก่อนหลัง เข้าใจไหม”

“ขอรับ ขอบพระคุณใต้เท้ามากขอรับ”

โทะระโนะซุเกะไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงต้องมาขอบคุณเอาตรงนี้ เขาชะโงกตัวไปข้างหน้าด้วยความกระตือรือร้นที่จะเล่าเรื่องและรับฟังการสันนิษฐานรูปคดีของผู้ทรงปัญญา เพื่อที่จะได้เอาไปอวดภูมิเวลาถกกันกับนักสืบเอกชินจูโรหรืออิงงะ ฮะนะโนะยะอันเป็นเพทุบายที่เขาใช้มานานปี โทะระโนะซุเกะตั้งสติเรียบเรียงเรื่องราวด้วยสมองขี้เลื่อยของเขาแล้วเริ่มเราเรื่องราวไปตามขั้นตอนก่อนหลัง......
***

โปรดติดตามตอนต่อไป
** คะงุระซะกะ (Kagurasaka) เป็นย่านบันเทิงเริงรมย์แห่งแรกของเอโดะ (ชื่อเดิมของกรุงโตเกียว) ที่รุ่งเรืองขึ้นในช่วงที่โทะกุคะวะ อิเอะยะซุ ผู้นำรัฐบาลโชกุนย้ายเข้ามาตั้งศูนย์ปกครองประเทศอยู่ที่ปราสาทเอะโดะ ตอนปลายศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นการเริ่มสมัยเอโดะ (1603-1868) สมัยนั้นมีบ้านของนักรบตั้งอยู่เรียงรายสองฟากทางที่ตัดขึ้นไปยังคฤหาสน์ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่บนเนินสูงขึ้นไป ส่วนพื้นที่ด้านล่างยังคงความเป็นย่านบันเทิงที่ครึกครื้นมีชีวิตชีวาตลอดมาจนได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมบันเทิงแห่งหนึ่งของเอโดะ

ต่อมาในสมัยเมจิซึ่งเป็นช่วงที่เกิดเหตุฆาตกรรมชุดนี้ บ้านนักรบที่ทิ้งร้างอยู่ได้ถูกรื้อไปและตั้งแต่นั้นมาคะงุระซะกะได้กลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวเมือง บันไดสูงชันหลายช่วงถูกปรับให้เป็นทางลาดดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คะงุระซะกะนี้เองคือที่อยู่ของนักสืบหนุ่มรูปงามชินจูโร ยุกิ ผู้ใช้สติปัญญาเฉียบแหลมคลี่คลายปริศนายากเย็นซับซ้อนได้อย่างฉับพลัน ให้บรรดาสาวกอ้าปากค้างด้วยความทึ่งครั้งแล้วครั้งเล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น