รอยเตอร์/MGR Online - นิสสันประกาศเตรียมผลิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงเอทานอล เพื่อนำไปผลิตไฮโดรเจนในเครื่องยนต์ วางจำหน่ายในอีก 4 ปีข้างหน้า หักคู่แข่งที่ใช้ไฮโดรเจนโดยตรง แต่มีปัญหาต้นทุนแพง - ปั๊มยังมีน้อย ชี้ เอทานอลหาง่าย - ต้นทุนจัดเก็บถูก ตั้งเป้าเติมครั้งเดียววิ่งได้ 800 กม.
วานนี้ (14 มิ.ย.) นิสสัน มอเตอร์ ประกาศว่า ทางบริษัทกำลังพัฒนายานยนต์เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell vehicle) หรือ เอฟซีวี ที่ใช้เอทานอลเป็นแหล่งผลิตไฮโดรเจน ซึ่งจะทำให้นิสสันเป็นผู้บุกเบิกในด้านนี้ พร้อมระบุด้วยว่า วางแผนที่จะผลิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงเอทานอลในเชิงพาณิชย์ในปี 2563 หรือ ค.ศ. 2020 เพื่อตอบสนองต่อกระแสความต้องการยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด
ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น กล่าวต่อว่า รถยนต์ดังกล่าวจะใช้เชื้อเพลิงเอทานอลที่ผลิตจากพืชเช่น อ้อย และ ข้าวโพด เพื่อหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยอ้างว่าเซลล์เชื้อเพลิงเอทานอลดังกล่าวมีต้นทุนถูกกว่ารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงของคู่แข่ง คือ โตโยต้า ฮอนด้า และ ฮุนได
“ต้นทุนและพลังงานที่ต้องใช้ในการผลิตไฮโดรเจนอาจสูงมาก ทั้งยังต้องการการลงทุนอีกมากสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในการเติมและเก็บเชื้อเพลิง” ฮิเดยูกิ ซากาโมโตะ รองประธานบริหารของนิสสันกล่าวกับสื่อมวลชน และว่า “เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เอทานอลนั้นหาได้ง่ายมาก ทั้งยังง่ายที่จะจัดเก็บด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า เหล่านี้คือข้อดีของมัน”
นิสสัน กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีนี้พร้อมที่จะนำไปใช้ในรถยนต์ภายในปี 2563 ทั้งยังสามารถขยายไปใช้กับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้น เช่น รถตู้ส่งของ โดยนิสสันตั้งเป้าหมายไว้ว่ารถยนต์ต้องวิ่งได้ประมาณ 800 กิโลเมตรต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้ง ซึ่งจะเหนือกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบันที่โดยเฉลี่ยแล้ววิ่งได้ประมาณ 600 กิโลเมตรต่อการเติมน้ำมันหนึ่งครั้ง
ในส่วนของราคาค่าดูแลรักษา ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ระบุว่า รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงที่กำลังจะผลิตนั้นจะไม่ต่างจากรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในส่วนของราคาจำหน่าย
ปัจจุบันในประเทศกำลังพัฒนาใช้เชื้อเพลิงจากเอทานอลอย่างกว้างขวาง เช่น บราซิล รวมถึงประเทศไทย แต่เทคโนโลยีของนิสสันไม่ได้นำเอาเอทานอลมาขับเคลื่อนเครื่องยนต์แทนน้ำมัน แต่จะนำเอทานอลมาผลิตไฟฟ้าเพื่อประจุไฟให้กับแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายระดับชาติของรัฐบาลญี่ปุ่นที่วางแผนที่จะสร้าง “สังคมไฮโดรเจน” ที่จะลดการปล่อยมลพิษของบ้านพักอาศัยและรถยนต์ให้เหลือศูนย์ รวมถึงลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ด้วย
ทั้งนี้ โตโยต้าเปิดตัวและวางตลาดมิไร รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนไปตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่ฮอนด้าก็เพิ่งวางจำหน่ายรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง รุ่นคลาริตี้ เมื่อต้นปี 2559 ทว่า ทั้งโตโยต้าและฮอนด้ายังจำกัดการผลิตอยู่ด้วยข้อจำกัดเรื่องต้นทุนที่ยังสูง และโครงสร้างพื้นฐานของการเติมเชื้อเพลิง โดยนิสสันดึงข้อด้อยเหล่านี้มาแก้ไข เนื่องจากรถของนิสสันไม่จำเป็นต้องเก็บเชื้อเพลิงไฮโดรเจนไว้ภายในตัวถัง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องถังเก็บไฮโดรเจนที่มีราคาแพง ทั้งยังไม่ต้องรอการสร้างปั๊มเชื้อเพลิงแบบใหม่ ที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันด้วย