สนช.แจงกำหนดสวดพระอภิธรรม “สนช.สุธรรม” ก่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ ที่ใช้ควบคุมการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์และรังสี ให้เกิดความปลอดภัย ปรับชื่อร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ก่อนมีมติเห็นชอบให้ออกเป็น กม.
วันนี้ (19 พ.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธาน โดยได้แจ้งให้ทราบว่า นายสุธรรม พันธุศักดิ์ สนช.ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 18 พ.ค. โดยในวันนี้ (19 พ.ค.) เวลา 16.00 น. มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลา 4 วัดธาตุทอง ถนนเอกมัย กรุงเทพฯ และมีพิธีสวดพระอภิธรรม วันที่ 19-26 พ.ค. เวลา 19.00 น.(งดสวดวันวิสาขบูชา) และในวันที่ 23 พ.ค.สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเป็นเจ้าภาพพิธีสวดพระอภิธรรม จึงขอเชิญสมาชิกเข้าร่วมพิธีสวดอภิธรรมศพ
จากนั้นได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีจำนวน 152 มาตรา ไม่มีสมาชิกขอแก้ไขและสงวนความเห็น ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นร่าง พ.ร.บ.เพื่อควบคุมการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์และรังสีให้เกิดความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในทางสากลเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ และยังกำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำกับและดูแลการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์และรังสี
คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการเพิ่มเติมชื่อร่างจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ... เป็นร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ... และปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสม นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยังตั้งข้อสังเกตท้ายพระราชบัญญัติหลายประการ อาทิ กรณีบัญญัติไม่ใช้บังคับแก่ยานพาหนะทางทหารของต่างประเทศ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งอาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนยานพาหนะและมาตรการป้องกันอันตรายจากรังสีของยานพาหนะ จึงควรให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่างๆ เพื่อให้มีการควบคุมดูแลยานพาหนะทางทหารที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนการประกอบกิจการต่างๆ ตามพระราช บัญญัตินี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางนิวเคลียร์และรังสีแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการกำหนดความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวจึงควรให้มีกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายที่เกิดจากนิวเคลียร์และรังสีโดยเร็ว เพื่อกำหนดให้มีการประกันภัย การจัดตั้งกองทุน หรือการวางหลักประกันเพื่อชดเชยความเสียหาย เป็นต้น
ภายหลังการพิจารณาเสร็จสิ้นครบทุกมาตราแล้ว ที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อการแก้ไขของคณะกรรมาธิการและเห็นชอบในวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ... ด้วยคะแนน 144 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป พร้อมกับเห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ