xs
xsm
sm
md
lg

สนช.แจงคำถามพ่วง 11 พ.ค. แนะอย่าเข้มแสดงความเห็น-รื้อระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สุรชัย” เผย สนช.เตรียมลงพื้นที่แจงคำถามพ่วง เริ่ม 11 พ.ค.นี้ พร้อมแนะ กกต.ไม่ควรเข้มเรื่องการแสดงความเห็นจนเกินหลัก กม. หวั่นเกิดกระแสต่อต้าน เล็งทบทวน กม. รื้อระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หวังช่วยเหลือผู้ป่วยได้เร็วขึ้น หลังเกิดเสียงวิจารณ์การถึงแก่อนิจกรรมของ “บรรหาร” มั่นใจเสร็จทัน สนช.ชุดนี้

วันนี้ (3 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ (3 พ.ค.) จะมีความชัดเจนเรื่องการจัดสรรสมาชิกลงพื้นที่ทั้ง 9 กลุ่มจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนถึงคำถามพ่วงในการออกเสียงประชามติ โดยล่าสุดมีสมาชิกส่งรายชื่อเพื่อเป็นตัวแทนมากกว่า 100 คนแล้ว และจะประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อีกครั้ง ก่อนปูพรมลงพื้นที่พร้อมกันในวันที่ 11 พ.ค.นี้

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า ส่วนการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อการออกเสียงประชามตินั้น ขอเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยึดหลักใหญ่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการอออกเสียงประชามติ ในมาตรา 7 ที่ให้สิทธิเสรีภาพต่อประชาชน สามารถแสดงความเห็นได้โดยสุจริต และถูกต้องตามกฎหมาย โดย กกต.ไม่ควรเข้มงวดเกินไป หรือเน้นหลักกฎหมายมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านได้ หากยึดหลักเรื่องสิทธิเสรีภาพก็จะไม่เกิดการครอบงำ และการออกเสียงที่เกิดขึ้นจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่มีอิสระทางความคิด

นายสุรชัยยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบูรณาการประสานงานกรณีกู้ชีพ ร่วมกับภาคเอกชน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถานีวิทยุข่าวสารและการจราจร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ผู้จัดการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้จัดการมูลนิธิร่วมกตัญญู และผู้จัดการมูลนิธิสยามรวมใจ ว่าได้หารือถึงอุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อเตรียมพัฒนาการดำเนินงานของการกู้ชีพฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังเกิดเสียงวิจารณ์กรณีการถึงแก่อนิจกรรมของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เบื้องต้นจะเน้นแนวทางการแก้ปัญหา 2 ประเด็นหลัก คือ ปัญหาการเข้าไม่ถึงที่เกิดเหตุ และกรณีจากจุดเกิดเหตุไปยังสถานพยาบาลล่าช้า ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ประสานกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะที่จัดทำรายงานดังกล่าว ร่วมบูรณาการทำงานและปฏิรูปทั้งระบบ นอกจากนี้ ได้เตรียมทบทวนกฎหมาย 3 ฉบับได้แก่ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพื่อดูว่าจำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ รวมถึงดูข้อบังคับเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน สนช.ชุดนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น