ประชุมระบบการแพทย์ฉุกเฉินเขต กทม. เห็นชอบร่วมกัน 4 เรื่อง หวังพัฒนาระบบให้ดีขึ้น บริการรวดเร็วขึ้น ก่อนชง รมว.สธ. ชี้ปัญหา ปชช.โทร.โดยตรง ถึง รพ. ทำการรับส่งผู้ป่วยล่าช้า ย้ำ โทร. 1669 หรือ 1646
จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการรับส่งต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะเคส นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา และ อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการจี้ให้มีการพัฒนาระบบเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น
วันนี้ (2 พ.ค.) ได้มีการประชุมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ รศ.นพ. สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้แทนจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ
นพ.โสภณ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือเบื้องต้น โดยที่ประชุมได้เห็นด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1. ทำให้ระบบที่มีอยู่แล้วให้พัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันสายด่วนฉุกเฉินมีอยู่ 2 หมายเลข คือ สายด่วน สพฉ. 1669 และสายด่วนของศูนย์เอราวัณ 1646 หาก โทร.ไปหมายเลขใดก็จะมีการเชื่อมข้อมูลผ่านศูนย์สั่งการได้อย่างรวดเร็ว 2. พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะต้องไปถึงผู้ป่วยเวลาเฉลี่ย 10 นาที ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรในการอำนวยความสะดวก อาทิ การใช้แอปพลิเคชันในการบอกจุดเกิดเหตุ เป็นต้น 3. ตั้งคณะกรรมการดูแลมาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมี พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. ดูแล และ นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. และผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำงานพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
และ 4. พัฒนาระบบส่งต่อในพื้นที่ 9 โซนนิง ใน กทม. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว แต่พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น คือ รพ.ตำรวจ รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.ภูมิพล รพ.กลาง รพ.วชิรพยาบาล และ รพ.ตากสิน โดยเฉพาะการรับผู้ป่วยฉุกเฉินออกมาจากโรงพยาบาลเอกชนหลังเข้ารับการรักษาครบ 72 ชั่วโมงตามหลักเกณฑ์การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังจะการอบรมเทคนิคการซักอาการผู้ป่วยจากผู้ที่ โทร.เข้ามาแจ้งเหตุให้แล้วเสร็จภายใน 1 นาที เช่น ผู้ป่วยอยู่ตรงไหน หลังจากนั้น รอปล่อยรถฉุกเฉินออกไปรับอีก 1 นาที ถึงพื้นที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที โดยรวมแล้วจะต้องเข้าพื้นที่เพื่อรับผู้ป่วยไม่เกิน 10 นาที แต่ปัจจุบันมีปัญหาไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ทัน เพราะการจราจรติดขัด ดังนั้น ต้องมีการแก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งทั้งหมดจะเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข
ผู้สื่อข่าวถามว่า การ โทร.ไปแจ้งที่ รพ. โดยตรง อาจทำให้ล่าช้า จะแก้ปัญหาอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า 1. ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้อง โทร.ไปที่สายด่วน 1669 หรือสายด่วน 1646 เพราะเป็นศูนย์สั่งการกลางในการประสานไปยัง รพ. ที่ใกล้ที่สุดในการรับผู้ป่วย และ 2. ประชาชนที่ยังมีความเคยชินโทร.ไปยังโรงพยาบาลโดยตรง จะต้องมีการพัฒนาระบบที่ให้ รพ. ที่รับสายแรก หรือ โอเปอเรเตอร์สามารถซักประวัติเบื้องต้น สถานที่เกิดเหตุและประสานไปยังศูนย์สั่งการ คือ 1669 หรือ 1646 ได้ทันที โดยจุดนี้ทางคณะกรรมการร่วมระหว่าง สธ. และ กทม. จะมีการหารือและร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่ประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือด้วย เช่น การ โทร.1669 ให้เป็นระบบเดียวเพื่อลดขั้นตอน
นพ.พรเทพ กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศจะเป็นสายด่วน 1669 แต่หากโทร.ในพื้นที่ กทม. แม้จะ โทร.1669 ก็จะติดไปยังศูนย์เอราวัณ 1646 โดยอัตโนมัติ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการซักประวัติเบื้องต้น เพื่อให้ทราบพิกัด และอาการของผู้ป่วยไม่เกิน 1 นาที จากนั้นจะประเมินอาการ หากเป็นอาการขั้นพื้นฐาน จะส่งทีมกู้ชีพจากมูลนิธิต่าง ๆเข้าไปรับ แต่หากอาการรุนแรงมากขึ้นก็จะเป็นทีมของทางโรงพยาบาลไปรับผู้ป่วยทันที โดยหลังจากรถฉุกเฉินออกไปแล้วก็จะมีการประสานไปยังผู้ป่วยอีกที เพื่อสอบถามเส้นทางให้ชัดเจน ไม่ใช่ว่า โทร.ซ้ำหลายครั้งแล้วรถไม่ได้ออกเหมือนที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกัน ซึ่งตรงนี้เป็นมาตรฐานสากลในการปฏิบัติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับทราบพิกัดของผู้ป่วย แต่ยังไม่สำเร็จ ส่วนความล่าช้าของจราจรนั้น เบื้องต้นมีการเพิ่มจุดรถฉุกเฉินอยู่นอกโรงพยาบาลตามพื้นที่ต่าง ๆ อยู่แล้ว และขณะเดียวกัน ก็ยังรณรงค์ให้ประชาชนช่วยหลบทางให้รถฉุกเฉินด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่