“ราชบุรีฯ” หวนกลับไปทำดิว ดีลิเจนซ์โรงไฟฟ้า SUMSEL 5 ใหม่อีกครั้ง หลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วเสร็จ พร้อมจ่อยื่นประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 2 โครงการทั้ง JAVA3 - RIALที่อินโดนีเซีย
แหล่งข่าวจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมกลับเข้าไปตรวจสอบวิเคราะห์สถานะและทรัพย์สิน (Due Dilligence) ในโครงการโรงไฟฟ้า SUMSEL5 ประเทศอินโดนีเซียอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ได้หยุดการเจรจาไปชั่วคราวเนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 250-300 เมกะวัตต์ได้ล่าช้าออกไป แต่ล่าสุดโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้า SUMSEL 5จะมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 5 โรงใน 4 พื้นที่ กำลังการผลิตรวม 800-900 เมกะวัตต์ โดยมีเพียงโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่งแล้วเสร็จเพียง 1 โรงที่เหลือยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเจ้าของโครงการต้องการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนในโครงการดังกล่าว ทางราชบุรีฯ จะเจรจา 2 แนวทาง คือ การเข้าไปซื้อหุ้นในโครงการ SUMSEL 5 หรือการเจรจาร่วมทุนเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แล้วเสร็จเท่านั้น ทั้งนี้คงต้องรอผลการทำ Due Dilligence ใหม่ก่อน
บริษัทฯยังมีแผนเข้าไปประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเมือง RIAU ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาด 250 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น Medco Energi คาดว่าจะยื่นประมูลในเดือน มิ.ย.นี้ และจะประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกภายในครึ่งปีหลังนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจับมือกับบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัดเพื่อเข้าประมูลทำโครงการโรงไฟฟ้า JAVA 3 ที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงขนาด 800 เมกะวัตต์ที่อินโดนีเซียทันที เมื่อมีการเปิดให้ประมูล โดยโครงการนี้ทางบ้านปูและบริษัทจะถือหุ้นเท่ากันฝ่ายละ 40% ที่เหลือจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอินโดนีเซีย (PLN) หากชนะการประมูล หลังจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นประมูลโครงการ JAVA7 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2 พันเมกะวัตต์ แต่ไม่ได้รับคัดเลือกเนื่องจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เสนอไปสูงกว่าจีน
นายเหวินข่วน Assistant President ของ CGN และประธานกรรมการบริษัท ฟังเชงกัง นิวเคลียร์เพาเวอร์ จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 กำลังผลิต 2360เมกะวัตต์ที่กวางสี ประเทศจีน ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ HRP 1000 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรุ่นที่ 3 ที่ CGN พัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีแบบน้ำแรงดันสูง (PWR) ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเน้นระบบความปลอดภัยทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างรัดกุม
ความสำเร็จระหว่าง CGN และกลุ่มราชบุรีโฮลดิ้งครั้งนี้จะขยายสู่ความร่วมมือเพื่อแสวงหาโอกาสในการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาดในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีศักยภาพเติบโตด้านพลังงานสะอาดต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมทุน China General Nuclear Power Corporation (CGN) บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ชั้นนำ และ GIG บริษัทลงทุนชั้นนำของจีน พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 มูลค่าเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท โดยราชบุรีฯถือหุ้น 10 ขณะที่ CGN และ GIG ถือหุ้น 51% และ 39% ตามลำดับ