xs
xsm
sm
md
lg

แนะ “บิ๊กตู่” รับฟังข้อมูลคนริมโขงก่อนถกจีน-โวยปล่อยน้ำ “ผิดฤดูกาล” จับตาสร้างเขื่อนเพิ่มกระทบภูมิภาคซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง- ล้านนา
นักวิชาการแนะ “บิ๊กตู่” ส่งทหาร คสช.รับฟังข้อมูลจากปากชาวบ้านริมแม่น้ำโขง ก่อนบินจีนถกเวทีผู้นำกรอบน้ำโขง-ล้านช้าง ครั้งแรก 22 มี.ค.นี้ ด้านเอ็นจีโอโวยปริมาณน้ำที่เขื่อนจิงหงปล่อยเพิ่มสูง “ผิดฤดูกาล” สร้างความเสียหาย ปูด “ทุนจีน-ทุนไทย” เตรียมสร้างเขื่อนกั้นแม่โขงเพิ่ม จับตาเวทีผู้นำเสนอสร้าง “เขื่อนปากแบง” ในเขตเชียงรุ้ง ห่าง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย แค่ร้อยกว่ากิโลเมตร ชี้เป็นผลประโยชน์ของจีนโดยตรง กระทบภูมิภาคซ้ำ

วันนี้ (20 มี.ค.) มีรายงานว่า ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างที่ลงพื้นที่กำกับราชการที่ จ.อุดรธานี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ประเทศมหาอำนาจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนเขาแจ้งประเทศไทยประเทศเดียวว่าปล่อยน้ำมาให้ เพราะเราค่อนข้างมีสัมพันธ์ที่ดีกับเขา ไม่ใช่เป็นพวกอย่างที่ใครกล่าวหา แต่เราอิสระ เราต้องได้ประโยชน์จากทุกประเทศ จากความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง ได้ผลประโยชน์ที่เท่าเทียมตามหลักการรัฐบาล”

นายประยูร แสนแอ สมาชิกกลุ่มประมงพื้นบ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวถึงกรณีนี้โดยเฉพาะกรณีที่ทางการจีนประกาศจะปล่อยน้ำจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เมตร ทำให้น้ำท่วมพื้นที่หาดสำคัญในเขต อ.เชียงคาน คือ หาดไข่ และแก่งคุดคู้ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้น้ำในแม่น้ำโขงลดลงตามปกติของฤดูแล้ง คือน้ำแห้งจนเห็นก้อนหินและหาดทรายโผล่ขึ้นมา แต่เวลานี้น้ำขึ้นท่วมหาดจนมองเห็นเพียงต้นไคร้น้ำ 4-5 ต้นเท่านั้นโดยช่วงน้ำที่น้ำโขงลดระดับ ทำให้ไก หรือไค (สาหร่ายแม่น้ำโขง) เกิดออกมาตามหาดหิน แต่เมื่อน้ำในแม่น้ำโขงกลับเพิ่มขึ้นและไหลแรง ไกจึงหลุดออกมาติดแหและอวนของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ตนและเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงทราบข่าวจากโทรทัศน์ที่มีการรายงานข่าวเรื่องเขื่อนจีนระบายน้ำ และรู้สึกกังวลแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ทราบจากข่าวว่าจีนจะเปิดน้ำถึงวันที่ 10 เมษายน ตอนนี้ก็เริ่มฤดูกาลหาปลาในแม่น้ำโขง เฉพาะบ้านเหนือ อ.เชียงคาน ก็มีคนหาปลาประมาณ 50 คน ซึ่งกำลังลำบากกับการหาปลาช่วงนี้เพราะน้ำโขงเพิ่มระดับขึ้นอย่างกะทันหัน ตนอยากให้แม่น้ำโขงได้ไหลตามสภาพธรรมชาติแบบเดิมมากกว่า

“พวกเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ยอมรับกันไป แม้น้ำโขงจะเพิ่มขึ้นมากกลางหน้าแล้งแบบนี้ เราก็ยังต้องหาปลาเช่นเดิม ผมได้ยินว่าจะมีเขื่อนสานะคาม ที่สร้างกั้นน้ำโขงเป็นแห่งที่ 4 ใกล้ๆ อ.เชียงคาน เชียงคาน คิดว่าอนาคตน่าจะลำบาก เพราะแม่น้ำโขงมีเขื่อนเต็มไปหมด” นายประยูรกล่าว

มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน (คสข.) ได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนหาดแห่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พบว่าชาวบ้านต่างวิตกกังวลกรณีที่น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติซึ่งเกิดขึ้นในฤดูแล้งหลายปีที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้นคือหาดทรายหายไป ร่องน้ำเปลี่ยน พื้นที่ริมโขงหายไป พื้นที่ปลูกผักริมโขงลดลง และกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชน

รายงานภาคสนามของ คสข.ระบุว่า กรณีที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำในปริมาณ 2,100 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะทำให้น้ำโขงขึ้นมาหาดทรายซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของท้องถิ่น ทำให้การลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวสูงขึ้น ร้านค้าริมหาดได้รวมกันทำสะพานเชื่อมจากชายฝั่งไปยังร้านค้าบนหาดทรายซึ่งต้องออกแบบความสูง ความแข็งแรงทนทาน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ในขณะที่ผู้นำท้องถิ่นก็ขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนครั้งนี้

คสข.ยังระบุด้วยว่า เจ้าของร้านค้าชายหาดแจ้งว่าราว 5 ปีที่แล้วสามารถตั้งร้านที่หาดแห่ได้ ตั้งแต่ก่อนช่วงปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งที่น้ำโขงค่อยๆ ลดระดับลง หาดแห่จะอยู่จนถึงช่วงหลังสงกรานต์ จนเมื่อถึงฤดูฝนก็จะจมไปเมื่อน้ำโขงเพิ่มระดับตามฤดูกาล ชาวบ้านแถบนี้มีรายได้จากการขายอาหารเครื่องดื่ม ในเทศกาลท่องเที่ยวหน้าแล้งราว 5-6 เดือน (ธันวาคม-เมษายน) ประมาณ 5 แสนถึง 1 ล้านบาทต่อ 1 ร้านค้า หรือเฉลี่ยเดือนละเกือบแสนบาท แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาน้ำโขงเปลี่ยนแปลงมาก ระดับน้ำขึ้นลงไม่ตามฤดูกาล

เจ้าของร้านค้ารายหนึ่งกล่าวว่า เพิ่งลงตั้งร้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากน้ำโขงเพิ่งลดระดับ แต่พอรู้ข่าวการปล่อยน้ำของจีนอีกระลอกจนถึงเดือนเมษายน สร้างความวิตกกังวลอย่างมาก

“เราเคยวางแผนกันได้ว่า หน้าแล้ง หน้าฝน จะทำอะไร คำนวณราคาสินค้าที่ขายกันได้ว่าจะขายราคาเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ ตอนนี้ออกแบบวางแผนไม่ได้เลย ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างก็บ่นว่า หาที่เที่ยวเล่นน้ำริมโขงช่วงสงกรานต์ได้ยาก แก่งกระเบา จ.มุกดาหาร ก็แทบร้าง พวกเขารู้สึกว่าแม่น้ำโขงไม่ปลอดภัย น้ำขุ่น ไม่ใส ไม่น่าเล่น และราคาอาหารเครื่องดื่มก็ราคาแพง เพราะพ่อค้าแม่ค้าต้องลงทุนมากขึ้น ช่วงเวลาในการขายสินค้าน้อยลง เดือดร้อนไปตามๆ กัน” เจ้าของร้านอาหารรายนี้ระบุ

ด้าน ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ที่จีนได้พยายามเป็นผู้นำนั้นคือการพยายามยึดกุมการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของ ภูมิภาคนี้โดยเบ็ดเสร็จ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยมียูนนานเป็นประตู และใช้เขตปกครองตนเองมณฑลกวางสีเป็นประตูสู่อาเซียน ซึ่งการสร้างกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงโดยการนำของจีน เป็นไปตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่ให้เกิดการสะสมทุน

ดร.ไชยณรงค์กล่าวว่า การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม ที่ประเทศจีนนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่ก็คงไม่พ้นที่จะไปเพื่อผลักดันให้ทุนได้ทำงานได้ง่าย ขึ้น และคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มทุน และนายทุนเท่านั้น คนที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือชาวบ้าน ยกตัวอย่างการที่จีนได้พยายามสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จเรื่องการจัดการแม่น้ำโขง ด้วยการสร้างเขื่อนต้นแม่น้ำโขง และปล่อยน้ำออกมาช่วงหน้าแล้งอย่างที่เป็นข่าวกระแสดังอยู่ตอนนี้ การปล่อยน้ำช่วงหน้าแล้งทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่แปลงเกษตรริมโขงของชาวบ้าน ท่วมไกหรือสาหร่ายของแม่น้ำโขง การกระทำนี้ถือว่าจีนได้ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จไปแล้ว ปัญหาเรื่องการจัดการแม่น้ำโขงมันอยู่ที่ ชนชั้นนำในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างไม่ได้แยแส และสำนึกปัญหาอันใหญ่หลวงของประชาชนอย่างแท้จริง

“การไปประชุมที่ประเทศจีนในครั้งนี้ ก่อนไปผู้นำควรที่จะไปรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้านริมโขงทั้ง 8 จังหวัดบ้าง ควรจะไปฟังความทุกข์ยาก ความคิดและความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านในการจัดการแม่น้ำโขงอย่างไร นี่ถือเป็นหลักธรรมาภิบาลสำคัญในการบริหารจัดการแม่น้ำโขง และเห็นว่าการประชุมครั้งนี้มีใจความสำคัญว่าจะความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ ยั่งยืน ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาความร่วมมือต่างๆที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นไปตามหลัก การการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ประสบการณ์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมามีแต่ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจ และทำลายระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประชาชนลุ่มน้ำโขง” ดร.ไชยณรงค์กล่าว

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง- ล้านนา จ.เชียงราย กล่าวว่า การที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำลงมาในครั้งนี้ถือเป็นผลประโยชน์ของจีน โดยตรง เพราะเขื่อนได้ทั้งปั่นไฟฟ้า และระบายน้ำให้เรือจีนล่องลงมาค้าขายที่เชียงแสน เห็นชัดเจนแล้วว่าเวลานี้จีนสามารถใช้เขื่อน 6 แห่งควบคุมแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลประเทศท้ายน้ำยังอาจห่วงผลประโยชน์อื่นๆ จากประเทศจีน ยังคิดว่าจีนใจดี ไม่คิดบ้างว่าความเสียหายที่เกิดแก่ท้องถิ่นและประชาชนนั้นก็ความเสียหาย ที่สำคัญเช่นกันคือการที่แม่น้ำโขงขึ้นท่วมกลางหน้าแล้งแบบนี้สิ่งที่เกิดคือผลกระทบต่อระบบ นิเวศ ซึ่งกระทบถึงวิถีชีวิตท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับแม่น้ำโขง สิทธิของชุมชนถูกริดรอนไปจนหมดสิ้น

“ตอนนี้ยังมีการเริ่มเตรียมการก่อสร้างเขื่อนปากแบง โดยบริษัทจีนและไทยจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงที่ท้ายน้ำจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงราวร้อยกิโลเมตร เท่ากับว่าแม่น้ำโขงของประเทศไทย บริเวณ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น ต้องกลายเป็นพื้นที่ระหว่าง 2 เขื่อน คือ เขื่อนปากแบง และเขื่อนจิงหง ที่เชียงรุ้ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประชานแถบนี้ใครจะบอกได้บ้าง ผมไม่แน่ใจว่าการที่จีนปล่อยน้ำอ้างแก้ปัญหาภัยแล้งครั้งนี้ พร้อมกับป่าวประกาศถึงผลดีของการสร้างเขื่อน เป็นเพราะเหตุที่ต้องการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นในแม่น้ำโขงหรือไม่” นายสมเกียรติกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น