“สศอ.” ถกค่ายรถยนต์ 9 รายระดมความเห็นแนวทางการผลักดันไทยศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า เบื้องต้นยังมีอุปสรรคอีกเพียบ ทั้งมีราคาแพง แบตเตอรี่ยังใช้ไม่นาน ตลาดต้องการน้อยผลิตยังไม่คุ้มทุน หากส่งเสริมต้องเป็นแพกเกจ
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จาก การหารือกับผู้ผลิตรถยนต์แล้วจำนวน 9 ราย ได้แก่ เอ็มจี, มิตซูบิชิ, อีซูซุ, โตโยต้า, นิสสัน, มาสด้า, ฟอร์ด, ซูซูกิ, ฮอนด้า ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายมีความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เช่น รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicles) รถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Vehicles) รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) และรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Vehicles) ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น รถยนต์มีราคาแพง ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการใช้งาน และตลาดยังมีความต้องการน้อยจึงไม่สามารถผลิตในระดับ Economy of Scale ได้
“ก่อนหน้านี้ค่ายรถอีซูซุ, โตโยต้า, นิสสัน และฮอนด้า ได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฮบริดและรถไฟฟ้า ในการประชุมหารือ Prime Minister Meets CEOs ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ร่วมกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อมานางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ก็มอบให้ สศอ.มาหารือกับค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งหมด ซึ่งก็ได้หารือแล้วและที่เหลือก็จะหารือเพิ่มเติมและนำข้อคิดเห็นเสนอนำไปวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย และนำเสนอต่อ รมว.อุตสาหกรรมและนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป” นายศิริรุจกล่าว
สำหรับแนวทางการส่งเสริมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเป็นการลงทุนแบบ Package คือ มีการลงทุนประกอบรถยนต์ และผลิตชิ้นส่วนหลัก เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ควบคู่กันไป ซึ่งภาครัฐจะต้องพิจารณาแนวทางการส่งเสริมอย่างรอบคอบ เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย
นอกจากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจะมีข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าประสบความสำเร็จในประเทศไทย ได้แก่ การจัดเตรียมแหล่งพลังงานไฟฟ้าและระบบการจัดการส่งไฟฟ้าที่เหมาะสม สถานีชาร์จไฟด่วนและหัวชาร์จไฟฟ้าที่มีมาตรฐาน รวมทั้งแนวทางการกำจัดซากแบตเตอรี่ที่ชัดเจนอีกด้วย